Go to full page →

บท 25 - พระบัญญัติของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ GCth17 373

“พระวิหารของพระเจ้าในสวรรค์ก็เปิดออก และหีบพันธสัญญาของพระองค์ก็ปรากฏในพระวิหารนั้น” วิวรณ์ 11:19 หีบพันธสัญญาของพระเจ้าอยู่ในอภิสุทธิสถานซึ่งเป็นห้องที่สองของสถานนมัสการ ในการประกอบพิธีของพลับพลาบนโลกซึ่ง “เป็นแต่แบบจำลองและเงาของสิ่งที่อยู่ในสวรรค์” ฮีบรู 8:5 นั้น ห้องอภิสุทธิสถานนี้จะถูกเปิดออกเฉพาะในวันยิ่งใหญ่แห่งการลบมลทินบาปเท่านั้นเพื่อชำระสถานนมัสการ ด้วยเหตุนี้ การประกาศว่าพระวิหารของพระเจ้าในสวรรค์เปิดออกและมองเห็นหีบพันธสัญญาของพระองค์จึงชี้บอกให้ทราบว่า อภิสุทธิสถานของสถานนมัสการในสวรรค์ถูกเปิดออกในปี ค.ศ. 1844 ในขณะที่พระคริสต์เสด็จเข้าไปในนั้นเพื่อปฏิบัติพระราชกิจของการลบมลทินบาปให้เสร็จสิ้น บรรดาผู้ที่ติดตามมหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่ของเขาเข้าไปด้วยความเชื่อในขณะที่พระองค์เสด็จเข้าไปปฏิบัติพระราชกิจของพระองค์ในอภิสุทธิสถานจะมองเห็นหีบพันธสัญญา ในขณะที่พวกเขาศึกษาหัวข้อเรื่องสถานนมัสการ พวกเขาจึงได้มาถึงจุดที่เข้าใจถึงการเปลี่ยนพระราชกิจของพระผู้ช่วยให้รอด และพวกเขาได้มองเห็นว่าบัดนี้พระองค์ทรงปฏิบัติกิจอยู่เบื้องหน้าหีบของพระเจ้า กำลังทรงวิงวอนเพื่อคนบาปทั้งหลายด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง {GC 433.1} GCth17 373.1

หีบที่อยู่ในพลับพลาบนโลกมีศิลาสองแผ่นจารึกคำสั่งของธรรมบัญญัติของพระเจ้า หีบเป็นแต่เพียงภาชนะรองรับแผ่นพระบัญญัติ และการที่มีธรรมบัญญัติของพระเจ้าปรากฏอยู่ทำให้หีบนี้มีคุณค่าและศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระวิหารของพระเจ้าในสวรรค์เปิดออกจึงทำให้มองเห็นหีบพันธสัญญาของพระองค์ ภายในอภิสุทธิสถานของสถานนมัสการบนสวรรค์ พระบัญญัติของพระเจ้าได้รับการเชิดชูขึ้นไว้อย่างศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระบัญญัติที่พระเจ้าตรัสไว้เองท่ามกลางเสียงฟ้าร้องที่ภูเขาซีนายและทรงจารึกไว้ลงบนแผ่นศิลาด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์เอง {GC 433.2} GCth17 373.2

พระบัญญัติของพระเจ้าภายในสถานนมัสการในสวรรค์เป็นต้นฉบับที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมีบัญญัติที่จารึกไว้บนแผ่นศิลาและที่โมเสสบันทึกไว้ในหนังสือพระคัมภีร์ 5 เล่มแรกเป็นสำเนาที่ไม่ผิดเพี้ยน ผู้ที่เข้าถึงสาระสำคัญนี้จึงจะมองเห็นลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของธรรมบัญญัติของพระเจ้า พวกเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้อย่างที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนถึงความสำคัญของพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดที่ตรัสไว้ว่า “จนกว่าฟ้าและดินจะล่วงไป แม้อักษรที่เล็กที่สุด หรือขีด ขีดหนึ่ง ก็จะไม่มีวันสูญไปจากธรรมบัญญัติ” มัทธิว 5:18 พระบัญญัติของพระเจ้าซึ่งเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์และเป็นสำเนาพระลักษณะของพระองค์จะต้องดำรงอยู่เป็นนิตย์ เพื่อเป็น “สักขีพยานอันสัตย์ซื่อในท้องฟ้า” สดุดี 89:37 TKJV ไม่มีพระบัญญัติข้อใดที่ถูกยกเลิกไป ไม่มีอักษรตัวหนึ่งหรือขีด ขีดหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประพันธ์สดุดีกล่าวไว้ว่า “พระวจนะของพระองค์ตั้งมั่นคงในสวรรค์” “ข้อบังคับทั้งสิ้นของพระองค์ก็ไว้ใจได้ ข้อบังคับเหล่านั้นได้ทรงสถาปนาไว้เป็นนิตย์นิรันดร์” สดุดี 119:89; 111:7, 8 {GC 434.1} GCth17 374.1

ตรงใจกลางของพระบัญญัติสิบประการคือพระบัญญัติข้อที่สี่ตามที่ประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่า “จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ จงทำงานทั้งสิ้นของเจ้าหกวัน แต่วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นห้ามทำงานใดๆ ไม่ว่าเจ้าเอง หรือบุตรชายบุตรหญิงของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือสัตว์ใช้งานของเจ้า หรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประตูเมืองของเจ้า เพราะในหกวันพระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก เพราะฉะนั้นพระยาห์เวห์ทรงอวยพรวันสะบาโต และทรงตั้งวันนั้นไว้เป็นวันบริสุทธิ์” อพยพ 20:8-11 {GC 434.2} GCth17 374.2

พระวิญญาณของพระเจ้าทรงดลบันดาลนักศึกษาพระคำของพระองค์ให้เกิดความประทับใจ ทำให้พวกเขาสำนึกว่าได้ล่วงละเมิดบัญญัติข้อนี้อย่างไม่รู้ตัวด้วยการละเลยวันพักผ่อนของพระผู้สร้าง พวกเขาเริ่มตรวจสอบหาเหตุผลต่างๆ ของการถือรักษาวันที่หนึ่งของสัปดาห์แทนวันที่พระเจ้าทรงตั้งไว้ให้เป็นวันบริสุทธิ์ พวกเขาไม่พบหลักฐานในพระคัมภีร์ที่กล่าว่าพระบัญญัติข้อที่สี่ถูกลบล้างไปหรือวันสะบาโตเปลี่ยนแปลงไป พระพรที่ทรงตั้งให้วันที่เจ็ดเป็นวันบริสุทธิ์ตั้งแต่แรกนั้นยังไม่เคยถูกยกเลิกไป พวกเขาตั้งใจแสวงหาเพื่อเรียนรู้และทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าด้วยความจริงใจ บัดนี้เมื่อพวกเขามองเห็นว่าตนเองล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระองค์ จิตใจของพวกเขาจึงเต็มล้นด้วยความโศกเศร้า และเพื่อแสดงความภักดีต่อพระองค์ พวกเขาจึงถือรักษาวันสะบาโตของพระเจ้าให้บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ {GC 434.3} GCth17 374.3

พวกเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากและอย่างจริงใจเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตน ไม่มีใครจะมองไม่เห็นว่าหากสถานนมัสการบนโลกนี้เป็นภาพเหมือนหรือสำเนาของสถานนมัสการบนสวรรค์ ธรรมบัญญัติที่อยู่ในหีบบนโลกก็เป็นสำเนาที่ถูกต้องแม่นยำของพระบัญญัติในหีบของสวรรค์ด้วย และการยอมรับความจริงเรื่องสถานนมัสการในสวรรค์ก็มีความสัมพันธ์กับการยอมรับข้อกำหนดต่างๆ ในพระบัญญัติของพระเจ้ารวมถึงหน้าที่ที่เขามีต่อวันสะบาโตของพระบัญญัติข้อที่สี่ นี่คือความลับของการต่อต้านอย่างขมขื่นและมุ่งมั่นที่มีต่อการอธิบายอย่างสอดคล้องกันของพระคัมภีร์ที่เผยถึงพระราชกิจของพระคริสต์ในสถานนมัสการบนสวรรค์ มนุษย์หาทางปิดประตูที่พระเจ้าทรงเปิดไว้และเปิดประตูที่พระองค์ทรงปิดไปแล้ว แต่พระองค์ “ผู้ทรงเปิดแล้วจะไม่มีใครปิดได้ ผู้ทรงปิดแล้วจะไม่มีใครเปิดได้” ตรัสว่า “เรารู้จักความประพฤติของเจ้า นี่แน่ะ เราจัดวางประตูที่เปิดไว้ตรงหน้าพวกเจ้า ประตูนี้ไม่มีใครปิดได้” วิวรณ์ 3:7, 8 พระคริสต์ทรงเปิดประตูหรืออีกนัยหนึ่งทรงประกอบพิธีของอภิสุทธิสถานแล้ว แสงสว่างกำลังส่องออกมาจากประตูบานนั้นที่เปิดอยู่ของสถานนมัสการในสวรรค์และเปิดให้เห็นถึงพระบัญญัติข้อที่สี่ว่ายังเป็นส่วนหนึ่งในธรรมบัญญัติที่บรรจุอยู่ในอภิสุทธิสถานนั้น สิ่งที่พระเจ้าทรงสถาปนาไว้แล้ว ไม่มีมนุษย์คนใดจะทำให้ล้มคว่ำลงไปได้ {GC 435.1} GCth17 375.1

