Loading...
Larger font
Smaller font
Copy
Print
Contents

สงครามครั้งยิ่งใหญ่

 - Contents
  • Results
  • Related
  • Featured
No results found for: "".
  • Weighted Relevancy
  • Content Sequence
  • Relevancy
  • Earliest First
  • Latest First

    บท 15 - พระคัมภีร์กับการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส

    ในศตวรรษที่สิบหก การปฏิรูปศาสนาหาทางเข้าไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยการมอบพระคัมภีร์ที่เปิดออกให้แก่ประชาชน บางประเทศต้อนรับไว้ด้วยความยินดีราวกับเป็นผู้สื่อข่าวชาวสวรรค์ ส่วนประเทศอื่นๆ นั้น ระบอบของเปปาซีประสบความสำเร็จอย่างมากยิ่งในการขัดขวางการเข้ามาของพระคัมภีร์ ความกระจ่างแห่งความเข้าใจพระคัมภีร์ซึ่งมีอิทธิพลในการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นจึงแทบจะถูกตัดออกไปหมด มีอยู่ประเทศหนึ่งที่ความกระจ่างเข้าไปได้แล้ว แต่ความมืดก็ยังไม่เข้าใจความกระจ่างนั้น เป็นเวลาหลายศตวรรษที่สัจธรรมและความผิดต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ ในที่สุดความชั่วชนะและสัจธรรมของสวรรค์ถูกผลักทิ้งออกไป “หลักการพิพากษามีอย่างนี้ คือความสว่างเข้ามาในโลกแล้ว แต่มนุษย์รักความมืดมากกว่าความสว่าง” ยอห์น 3:19 ประเทศนั้นถูกทิ้งไว้ให้เก็บเกี่ยวผลของวิถีที่เธอเลือกเอง พระเจ้าทรงถอนการควบคุมและการยับยั้งของพระวิญญาณบริสุทธิ์ออกไปจากคนที่ดูแคลนของประทานแห่งพระคุณของพระองค์ ปล่อยให้ความชั่วเติบใหญ่ขึ้นและทั่วทั้งโลกเห็นผลของการปฏิเสธสัจธรรมอย่างจงใจ {GC 265.1}GCth17 229.1

    สงครามต่อต้านพระคัมภีร์ดำเนินมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้วในประเทศฝรั่งเศส จนถึงจุดสุดยอดด้วยเหตุการณ์ของการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส [the Revolution] การลุกลามอันน่ากลัวนั้นเป็นผลลัพธ์ที่คู่ควรจากการกดขี่ของโรมที่มีต่อพระคัมภีร์ (โปรดดูภาคผนวก) เป็นการนำเสนอตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดให้โลกเห็นถึงการทำงานตามนโยบายของระบอบเปปาซี เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของคำสอนของคริสตจักรโรมันที่มีการทะนุบำรุงส่งเสริมมามากว่าหนึ่งพันปี {GC 265.2}GCth17 229.2

    ผู้เผยพระวจนะทำนายไว้ล่วงหน้าแล้วถึงการปราบปรามพระคัมภีร์ในช่วงการเรืองอำนาจของระบอบเปปาซี และอัครสาวกผู้บันทึกพระธรรมวิวรณ์ยังชี้ให้เห็นถึงผลอันน่าสยดสยองที่จะเกิดกับประเทศฝรั่งเศสโดยเฉพาะจากการครองความเป็นใหญ่ของ “คนนอกกฎหมาย” {GC 266.1}GCth17 230.1

    ทูตสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า “เขาจะเหยียบย่ำวิสุทธินครตลอดสี่สิบสองเดือน เราจะให้ฤทธานุภาพแก่พยานทั้งสองของเรา และทั้งสองจะเผยพระวจนะตลอดหนึ่งพันสองร้อยหกสิบวัน โดยแต่งตัวด้วยผ้ากระสอบ........เมื่อเขาทั้งสองเสร็จสิ้นการเป็นพยานแล้ว สัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากบาดาลลึกก็จะต่อสู้กับเขา มันจะชนะและจะฆ่าเขาทั้งสองและศพของเขาทั้งสองจะอยู่บนถนนในมหานครนั้น ที่เรียกตามภาษาอุปไมยว่าโสโดมและอียิปต์ ซึ่งเป็นเมืองที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาถูกตรึง........ คนทั้งหลายที่อยู่บนแผ่นดินโลกจะยินดีด้วยเรื่องเขาทั้งสอง พวกเขาจะรื่นเริงและให้ของขวัญแก่กันและกัน เพราะว่าผู้เผยพระวจนะทั้งสองนี้ได้ทรมานคนทั้งหลายที่อยู่ในโลก หลังจากนั้นสามวันครึ่ง ลมปราณจากพระเจ้าก็เข้าสู่ศพของเขา และเขาทั้งสองก็ลุกขึ้นยืนด้วยขาตัวเอง คนทั้งหลายที่เห็นก็ตกอยู่ในความกลัวอย่างยิ่ง” วิวรณ์ 11:2-11 {GC 266.2}GCth17 230.2