ผู้ที่ยอมรับแสงสว่างเรื่องของการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของพระคริสต์และความยั่งยืนยงของธรรมบัญญัติของพระเจ้าจะพบว่าสิ่งเหล่านี้คือความจริงที่พระธรรมวิวรณ์บทที่ 14 บันทึกไว้ ข่าวสารต่างๆ ในบทนี้ประกอบด้วยคำเตือนสามประการ (โปรดดูภาคผนวก) เพื่อตระเตรียมผู้ที่อาศัยอยู่ในโลกให้พร้อมสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สองขององค์พระผู้เป็นเจ้า คำประกาศที่ว่า “ถึงเวลาที่พระองค์จะทรงพิพากษา” ชี้ไปยังพระราชกิจช่วงปิดท้ายของพระคริสต์เพื่อความรอดของมนุษย์ เป็นการประกาศข่าวแห่งความจริงที่จะต้องเผยแพร่จวบจนกระทั่งการอุทธรณ์ของพระผู้ช่วยให้รอดจะยุติลง และพระองค์จะเสด็จกลับมายังโลกเพื่อรับคนทั้งหลายให้ไปอยู่กับพระองค์ การพิพากษาที่เริ่มขึ้นในปี ค. ศ. 1844 จะต้องดำเนินต่อไปจนกระทั่งคดีทุกรายของทั้งคนที่ยังมีชีวิตและของคนที่ตายไปแล้วจะถูกตัดสิน ดังนั้นการพิจารณานี้จึงจะดำเนินต่อไปจนถึงเวลาที่ประตูแห่งพระกรุณาธิคุณของมนุษย์จะปิดลง ในการเตรียมมนุษย์ให้พร้อมเพื่อที่จะยืนขึ้นในวันพิพากษาได้นั้น ข่าวสารนี้บัญชาพวกเขาให้ “เกรงกลัวพระเจ้า และถวายพระเกียรติแด่พระองค์” “จงนมัสการพระองค์ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ แผ่นดินโลก ทะเล และบ่อน้ำพุทั้งหลาย” ผลของการรับข่าวสารเหล่านี้ได้ถูกบรรยายไว้ด้วยถ้อยคำที่ว่า นี่แหละ “คือพวกที่ถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า และจงรักภักดีต่อพระเยซู” ในการที่จะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการพิพากษา มนุษย์จำเป็นต้องถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า พระบัญญัติฉบับนั้นจะเป็นมาตรฐานของอุปนิสัยสำหรับการพิพากษา อัครทูตเปาโลประกาศว่า “พวกที่มีธรรมบัญญัติและทำบาป ก็จะต้องถูกพิพากษาตามธรรมบัญญัติ.....ในวันที่พระเจ้าทรงพิพากษาความลับของมนุษย์โดยพระเยซูคริสต์” และเขายังบอกต่อไปอีกว่า “คนที่ประพฤติตามธรรมบัญญัติต่างหากที่พระเจ้าทรงถือว่าเป็นผู้ชอบธรรม” โรม 2:12-16 ในการที่จะถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าได้นั้นจำเป็นต้องมีความเชื่อ เพราะเมื่อ “ไม่มีความเชื่อแล้วจะไม่เป็นที่พอพระทัยเลย” และ “การกระทำใดๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความเชื่อก็เป็นบาปทั้งสิ้น” ฮีบรู 11:6 โรม 14:23 {GC 435.2} GCth17 375.2

ทูตสวรรค์องค์ที่หนึ่งประกาศเรียกให้มนุษย์ “เกรงกลัวพระเจ้า และถวายพระเกียรติแด่พระองค์” และให้ “นมัสการพระองค์ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ แผ่นดินโลก” การจะปฏิบัติได้ตามนี้ พวกเขาจะต้องเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ นักปราชญ์กล่าวไว้ว่า “จงยำเกรงพระเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เพราะนี่แหละเป็นหน้าที่ทั้งสิ้นของมนุษย์” ปัญญาจารย์ 12:13 TKJV เมื่อปราศจากการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าแล้ว ไม่มีการนมัสการใดที่พระเจ้าจะทรงพอพระทัย “เพราะว่าความรักต่อพระเจ้าเป็นอย่างนี้ คือเมื่อเราประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์” “ผู้ใดไม่ฟังธรรมบัญญัติ แม้คำอธิษฐานของเขาก็เป็นที่น่าสะอิดสะเอียน” 1 ยอห์น 5:3 สุภาษิต 28:9 {GC 436.1} GCth17 376.1

หน้าที่ในการนมัสการพระเจ้าวางอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและสิ่งมีชีวิตทั้งปวงเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะพระองค์ และไม่ว่าที่ใดในพระคัมภีร์เมื่อพระองค์ทรงอ้างสิทธิของพระองค์ให้มนุษย์ถวายความเคารพและนมัสการเหนือพระทั้งปวงของคนต่างชาติแล้ว จะมีหลักฐานอ้างถึงอำนาจแห่งการทรงสร้างของพระองค์ร่วมด้วย “พระทั้งปวงของชนชาติทั้งหลายเป็นรูปเคารพ แต่พระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์” สดุดี 96:5 “องค์บริสุทธิ์ตรัสว่า ‘พวกเจ้าจะเปรียบเรากับผู้ใด และมีใครที่เสมอเหมือนเรา จงเงยตาของพวกท่านขึ้น ใครสร้างสิ่งเหล่านี้’” “พระยาห์เวห์ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ (พระองค์คือพระเจ้า) ผู้ทรงปั้นแผ่นดินโลกและทำมันไว้.....ตรัสดังนี้ว่า เราคือยาห์เวห์และไม่มีอื่นอีก” อิสยาห์ 40:25, 26; 45:18 ผู้ประพันธ์สดุดีตรัสว่า “จงรู้เถิดว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้า คือพระองค์เองที่ทรงสร้างเราทั้งหลาย และเราก็เป็นของพระองค์” “มาเถิด ให้เรานมัสการและกราบลง ให้เราคุกเข่าลงเฉพาะพระพักตร์ของพระยาห์เวห์ผู้ทรงสร้างเรา” สดุดี 100:3; 95:6 และชาวสวรรค์ผู้บริสุทธิ์ที่นมัสการพระเจ้าบอกเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงถวายนมัสการพระองค์ “องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์ทรงสมควรที่จะได้รับพระสิริ พระเกียรติและฤทธานุภาพ เพราะว่าพระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง” วิวรณ์ 4:11 {GC 436.2} GCth17 376.2

ในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 14 มนุษย์ถูกร้องเรียกให้กราบนมัสการพระผู้สร้าง และคำเผยพระวจนะนี้ทำให้มองเห็นถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าอันเนื่องมาจากผลของการประกาศข่าวสารสามประการนี้ หนึ่งในพระบัญญัติเหล่านี้เน้นอย่างเฉพาะเจาะจงไปยังพระเจ้าว่าทรงเป็นพระผู้สร้าง พระบัญญัติข้อที่สี่ประกาศว่า “วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า.....เพราะในหกวันพระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก เพราะฉะนั้นพระยาห์เวห์ทรงอวยพรวันสะบาโต และทรงตั้งวันนั้นไว้เป็นวันบริสุทธิ์” อพยพ 20:10, 11 พระยาห์เวห์ยังตรัสต่อไปอีกถึงเรื่องของวันสะบาโตไว้ว่า วันนั้น “เป็นหมายสำคัญ.....เพื่อเจ้าจะทราบว่าเราคือยาห์เวห์เป็นพระเจ้าของเจ้า” เอเสเคียล 20:20 และพระองค์ทรงให้เหตุผลว่า “ในหกวันพระยาห์เวห์ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก แต่ในวันที่เจ็ดทรงหยุดพัก และหย่อนพระทัย” อพยพ 31:17 {GC 437.1} GCth17 376.3

“ความสำคัญของวันสะบาโตในการเป็นอนุสรณ์ของการสร้างโลกนั้นก็เพื่อคงรักษาเหตุผลที่แท้จริงตลอดไปว่าทำไมถึงต้องถวายการนมัสการแด่พระเจ้า” นั่นคือเพราะว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและเราเป็นผู้ที่พระองค์ทรงสร้าง “ด้วยเหตุนี้ วันสะบาโตจึงเป็นรากฐานเดียวที่แท้จริงของการนมัสการพระเจ้า เพราะวันสะบาโตสอนความจริงยิ่งใหญ่ด้วยวิธีการที่ประทับใจที่สุดและไม่มีคำสอนอื่นใดที่ทำได้เช่นนี้ รากฐานแท้จริงของการนมัสการพระเจ้าไม่ใช่จะต้องเป็นวันที่เจ็ดเท่านั้น แต่การนมัสการทั้งหมดนั้นวางอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างพระเจ้าพระผู้สร้างและสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง ความจริงยิ่งใหญ่นี้จะไม่มีวันล้าสมัยและลืมไม่ได้เป็นอันขาด” J.N. Andrews, History of the Sabbath บทที่ 27 พระเจ้าทรงสถาปนาวันสะบาโตไว้ในสวนเอเดนเพื่อให้สมองของมนุษย์จดจำความจริงของเรื่องนี้ตลอดไป และนานตราบเท่าที่ความจริงที่ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างของเราเป็นเหตุผลที่เราต้องนมัสการพระองค์ต่อไป ตราบนานเท่านั้นวันสะบาโตก็จะยังคงเป็นเครื่องหมายและอนุสรณ์ของความจริงนั้น หากทั่วทั้งจักรวาลถือรักษาวันสะบาโตแล้ว ความคิดและความรู้สึกของมนุษย์จะถูกนำพาไปยังพระผู้สร้างในฐานะที่ทรงเป็นศูนย์รวมของความเคารพและการนมัสการ และจะไม่มีคนกราบไหว้รูปเคารพ คนไม่เชื่อพระเจ้า หรือคนนอกศาสนา การถือรักษาวันสะบาโตจะเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ “ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ แผ่นดินโลก ทะเลและบ่อน้ำพุทั้งหลาย” ข่าวสารที่บัญชาให้มนุษย์นมัสการพระเจ้าและถือรักษาพระบัญญัติของพระองค์นั้นจะเรียกเชิญเป็นพิเศษให้ถือรักษาพระบัญญัติข้อที่สี่ {GC 437.2} GCth17 377.1

ผู้ที่ประพฤติตามพระบัญญัติของพระเจ้าและดำเนินตามความเชื่อของพระเยซูจะแตกต่างจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำผิด และถูกทูตสวรรค์องค์ที่สามเตือนด้วยถ้อยคำที่เคร่งขรึมและน่ากลัวว่า “ถ้าใครบูชาสัตว์ร้ายและรูปของมัน และรับเครื่องหมายของมันไว้ที่หน้าผากหรือที่มือของเขา คนนั้นจะต้องดื่มเหล้าองุ่นแห่งความกริ้วของพระเจ้า” วิวรณ์ 14:9, 10 การจะเข้าใจข่าวสารเรื่องนี้ได้นั้นจำเป็นต้องแปลความหมายของสัญลักษณ์เหล่านี้ให้ถูกต้อง สัตว์ร้าย รูปของมันและเครื่องหมายของมันหมายถึงอะไร {GC 438.1} GCth17 377.2

คำพยากรณ์เรื่องนี้และการใช้สัญลักษณ์เหล่านี้มีอยู่ในพระธรรมวิวรณ์ เริ่มจากบทที่ 12 เมื่อพญานาคคอยทำลายพระคริสต์ในสมัยที่พระองค์ประสูติ พญานาคคือซาตาน (วิวรณ์ 12:9) มันเป็นผู้บงการให้กษัตริย์เฮโรดบัญชาสั่งประหารพระผู้ช่วยให้รอด แต่ตัวแทนเอกของซาตานที่ทำสงครามกับพระคริสต์และประชากรของพระองค์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งนั้นคืออาณาจักรโรมที่มีลัทธินอกศาสนาเป็นศาสนาที่นิยมนับถือกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่พญานาคหมายถึงซาตานเป็นหลัก ในอีกแง่หนึ่งแล้วพญานาคเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรโรมนอกศาสนานั่นเอง {GC 438.2} GCth17 377.3

พระธรรมวิวรณ์บทที่ 13 (ข้อ 1-10) บรรยายถึงสัตว์ร้ายอีกตัวหนึ่งที่ “เหมือนเสือดาว” ที่ “พญานาคให้ฤทธิ์เดช บัลลังก์ และสิทธิอำนาจยิ่งใหญ่ของมันแก่สัตว์ร้ายนั้น” ชาวโปรเตสแตนต์ส่วนใหญ่เชื่อว่าสัญลักษณ์นี้หมายถึงระบอบเปปาซี [Papacy ระบอบการปกครองที่มีพระสันตะปาปาเป็นองค์ประมุข] ซึ่งสืบทอดอำนาจและบัลลังก์และสิทธิอำนาจซึ่งครั้งหนึ่งอาณาจักรโรมันในอดีตเคยถือครอง คำบรรยายสัตว์ร้ายที่เหมือนเสือดาวตัวนี้เปิดเผยไว้ว่า “สัตว์ร้ายนั้นใช้ปากพูดจาใหญ่โตและหมิ่นประมาทพระเจ้า......มันเปิดปากของมันพูดหมิ่นประมาทพระเจ้า พูดหมิ่นประมาทต่อพระนามของพระองค์ ต่อสถานที่สถิตของพระองค์ และต่อพวกที่อยู่ในสวรรค์ และทรงอนุญาตให้มันทำสงครามกับธรรมิกชนและชนะพวกเขา และประทานให้มันมีอำนาจเหนือทุกเผ่า ทุกชนชาติ ทุกภาษา และทุกประชาชาติ” คำพยากรณ์นี้มีลักษณะเกือบคล้ายคลึงกับคำพยากรณ์ที่บรรยายเรื่องเขาเล็กของพระธรรมดาเนียลบทที่ 7 ดังนั้นคำพยากรณ์นี้จึงเล็งถึงระบอบเปปาซีอย่างไม่มีข้อสงสัย {GC 439.1} GCth17 378.1

“ทรงอนุญาตให้มันใช้สิทธิอำนาจทำการสี่สิบสองเดือน” และผู้เผยพระวจนะกล่าวต่อไปว่า เขาเห็น “หัวหนึ่งของมันเหมือนอย่างถูกฟันปางตาย” และกล่าวต่อไปอีกว่า “คนใดที่กำหนดไว้ให้เป็นเชลย คนนั้นก็จะไปเป็นเชลย คนใดที่กำหนดไว้ให้ถูกฆ่าด้วยดาบ คนนั้นก็ต้องถูกฆ่าด้วยดาบ” วิวรณ์ 13:5, 3, 10 เวลาสี่สิบสองเดือนเป็นระยะเวลาเดียวกันกับ “หนึ่งวาระ สองวาระกับครึ่งวาระ” สามปีครึ่งหรือ 1,260 วัน แห่งพระธรรมดาเนียลบทที่ 7 ซึ่งเป็นเวลาที่อำนาจการปกครองของระบอบเปปาซีกดขี่ประชากรของพระเจ้า ตามที่กล่าวถึงในบทก่อนๆ ระยะเวลานี้เริ่มต้นด้วยการเรืองอำนาจของระบอบเปปาซีในปี ค.ศ. 538 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1798 ในช่วงเวลานั้น พระสันตะปาปาถูกกองทัพของประเทศฝรั่งเศสจับไปเป็นเชลย อำนาจของระบอบเปปาซีถูกฟันปางตายและเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นจริงตามที่ทำนายไว้ “คนใดที่กำหนดไว้ให้เป็นเชลย คนนั้นก็จะไปเป็นเชลย” {GC 439.2} GCth17 378.2