    ช่วงเวลา “สี่สิบสองเดือน” และ “หนึ่งพันสองร้อยหกสิบวัน” ที่กล่าวถึงนี้เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ต่างหมายถึงเวลาที่คริสตจักรของพระคริสต์จะต้องทนทุกข์ทรมานจากการกดขี่ของโรม ช่วงเวลา 1260 ปีของการเรืองอำนาจของระบอบเปปาซีเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 538 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1798 (โปรดดูภาคผนวก) ในเวลานั้นกองกำลังของประเทศฝรั่งเศสบุกเข้าไปกรุงโรมและจับพระสันตะปาปาเป็นเชลยและพระองค์สิ้นพระชนม์ขณะที่ถูกเนรเทศ แม้จะมีการแต่งตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในเวลาไม่นานต่อมาก็ตาม สภาการปกครองของระบอบเปปาซีก็ไม่สามารถปกครองด้วยอำนาจที่มีเหมือนในอดีต {GC 266.3}GCth17 230.3

    การกดขี่ข่มเหงคริสตจักรไม่ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลา 1260 ปีนี้ ด้วยพระเมตตาคุณของพระเจ้าที่มีต่อประชากรของพระองค์ พระองค์ทรงกระทำให้เวลาแห่งความทุกข์ของการกดขี่สั้นลง เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำนายถึง “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” ที่จะกระหน่ำลงมายังคริสตจักร พระองค์ตรัสว่า “ถ้าไม่ได้ทรงให้วันเหล่านั้นย่นสั้นเข้า จะไม่มีมนุษย์รอดได้เลย แต่เพราะทรงเห็นแก่พวกที่ทรงเลือก จึงทรงให้วันเหล่านั้นย่นสั้นเข้า” มัทธิว 24:21, 22 โดยทางอิทธิพลของการปฏิรูปศาสนา การกดขี่ข่มเหงยุติไปก่อนปี ค.ศ. 1798 {GC 266.4}GCth17 230.4

    ผู้เผยพระวจนะกล่าวถึงพยานสองท่านต่อไปว่า “พยานทั้งสองนั้นคือต้นมะกอกเทศสองต้น และคันประทีปสองอันที่ตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินโลก” ผู้ประพันธ์สดุดีตรัสว่า “พระวจนะของพระองค์เป็นตะเกียงแก่เท้าของข้าพระองค์และเป็นความสว่างแก่ทางของข้าพระองค์” วิวรณ์ 11:4 สดุดี 119:105 พยานสองท่านนั้นหมายถึงพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์ทั้งสองภาคเป็นพยานสำคัญต่อต้นกำเนิดและความยั่งยืนของพระบัญญัติของพระเจ้า ทั้งสองเป็นพยานถึงแผนการแห่งความรอดด้วยเช่นกัน แบบจำลองต่างๆ เครื่องถวายบูชาทั้งหลายและคำพยากรณ์ของภาคพันธสัญญาเดิมเล็งถึงการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอดในภายภาคหน้า พระกิตติคุณและจดหมายของอัครทูตในภาคพันธสัญญาใหม่เปิดเผยถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้เสด็จมาในลักษณะที่ตรงตามแบบจำลองและคำพยากรณ์ที่ทำนายไว้ล่วงหน้าแล้วอย่างถูกต้องแม่นยำ {GC 267.1}GCth17 231.1