เมื่อมาถึงจุดนี้ มีการแนะนำสัญลักษณ์อีกอันหนึ่งขึ้นมา ผู้เผยพระวจนะกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นสัตว์ร้ายอีกตัวหนึ่งขึ้นมาจากแผ่นดิน มันมีสองเขาเหมือนลูกแกะ และพูดเหมือนอย่างพญานาค” วิวรณ์ 13:11 ทั้งลักษณะการปรากฏตัวและกิริยาท่าทางการขึ้นมาของสัตว์ร้ายตัวนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศซึ่งสัญลักษณ์นี้เป็นตัวแทนถึงนั้นแตกต่างจากประเทศเหล่านั้นที่ถูกแสดงด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ อาณาจักรยิ่งใหญ่ต่างๆ ที่เคยปกครองโลกถูกนำมาปรากฏให้ผู้เผยพระวจนะดาเนียลเห็นในลักษณะของสัตว์ป่าล่าเหยื่อ พวกมันขึ้นมาเมื่อ “ลมทั้งสี่ของฟ้าสวรรค์ได้ปลุกปั่นทะเลใหญ่นั้น” ดาเนียล 7:2 ในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 17 ทูตสวรรค์อธิบายว่า น้ำหมายถึง “ชนชาติต่างๆ ฝูงชนต่างๆ ประชาชาติต่างๆ และภาษาต่างๆ” วิวรณ์ 17:15 ลมเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ลมทั้งสี่ของฟ้าสวรรค์ที่ปลุกปั่นทะเลใหญ่หมายถึงภาพเหตุการณ์น่ากลัวของการปราบปรามและการปฏิวัติที่อาณาจักรเหล่านี้ใช้เพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ {GC 439.3} GCth17 378.3

แต่สัตว์ร้ายที่มีสองเขาเหมือนลูกแกะนั้น “ขึ้นมาจากแผ่นดิน” แทนที่มันจะล้มล้างประเทศอื่นๆ เพื่อตั้งตนขึ้น ประเทศที่มีเครื่องหมายเป็นสัตว์ร้ายนี้จะต้องมาในอาณาบริเวณที่ไม่มีผู้ใดครอบครองมาก่อนและเติบใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องและอย่างสันติ ประเทศนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาจากประชาชาติที่แออัดและแก่งแย่งชิงดีกันในโลกเก่าที่มีสัญลักษณ์เป็นทะเลปั่นป่วนของ “ชนชาติต่างๆ ฝูงชนต่างๆ ประชาชาติต่างๆ และภาษาต่างๆ” จึงต้องค้นหาประเทศนี้ในทวีปทางฝั่งตะวันตก {GC 440.1} GCth17 379.1

มีชาติใดในโลกใหม่ทีขึ้นมาเรืองอำนาจในปี ค.ศ. 1798 และดูมีลักษณะท่าทางแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่และดึงดูดความสนใจของคนทั้งโลก การแปลความหมายของสัญลักษณ์นี้เป็นเรื่องที่ไม่มีข้อสงสัย มีอยู่ประเทศหนึ่งและเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีคุณสมบัติตรงตามคำพยากรณ์นี้ ซึ่งมันชี้ตรงไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างไม่ผิดพลาด ครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อนักพูดและนักประวัติศาสตร์บรรยายถึงการขึ้นมาและการเติบใหญ่ของประเทศนี้ ความคิดที่เป็นคำพูดเดียวกันกับของผู้เขียนพระวจนะศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาใช้โดยแทบจะไม่รู้ตัว สัตว์ร้ายนี้ “ขึ้นมาจากแผ่นดิน” คำว่า “ขึ้นมา” ตามผู้แปลนี้มีความหมายว่า “การเจริญเติบโตหรือการงอกออกมาเหมือนต้นไม้” และตามที่เราเห็น ประเทศนี้จะต้องเกิดขึ้นมาในอาณาบริเวณที่ไม่มีการครอบครองมาก่อน มีนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งบรรยายถึงการขึ้นมาของประเทศสหรัฐอเมริกาไว้ว่า “เธอปรากฏขึ้นมาอย่างลึกลับจากพื้นที่ว่างเปล่า” และกล่าวอีกว่า “ดั่งเมล็ดพืชที่สงบเงียบ เธอโตขึ้นจนเป็นอาณาจักร” G. A. Townsend, The New World Compared With the Old หน้า 462 ในปี ค.ศ. 1850 นิตยสารของประเทศยุโรปฉบับหนึ่งกล่าวถึงประเทศสหรัฐอเมริกาว่าเป็นอาณาจักรอัศจรรย์ซึ่ง “ปรากฏขึ้นมา” “ท่ามกลางความสงบเงียบของโลกและมีอำนาจมากขึ้นและยโสเพิ่มขึ้นทุกวัน” จากเดอะดับบลินเนชั่น [The Dublin Nation] แอ็ดวอร์ด เอเวอแร็ตกล่าวในปาฐกถาเรื่องการก่อตั้งผู้แสวงบุญพิลกริมของประเทศนี้ไว้ว่า “พวกเขามองหาสถานที่เช่นนี้ใช่ไหม คือที่ซึ่งสันโดษ ไม่เป็นภัยเพราะไม่เป็นที่รู้จักและปลอดภัยเพราะอยู่ห่างไกล ที่ซึ่งคริสตจักรน้อยแห่งหมู่บ้านเลเดนจะชื่นชมยินดีในเสรีภาพของมโนธรรม จงดูเถิด อาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลที่.....พวกเขาแบกธงกางเขนเข้าครอบครองอย่างสันติ” คำปาฐกที่พลิมัท มลรัฐแมสซาชูเซตส์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1824 หน้า 11 {GC 440.2} GCth17 379.2

“มีสองเขาเหมือนลูกแกะ” เขาที่มีลักษณะเหมือนของลูกแกะแสดงถึงความเยาว์วัย ไร้เดียงสา และอ่อนโยน ซึ่งบรรยายลักษณะของประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างเหมาะสม ตามที่ผู้เผยพระวจนะเห็น “ขึ้นมา” ในปี ค.ศ. 1798 คริสเตียนมากมายที่อพยพไปยังประเทศอเมริกาในช่วงแรกและหาที่หลบภัยจากการกดขี่ของกษัตริย์และการไม่ผ่อนปรนของพวกบาทหลวง พวกเขามุ่งมั่นที่จะสถาปนาการปกครองที่ตั้งอยู่บนรากฐานอันกว้างใหญ่ของเสรีภาพทางฝ่ายปกครองของรัฐกับศาสนา แนวคิดของพวกเขาปรากฏให้เห็นในคำประกาศเอกราชของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเปิดเผยให้เห็นความจริงอันยิ่งใหญ่ว่า “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาอย่างเท่าเทียมกัน” และไม่มีสิทธิที่จะโอน “ชีวิต เสรีภาพและการแสวงหาความสุข” ให้แก่ผู้อื่น และรัฐธรรมนูญรับรองให้ประชากรมีสิทธิปกครองตนเอง ให้เลือกตั้งผู้แทนเพื่อร่างและตรากฎหมายได้ เสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน มนุษย์ทุกคนได้รับอนุญาตให้นมัสการพระเจ้าได้ตามที่จิตใต้สำนึกของตนกำหนด แนวทางของสาธารณรัฐนิยมและโปรเตสแตนต์นิยมเป็นหลักการพื้นฐานของประเทศ หลักการเหล่านี้คือเคล็ดลับของอำนาจและความรุ่งเรืองมั่งคั่งของเขา ผู้คนจากทั่วทั้งอาณาจักรคริสเตียนที่ถูกกดขี่และถูกเหยียบย่ำต่างพากันหันเข้าหาดินแดนนี้ด้วยความสนใจและความหวัง คนนับล้านแสวงหาชายฝั่งทะเลของประเทศนี้จนประเทศสหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นไปอยู่ท่ามกลางประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดของโลก [คำประกาศเอกราชของประเทศสหรัฐอเมริกา The Declaration of Independence ทำขึ้นวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776] {GC 441.1} GCth17 379.3

แต่สัตว์ร้ายที่มีเขาเหมือนลูกแกะนี้ “พูดเหมือนอย่างพญานาค มันใช้สิทธิอำนาจทั้งหมดของสัตว์ร้ายตัวแรกต่อหน้าสัตว์ร้ายนั้น มันทำให้โลกและคนที่อยู่ในโลกบูชาสัตว์ร้ายตัวที่มีบาดแผลฉกรรจ์ซึ่งได้รับการรักษาแล้ว.......สั่งให้คนทั้งหลายที่อยู่บนแผ่นดินโลก สร้างรูปจำลองรูปหนึ่งให้กับสัตว์ร้ายตัวที่มีบาดแผลจากดาบแต่ยังมีชีวิตอยู่นั้น” วิวรณ์ 13:11-14 {GC 441.2} GCth17 379.4

คุณลักษณะของเขาที่เหมือนของลูกแกะและเสียงของพญานาคของสัญลักษณ์นั้นชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอันโดดเด่นระหว่างการประกาศแสดงตัวกับการปฏิบัติของประเทศซึ่งเป็นความหมายของสัญลักษณ์นั้น การ “พูด” ของประเทศนี้คือการกระทำของอำนาจในการตรากฎหมายและอำนาจการปกครองของเธอ ด้วยการกระทำนี้เธอจะนำการหลอกลวงมาสู่หลักการเสรีภาพและสันติภาพเหล่านั้นซึ่งเป็นพื้นฐานของนโยบายของเธอ คำทำนายที่ว่า เธอจะพูดจา “อย่างพญานาค” และ “ใช้สิทธิอำนาจทั้งหมดของสัตว์ร้ายตัวแรก” ได้ทำนายไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนถึงพัฒนาการของจิตใจที่ไม่ยอมประนีประนอมและกดขี่ข่มเหงซึ่งประเทศที่มีสัญลักษณ์เป็นพญานาคและสัตว์ร้ายที่เหมือนเสือดาวเคยทำมาแล้ว สำหรับประโยคที่ว่าสัตว์ร้ายที่มีสองเขา “ทำให้โลกและคนที่อยู่ในโลกบูชาสัตว์ร้ายตัวเดิมนั้น” TBS1971 แสดงให้เห็นว่าอำนาจของประเทศนี้จะถูกใช้เพื่อบังคับให้ถือรักษากฎบางอย่างซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อระบอบเปปาซี {GC 442.1} GCth17 380.1

การกระทำเช่นนี้จะขัดแย้งโดยตรงต่อหลักการการปกครอง ต่อคุณสมบัติของธรรมเนียมเสรีภาพ ต่อคำปฏิญาณที่ประกาศเอกราชและต่อรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งประเทศจัดหาวิธีอย่างชาญฉลาดเพื่อป้องกันการนำอำนาจทางฝ่ายโลกไปอยู่เหนือคริสตจักร ซึ่งจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการไม่ยอมประนีประนอมและการกดขี่ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า “รัฐสภาจะไม่บัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันศาสนาใดๆ และจะไม่ห้ามเสรีภาพในการนับถือศาสนา” และ “จะไม่มีการกำหนดให้สอบวิชาศาสนาเพื่อเป็นคุณสมบัติในการเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ทางราชการภายใต้รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา” การนับถือศาสนาจะถูกบังคับจากอำนาจฝ่ายการปกครองได้ก็ต่อเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดที่ปกป้องเสรีภาพของชาตินี้อย่างจงใจเท่านั้น แต่ความไม่สอดคล้องกันของการกระทำเช่นนั้นก็ไม่ได้มากไปกว่าที่สัญลักษณ์ได้แสดงไว้ให้เห็น สัตว์ร้ายที่มีเขาเหมือนลูกแกะซึ่งแสดงลักษณะที่บริสุทธิ์ สุภาพ และไม่มีพิษภัยนั้นจะพูดจาอย่างพญานาค {GC 442.2} GCth17 380.2

“ สั่งให้คนทั้งหลายที่อยู่บนแผ่นดินโลกสร้างรูปจำลองรูปหนึ่งให้กับสัตว์ร้าย” เรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงรูปแบบการปกครองที่อำนาจตรากฎหมายของรัฐขึ้นอยู่กับประชาชน ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดว่าประเทศที่คำพยากรณ์กล่าวถึงนี้คือประเทศสหรัฐอเมริกา {GC 442.3} GCth17 380.3

แต่อะไรคือการทำ “รูปจำลองรูปหนึ่งให้กับสัตว์ร้าย” และจะทำรูปนี้ได้อย่างไร สัตว์ร้ายที่มีเขาสองเขาเป็นผู้ทำรูปจำลองนี้และเป็นรูปจำลองที่ทำให้กับสัตว์ร้าย เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นรูปจำลองของสัตว์ร้าย การที่จะเรียนรู้ว่ารูปจำลองนี้มีลักษณะอย่างไรและจะทำรูปนี้ได้อย่างไรนั้น เราจะต้องศึกษาถึงลักษณะของตัวสัตว์ร้ายซึ่งก็คือระบอบเปปาซีนั่นเอง {GC 443.1} GCth17 381.1

เมื่อคริสตจักรยุคแรกเริ่มเสื่อมถอยลงด้วยการละทิ้งความเรียบง่ายของข่าวประเสริฐและรับพิธีกรรมและประเพณีของพวกนอกศาสนาเข้ามา เธอก็สูญเสียพระวิญญาณและอำนาจของพระเจ้าไป และเพื่อที่จะควบคุมจิตสำนึกผิดชอบของประชาชนให้ได้นั้น เธอจึงแสวงหาการสนับสนุนจากอำนาจทางฝ่ายโลก ผลที่ได้คือระบอบเปปาซี ซึ่งคือคริสตจักรหนึ่งที่ควบคุมอำนาจของรัฐและใช้อำนาจนั้นทำตามสิ่งที่เธอต้องการโดยเฉพาะเพื่อลงโทษพวก “นอกรีต” ในการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะทำรูปจำลองของสัตว์ร้ายได้นั้น อำนาจทางศาสนาจะต้องควบคุมอำนาจการปกครอง เพื่อคริสตจักรจะใช้อำนาจของรัฐทำสิ่งที่เธอต้องการ {GC 443.2} GCth17 381.2

เมื่อใดก็ตามที่ศาสนจักรได้รับอำนาจของรัฐ เธอก็ใช้อำนาจนี้ลงโทษผู้ที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของเธอ คริสตจักรโปรเตสแตนต์ที่ดำเนินตามรอยเท้าของโรมด้วยการเป็นพันธมิตรกับอำนาจฝ่ายโลกได้แสดงออกถึงความปรารถนาเดียวกันที่จะจำกัดเสรีภาพของจิตใต้สำนึก ตัวอย่างในเรื่องนี้เห็นได้จากการกดขี่ข่มเหงอันยาวนานและต่อเนื่องที่มีต่อผู้ที่ขัดแย้งกับคริสตจักรแห่งอังกฤษ [Church of England] ในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ผู้รับใช้หลายพันคนที่ไม่ลงรอยกับคริสตจักรถูกบังคับให้หลบหนีไปจากคริสตจักรและคนอีกมากมายทั้งที่เป็นศาสนาจารย์และประชาชนธรรมดาถูกปรับ กักขัง ทรมานและเข่นฆ่าเพราะความเชื่อของพวกเขา {GC 443.3} GCth17 381.3

การละทิ้งศาสนาเป็นเหตุให้คริสตจักรในยุคแรกเข้าขอความช่วยเหลือจากอำนาจการปกครองและเป็นการเปิดเส้นทางที่พัฒนาไปสู่ระบอบเปปาซีซึ่งก็คือสัตว์ร้าย เปาโลกล่าวไว้ว่า “ จะมีการกบฏเสียก่อน และคนนอกกฎหมายนั้นจะปรากฏตัว” 2 เธสะโลนิกา 2:3 ด้วยเหตุนี้ การละทิ้งศาสนาในคริสตจักรเป็นการเตรียมทางให้กับการทำรูปจำลองแก่สัตว์ร้าย {GC 443.4} GCth17 381.4

พระคัมภีร์เปิดเผยว่าก่อนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาจะมีการถดถอยทางศาสนาที่คล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นในศตวรรษที่หนึ่ง “วาระสุดท้ายนั้นจะเป็นเวลาที่น่ากลัว เพราะผู้คนจะเห็นแก่ตัว รักเงินทอง โอ้อวด หยิ่งยโส ชอบดูหมิ่น ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ อกตัญญู ชั่วร้าย ไร้มนุษยธรรม ไม่ให้อภัยกัน ใส่ร้ายกัน ไม่ยับยั้งชั่งใจ ดุร้าย เกลียดชังความดี ทรยศ มุทะลุ โอหัง รักความสนุกมากกว่ารักพระเจ้า ยึดถือทางพระเจ้าแต่เพียงเปลือกนอก แต่ปฏิเสธฤทธิ์เดชของทางนั้น” 2 ทิโมธี 3:1-5 “พระวิญญาณตรัสอย่างชัดแจ้งว่า ต่อไปภายหน้าจะมีบางคนละทิ้งความเชื่อ โดยหันไปเชื่อฟังวิญญาณทั้งหลายที่ล่อลวง และคำสอนของพวกผี” 1 ทิโมธี 4:1 ซาตานจะกระทำการด้วย “อิทธิฤทธิ์ทุกอย่าง ทั้งหมายสำคัญ และการอัศจรรย์จอมปลอม และอุบายชั่วทุกอย่าง” และทุกคนที่ “ไม่ได้รักความจริงเพื่อจะรอดได้” จะถูกปล่อยให้รับ “ความลุ่มหลงมาถึงพวกเขา ให้เขาเชื่อสิ่งที่เท็จ” 2 เธสะโลนิกา 2:9-11 เมื่อสภาพไร้ศีลธรรมเช่นนี้เกิดขึ้น ผลลัพธ์แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในศตวรรษที่หนึ่งก็จะตามมา {GC 444.1} GCth17 382.1

คนมากมายมองดูว่าความเชื่อหลากหลายในคริสตจักรโปรเตสแตนต์น่าจะเป็นข้อพิสูจน์อย่างแน่วแน่ว่าไม่มีทางที่จะบังคับให้เกิดความเป็นหนึ่งได้ แต่เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่คริสตจักรซึ่งมีความเชื่อแบบโปรเตสแตนต์มีแนวคิดเกิดขึ้นและแรงขึ้นที่จะสนับสนุนให้คริสตจักรต่างๆ รวมตัวกันโดยใช้พื้นฐานของหลักข้อเชื่อที่เหมือนกัน การจะทำให้การรวมตัวเช่นนี้กระชับแน่นได้นั้นจำเป็นต้องยอมผ่อนปรนไม่พูดคุยถึงเรื่องที่ทุกคนมีความเห็นไม่ตรงกันแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญในพระคัมภีร์มากเพียงไรก็ตาม {GC 444.2} GCth17 382.2

ในปี ค.ศ. 1846 ชาร์ลส์ ปีเชอร์ [Charles Beecher] เทศนาเปิดเผยว่าการดำเนินการของ “นิกายโปรเตสแตนต์ต่างๆ [the evangelical Protestant denominations]ไม่เพียงถูกก่อตั้งขึ้นมาภายใต้แรงกดดันมหาศาลบนความหวาดกลัวของมนุษย์เท่านั้น แต่พวกเขายังดำเนินงานและเคลื่อนไหวและคงอยู่ในสภาพที่เลวร้ายอย่างสิ้นเชิง และเข้าหาธรรมชาติฝ่ายต่ำทุกชั่วโมงเพื่อหยุดยั้งความจริงและคุกเข่าลงต่ออำนาจของการละทิ้งศาสนา เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับโรมไม่ใช่หรือ เรากำลังเลียนแบบการดำเนินชีวิตของเธออีกใช่ไหม และเรามองเห็นอะไรอยู่เบื้องหน้า การประชุมสภาทั่วไปอีกวาระหนึ่ง การประชุมระดับโลก พันธมิตรของคริสตจักรนิกายโปรเตสแตนต์ต่างๆ และศาสนาสากลของทั้งโลก” คำเทศนาเรื่อง “The Bible a Sufficient Creed” จากเมือง Fort Wayne มลรัฐอินเดียนา 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 เมื่อเป้าหมายนี้บรรลุแล้ว หลังจากนั้น ในความพยายามที่จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์ก็จะมีอีกเพียงก้าวเดียวคือ การหันไปใช้กำลัง {GC 444.3} GCth17 382.3

เมื่อคริสตจักรแนวหน้าทั้งหลายในประเทศสหรัฐอเมริกาจับมือกันโดยใช้หลักคำสอนที่เหมือนกันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว พวกเขาจะกดดันรัฐบาลให้ออกกฎหมายบังคับให้ทำตามคำบัญชาของพวกเขาและให้อุ้มชูสถาบันของพวกเขา เมื่อนั้นโปรเตสแตนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะสร้างรูปจำลองของอำนาจของโรมันขึ้น และผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือฝ่ายปกครองจะกำหนดโทษให้แก่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเธอ {GC 445.1} GCth17 383.1

สัตว์ร้ายที่มีสองเขา “บังคับทุกคน ทั้งคนเล็กน้อยและคนใหญ่โต คนมั่งมีและคนยากจน เสรีชนและทาสให้รับเครื่องหมายไว้ที่มือขวาหรือที่หน้าผากของพวกเขา เพื่อไม่ให้ใครสามารถซื้อหรือขายได้ ถ้าหากไม่มีเครื่องหมายที่เป็นชื่อของสัตว์ร้ายหรือเป็นตัวเลขของชื่อมัน” วิวรณ์ 13:16, 17 ทูตสวรรค์องค์ที่สามเตือนว่า “ถ้าใครบูชาสัตว์ร้ายและรูปของมัน และรับเครื่องหมายของมันไว้ที่หน้าผากหรือที่มือของเขา คนนั้นจะต้องดื่มเหล้าองุ่นแห่งความกริ้วของพระเจ้า” “สัตว์ร้าย” ที่กล่าวถึงในที่นี้ซึ่งสัตว์ร้ายที่มีเขาสองเขาบังคับให้ผู้คนบูชานั้น คือสัตว์ร้ายตัวแรกหรือสัตว์ร้ายที่เหมือนเสือดาวในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 13 ซึ่งหมายถึงระบอบเปปาซีนั่นเอง “รูปจำลองของมัน” เป็นสัญลักษณ์ถึงรูปแบบของคริสตจักรโปรเตสแตนต์ที่ละทิ้งความเชื่อซึ่งจะถูกพัฒนาขึ้นเมื่อคริสตจักรโปรเตสแตนต์ต่างๆ จะแสวงหาอำนาจฝ่ายปกครองมาบังคับคำสอนที่ไม่มีเหตุผลของพวกเขา ส่วนคำว่า “เครื่องหมายของสัตว์ร้าย” นั้นยังจะต้องหาคำอธิบายต่อไป {GC 445.2} GCth17 383.2

ภายหลังคำเตือนไม่ให้บูชาสัตว์ร้ายและรูปของมันแล้ว คำพยากรณ์ยังเปิดเผยต่อไปว่า นี่แหละคือ “พวกที่ถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า และจงรักภักดีต่อพระเยซู” เนื่องจากว่าผู้ที่ประพฤติตามพระบัญญัติของพระเจ้าจะแตกต่างไปจากผู้ที่บูชาสัตว์ร้ายและรูปของมันและรับเครื่องหมายของมัน สิ่งที่จะตามมาคือ ผู้ที่ถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าอยู่มุมหนึ่งและผู้ที่ฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระเจ้าก็จะอยู่อีกมุมหนึ่ง จะมีการแยกแยะออกอย่างชัดเจนระหว่างผู้ที่นมัสการพระเจ้าและผู้ที่บูชาสัตว์ร้าย {GC 445.3} GCth17 383.3

ลักษณะพิเศษของสัตว์ร้ายและรูปจำลองของมันคือการล่วงละเมิดธรรมบัญญัติของพระเจ้า ดาเนียลกล่าวถึงเขาเล็กหรือระบอบเปปาซีว่า “จะคิดเปลี่ยนแปลงวาระและธรรมบัญญัติต่างๆ” ดาเนียล 7:25 และเปาโลเรียกอำนาจเดียวกันนี้ว่า “คนนอกกฎหมาย” ที่จะยกตนขึ้นเหนือพระเจ้า คำพยากรณ์ทั้งสองเรื่องนี้เสริมซึ่งกันและกัน ด้วยการเปลี่ยนพระบัญญัติของพระเจ้าเท่านั้นที่ระบอบเปปาซีจะยกตนขึ้นให้สูงเหนือพระเจ้า ผู้ที่รู้ตัวและเข้าใจ แต่ยังคงถือรักษาบัญญัติที่เปลี่ยนไปแล้วนี้กำลังให้เกียรติอย่างสูงส่งแก่อำนาจที่ลงมือทำการเปลี่ยนแปลงนี้ การแสดงความเชื่อฟังต่อบัญญัติของระบอบเปปาซีในลักษณะเช่นนี้จะเป็นเครื่องหมายแสดงความภักดีต่อพระสันตะปาปาแทนพระเจ้า {GC 446.1} GCth17 384.1

ระบอบเปปาซีเคยพยายามเปลี่ยนพระบัญญัติของพระเจ้ามาแล้ว พระบัญญัติข้อที่สองที่ห้ามกราบบูชารูปเคารพถูกตัดทิ้งไปและพระบัญญัติข้อที่สี่ถูกเปลี่ยนไปเพื่อเปิดทางให้ถือรักษาวันที่หนึ่งเป็นวันสะบาโตแทนวันที่เจ็ด แต่บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีเน้นย้ำว่าเหตุผลที่ตัดพระบัญญัติข้อที่สองออกไปก็เพราะเป็นพระบัญญัติที่ไม่จำเป็นเนื่องจากรวมอยู่ในพระบัญญัติข้อที่หนึ่งแล้ว และพวกเขานำเสนอพระบัญญัติตรงตามที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้ทุกคนเข้าใจได้ การเปลี่ยนแปลงด้วยความตั้งใจและความพยายามถูกแสดงให้เห็นตามที่พระคัมภีร์เขียนไว้ว่า เขา “จะคิดเปลี่ยนแปลงวาระและธรรมบัญญัติต่างๆ” การเปลี่ยนแปลงพระบัญญัติข้อที่สี่ทำให้คำพยากรณ์นี้สำเร็จอย่างถูกต้องแม่นยำ ผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวที่อ้างเรื่องนี้คือศาสนจักร การกระทำเช่นนี้ทำให้อำนาจของระบอบเปปาซีได้ตั้งตนเองขึ้นเหนือพระเจ้าอย่างเปิดเผย {GC 446.2} GCth17 384.2

ในขณะที่ผู้นมัสการพระเจ้าจะถูกชี้ให้เห็นว่าแตกต่างอย่างเป็นพิเศษด้วยการให้ความเคารพต่อพระบัญญัติข้อที่สี่เพราะข้อนี้เป็นเครื่องหมายของอำนาจแห่งการทรงสร้างของพระเจ้าและเป็นพยานถึงสิทธิ์ในการอ้างของพระเจ้าที่ทรงเรียกร้องให้มนุษย์แสดงความเคารพยำเกรงและแสดงความจงรักภักดี ส่วนผู้ที่บูชาสัตว์ร้ายจะถูกชี้ให้เห็นว่าแตกต่างด้วยความพยายามของพวกเขาในการล้มล้างทำลายอนุสรณ์ของพระผู้สร้างและยกชูสถาบันของโรมขึ้นมา ในนามของวันอาทิตย์นี้แหละที่หลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีใช้อ้างสิทธิ์อย่างโอหังเป็นครั้งแรก (โปรดดูภาคผนวก) และการอาศัยอำนาจทางฝ่ายรัฐเป็นครั้งแรกของมันคือการบังคับให้ถือรักษาวันอาทิตย์เป็น “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” แต่พระคัมภีร์บอกให้ทราบว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าคือวันที่เจ็ดไม่ใช่วันที่หนึ่ง พระคริสต์ตรัสว่า “บุตรมนุษย์เป็นเจ้าเป็นนายเหนือวันสะบาโตด้วย” มาระโก 2:28 พระบัญญัติข้อที่สี่เปิดเผยว่า “วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า” อพยพ 20:10 และโดยผ่านทางผู้เผยพระวจนะอิสยาห์พระเจ้าทรงกำหนดให้เป็น “วันบริสุทธิ์ของเรา” อิสยาห์ 58:13 {GC 446.3} GCth17 384.3

คำอ้างที่นำมาใช้กันอยู่บ่อยครั้งว่าพระคริสต์ทรงเปลี่ยนวันสะบาโตไปแล้วนั้นถูกพิสูจน์ว่าผิดด้วยพระดำรัสของพระองค์เอง พระองค์ตรัสในคำเทศนาบนภูเขาว่า “อย่าคิดว่าเรามาล้มเลิกธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะ เราไม่ได้มาล้มเลิก แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ เพราะเราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า จนกว่าฟ้าและดินจะล่วงไป แม้อักษรที่เล็กที่สุด หรือขีด ขีดหนึ่ง ก็จะไม่มีวันสูญไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าทุกสิ่งจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ใครทำให้ข้อเล็กน้อยเพียงข้อหนึ่งในพระบัญญัตินี้ มีความสำคัญน้อยลง และสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย คนนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เล็กน้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ใครที่ประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ คนนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์” มัทธิว 5:17-19 {GC 447.1} GCth17 385.1

ความจริงหนึ่งที่ชาวโปรเตสแตนต์ยอมรับกันทั่วไปคือ พระคัมภีร์ไม่ได้ให้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงวันสะบาโต เรื่องนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ไว้อย่างชัดเจนในนิตยสารของสมาคมใบปลิวแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา [American Tract Society] และสหพันธ์รวิวารศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา [American Sunday School Union] หนึ่งในผลงานที่ตีพิมพ์นี้ยอมรับว่า “พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ไม่ได้กล่าวถึงคำบัญชาใดๆ ให้ถือรักษาวันสะบาโต [วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันที่หนึ่งของสัปดาห์] หรือให้กฎเกณฑ์แน่นอนเพื่อถือรักษาวันนั้น” George Elliott, The Abiding Sabbath หน้า 184 {GC 447.2} GCth17 385.2

อีกท่านกล่าวว่า “จวบจนถึงเวลาที่พระคริสต์สิ้นพระชนม์นั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนวันเวลา” และ “เท่าที่มีบันทึกไว้ พวกเขา [บรรดาอัครทูต] ก็ไม่มีคำสั่งชัดเจนใดๆ ที่กำหนดให้ละทิ้งวันสะบาโตวันที่เจ็ดและให้มาถือรักษาวันที่หนึ่งของสัปดาห์เป็นวันสะบาโตแทน” A. E. Waffle, The Lord’s Day หน้า 186-188 {GC 447.3} GCth17 385.3

ชาวโรมันคาทอลิกยอมรับว่าคริสตจักรของพวกเขาเองเป็นผู้เปลี่ยนแปลงวันสะบาโตและประกาศว่าการที่ชาวโปรเตสแตนต์ยอมรับการถือรักษาวันอาทิตย์ก็เท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจของเธอด้วย หนังสือคำสอนศาสนาคริสต์ของคาทอลิก [the Catholic Catechism of Christian] ตอบคำถามเรื่องวันที่จะต้องถือรักษาเพื่อปฏิบัติตามพระบัญญัติข้อที่สี่ไว้ดังนี้ว่า “ในช่วงเวลาของบัญญัติเดิม วันเสาร์เป็นวันที่ได้ถูกตั้งไว้ให้เป็นวันบริสุทธิ์ แต่คริสตจักรได้รับการทรงชี้แนะจากพระคริสต์และการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้าให้เอาวันอาทิตย์มาแทนที่วันเสาร์ ดังนั้นในปัจจุบันนี้เราจึงตั้งวันที่หนึ่งให้เป็นวันบริสุทธิ์แทนวันที่เจ็ด บัดนี้วันอาทิตย์จึงหมายถึงและคือวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” {GC 447.4} GCth17 385.4

เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงอำนาจของคริสตจักรคาทอลิก นักเขียนผู้นิยมระบอบเปปาซีอ้างงานเขียนที่ว่า “การกระทำในการลงมือเปลี่ยนให้วันสะบาโตเป็นวันอาทิตย์ซึ่งชาวโปรเตสแตนต์อนุญาตให้ทำนั้น.....การถือรักษาวันอาทิตย์เท่ากับพวกเขายอมรับอำนาจของคริสตจักรคาทอลิกที่จะสถาปนาการเฉลิมฉลองและสั่งให้พวกเขาอยู่ภายใต้บาป” Henry Tuberville, An Abridgment of the Christian Doctrine หน้า 58 เช่นนี้แล้ว อะไรคือการเปลี่ยนแปลงวันสะบาโต มันเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแห่งอำนาจของคริสตจักรโรมัน ซึ่งก็คือ “เครื่องหมายของสัตว์ร้าย” {GC 448.1} GCth17 386.1

คริสตจักรโรมันไม่เคยสละสิทธิ์ในการแอบอ้างความยิ่งใหญ่ของเธอ และเมื่อชาวโปรเตสแตนต์ทั้งหลายยอมรับวันสะบาโตที่เธอเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในขณะที่ปฏิเสธวันสะบาโตของพระคัมภีร์ เท่ากับพวกเขายอมรับคำกล่าวอ้างนี้โดยปริยาย พวกเขาอ้างที่มาของการเปลี่ยนแปลงนี้ไปที่ธรรมเนียมประเพณีและทำตามบรรพบุรุษทั้งหลาย แต่ด้วยการกระทำนี้ พวกเขาละเลยหลักการแท้จริงที่ทำให้พวกเขาต้องแยกตัวออกจากโรม นั่นคือ “พระคัมภีร์และพระคัมภีร์เท่านั้นที่เป็นศาสนาของชาวโปรเตสแตนต์” ผู้นิยมระบอบเปปาซีมองเห็นว่าคนเหล่านี้กำลังหลอกลวงตนเอง และตั้งใจปิดตาของตนเองต่อความจริงในเรื่องนี้ เมื่อการเคลื่อนไหวที่บังคับให้ถือรักษาวันอาทิตย์ได้รับการเห็นชอบมากขึ้น ผู้นิยมระบอบเปปาซีจึงปีติยินดีโดยรู้สึกมั่นใจว่าในที่สุดชาวโปรเตสแตนต์ทั้งหมดจะถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้ปีกของโรมอีกครั้ง {GC 448.2} GCth17 386.2

เหล่าผู้นิยมลัทธิโรมันเปิดเผยว่า “การถือรักษาวันอาทิตย์ของชาวโปรเตสแตนต์ทั้งหลายนั้นเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อคริสตจักร [คาทอลิก] ไม่ใช่กับตัวพวกเขาเอง” Mgr. Segur, Plain Talk About the Protestantism of Today หน้า 213 การใช้กฎหมายบังคับให้ถือรักษาวันอาทิตย์ในส่วนของคริสตจักรโปรเตสแตนต์เป็นการบังคับให้นมัสการระบอบเปปาซีซึ่งก็คือนมัสการสัตว์ร้ายนั่นเอง คนเหล่านั้นที่เข้าใจคำอ้างสิทธิ์ของพระบัญญัติข้อที่สี่แต่ยังเลือกที่จะถือรักษาวันสะบาโตเทียมเท็จแทนวันสะบาโตแท้จริง เช่นนั้นแล้ว จึงกำลังถวายการนมัสการต่ออำนาจที่สั่งให้ถือปฏิบัติ ด้วยพฤติกรรมการบังคับให้ปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาโดยอำนาจฝ่ายโลกเช่นนี้เท่ากับคริสตจักรต่างๆ เป็นผู้สร้างรูปจำลองของสัตว์ร้ายขึ้นมาด้วยตนเอง ดังนั้น การใช้กฎหมายบังคับการถือรักษาวันอาทิตย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการบังคับให้บูชาสัตว์ร้ายและรูปจำลองของมัน {GC 448.3} GCth17 386.3

แต่คริสเตียนในรุ่นก่อนๆ ถือรักษาวันอาทิตย์โดยคิดว่าพวกเขากำลังถือรักษาวันสะบาโตของพระคัมภีร์ และในเวลานี้มีคริสเตียนซื่อสัตย์อยู่ในทุกคริสตจักรไม่เว้นแม้แต่ในชุมชนชาวคาทอลิกที่เชื่อด้วยความจริงใจว่าวันอาทิตย์เป็นวันสะบาโตที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งไว้ พระเจ้าทรงยอมรับความตั้งใจและความซื่อสัตย์ที่จริงใจของพวกเขา แต่เมื่อกฎหมายจะถูกตราขึ้นเพื่อบังคับให้ถือรักษาวันอาทิตย์และโลกจะได้รับความกระจ่างในเรื่องหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อวันสะบาโตที่แท้จริงแล้ว เมื่อนั้นเองผู้ใดก็ตามที่ยังจะคงล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งไม่ได้มีอำนาจที่สูงไปกว่าของโรม โดยวิธีนั้นจะเป็นการถวายเกียรติแก่หลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีให้สูงกว่าพระเจ้า เขากำลังเทิดเกียรติโรมและอำนาจที่ออกกฎบังคับซึ่งโรมได้สถาปนาขึ้น เขากำลังกราบบูชาสัตว์ร้ายและรูปจำลองของมัน ในขณะที่มนุษย์ปฏิเสธข้อกำหนดที่พระเจ้าทรงประกาศว่าเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจของพระองค์และให้เกียรติกับข้อกำหนดที่โรมเลือกเป็นเครื่องหมายแทนอำนาจของเธอนั้น พวกเขาก็จะรับเครื่องหมายที่แสดงความภักดีต่อโรมซึ่งเป็น “เครื่องหมายของสัตว์ร้าย” และตราบจนกระทั่งทุกคนเข้าใจประเด็นนี้อย่างชัดเจนและพวกเขาจะต้องเลือกระหว่างพระบัญญัติของพระเจ้าและข้อกำหนดของมนุษย์แล้ว ผู้ที่ยังคงเลือกที่จะล่วงละเมิดต่อไปจะรับ “เครื่องหมายของสัตว์ร้าย” {GC 449.1} GCth17 387.1

ข่าวข่มขู่น่ากลัวที่สุดที่เคยมอบให้แก่มนุษย์ที่ต้องตายถูกบันทึกอยู่ในข่าวของทูตสวรรค์องค์ที่สาม สิ่งนั้นคงเป็นบาปร้ายแรงมากที่เรียกร้องพระพิโรธของพระเจ้าซึ่งไม่เจือปนกับพระเมตตาให้เทลงมา มนุษย์จะไม่ถูกปล่อยให้ตกอยู่ในความมืดอันเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องสำคัญยิ่งนี้ ข่าวสารคำเตือนเรื่องบาปนี้ทรงโปรดประทานให้แก่ชาวโลกก่อนที่การพิพากษาของพระเจ้าจะมาเยือนเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าทำไมพวกเขาจะต้องถูกลงโทษและมีโอกาสที่จะหนีให้พ้น คำพยากรณ์เปิดเผยให้ทราบว่าทูตสวรรค์องค์ที่หนึ่งจะประกาศข่าวของเขา “แก่ทุกประชาชาติ ทุกเผ่า ทุกภาษาและทุกชนชาติ” วิวรณ์ 14:6 คำเตือนของทูตสวรรค์องค์ที่สามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข่าวสารเดียวกันสามประการจะต้องถูกประกาศให้กว้างไกลออกไปไม่น้อยกว่ากัน โดยในคำพยากรณ์ใช้เสียงดังและทูตสวรรค์บินในกลางท้องฟ้าเป็นสัญลักษณ์แสดง และเป็นข่าวที่จะเรียกร้องให้โลกสนใจ {GC 449.2} GCth17 387.2

ในประเด็นของการต่อสู้นี้ โลกคริสเตียนทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าและดำเนินตามความเชื่อของพระเยซู กับกลุ่มที่บูชาสัตว์ร้ายและรูปจำลองของมันและรับเครื่องหมายของมัน ถึงแม้คริสตจักรและรัฐจะร่วมมือกันใช้อำนาจเพื่อ “บังคับทุกคนทั้งคนเล็กน้อยและคนใหญ่โต คนมั่งมีและคนยากจน เสรีชนและทาส” วิวรณ์ 13:16 เพื่อรับ “เครื่องหมายของสัตว์ร้าย” วิวรณ์ 19:20 แต่ถึงกระนั้นประชากรของพระเจ้าจะไม่ต้องรับเครื่องหมายนั้น ผู้เผยพระวจนะบนเกาะปัทมอสเห็น “บรรดาคนที่มีชัยชนะต่อสัตว์ร้าย และต่อรูปของมัน และต่อตัวเลขของชื่อมัน เขาทั้งหลายยืนอยู่ริมทะเลแก้วและถือพิณของพระเจ้า” และร้องเพลงของโมเสสและเพลงของพระเมษโปดก วิวรณ์ 15:2, 3 {GC 450.1} GCth17 387.3

*****