    “พยานทั้งสองของเรา.......จะเผยพระวจนะตลอดหนึ่งพันสองร้อยหกสิบวัน โดยแต่งตัวด้วยผ้ากระสอบ” ในเวลาส่วนใหญ่ของช่วงเวลานี้ พยานทั้งสองของพระเจ้าถูกเก็บไว้อยู่ในที่มืด อำนาจของระบอบเปปาซีทุ่มเทที่จะซ่อนและปกปิดพระวจนะแห่งสัจธรรมไปจากประชาชนและชูพยานเท็จไว้ต่อหน้าพวกเขาเพื่อหักล้างคำพยานของพระวจนะ (โปรดดูภาคผนวก) เมื่ออำนาจฝ่ายศาสนาและทางฝ่ายโลกสั่งห้ามพระคัมภีร์ เมื่อคำพยานของพระคัมภีร์ถูกทำให้คลาดเคลื่อนไปและมนุษย์และมารพยายามทำทุกวิถีทางที่ประดิษฐ์ขึ้นได้เพื่อหันความคิดของพวกเขาให้ออกไปจากพระวจนะ เมื่อผู้ที่กล้าประกาศสัจธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ถูกตามล่า ทรยศ ทรมาน ขังอยู่ในคุกมืด สังเวยชีพเพื่อความเชื่อหรือถูกบังคับให้หนีเข้าหาความมั่นคงปลอดภัยของภูเขาและไปยังโพรงหินและถ้ำของโลก พยานผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้จึงเผยพระวจนะในชุดผ้ากระสอบ อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังคงเป็นพยานตลอดช่วงเวลา 1260 ปีนี้ ในเวลามืดที่สุด ยังมีผู้ซื่อสัตย์ที่รักพระวจนะของพระเจ้าและยังหวงแหนเกียรติของพระองค์ ผู้รับใช้ที่ภักดีเหล่านี้รับสติปัญญา กำลังและสิทธิอำนาจในการประกาศความจริงตลอดช่วงเวลาทั้งหมดนี้ {GC 267.2}GCth17 231.2

    “ถ้าใครคิดจะทำร้ายพยานทั้งสอง ไฟก็จะพลุ่งออกจากปากของทั้งสองและเผาผลาญศัตรูเหล่านั้น ใครที่คิดทำร้ายพยานทั้งสอง ก็จะต้องตายอย่างนั้น” วิวรณ์ 11:5 มนุษย์ไม่อาจรอดพ้นการถูกลงโทษเมื่อเหยียบย่ำพระวจนะของพระเจ้า ความหมายของคำประณามที่น่ากลัวนี้ระบุอยู่ในบทปิดท้ายของพระธรรมวิวรณ์ที่ว่า “ข้าพเจ้าเตือนทุกคนที่ได้ยินคำพยากรณ์ในหนังสือนี้ว่า ถ้าใครเพิ่มเติมสิ่งใดเข้าไปในหนังสือนี้ พระเจ้าก็จะทรงเพิ่มเติมภัยพิบัติที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้แก่คนนั้น และถ้าใครตัดถ้อยคำอะไรออกจากหนังสือพยากรณ์นี้ พระเจ้าก็จะทรงตัดส่วนแบ่งของเขาที่มีอยู่ในต้นไม้แห่งชีวิตและในนครบริสุทธิ์ตามที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ไปเสีย” วิวรณ์ 22:18, 19 {GC 268.1}GCth17 232.1

    พระเจ้าประทานคำเตือนเช่นนี้ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระองค์ทรงเปิดเผยหรือทรงบัญชา คำประณามที่เคร่งขรึมนี้มีผลใช้กับทุกคนที่ใช้อิทธิพลของเขานำมนุษย์ให้นับถือพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างไม่เอาจริงเอาจัง คำเตือนเหล่านี้ควรทำให้พวกที่ประกาศอย่างทำเป็นเล่นว่าการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าหรือไม่นั้นเป็นเรื่องไม่สำคัญเกิดความรู้สึกกลัวจนตัวสั่น ทุกคนที่ยกความคิดเห็นของตนขึ้นเหนือการเปิดเผยของพระเจ้า และทุกคนที่เปลี่ยนความหมายชัดแจ้งของพระคัมภีร์เพื่อให้เข้ากับความสะดวกของตนเองหรือเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของการเข้ากับชาวโลกกำลังนำความรับผิดชอบอันน่ากลัวมาใส่ตัว พระวจนะที่บันทึกไว้เป็นตัวอักษร ซึ่งคือพระบัญญัติของพระเจ้าจะประมาณค่าอุปนิสัยของมนุษย์ทุกคนและกล่าวโทษทุกคนที่บททดสอบซึ่งผิดพลาดไม่ได้นี้จะประกาศว่าไม่เป็นที่พึงประสงค์ {GC 268.2}GCth17 232.2

    “เมื่อเขาทั้งสองเสร็จสิ้น [กำลังเสร็จสิ้น] การเป็นพยานแล้ว” ช่วงเวลาที่พยานทั้งสองเผยพระวจนะในขณะที่แต่งกายด้วยชุดผ้ากระสอบได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1798 ในขณะที่พวกเขาใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดการทำงานในความมืดมนนั้น อำนาจที่มีสัญลักษณ์เป็น “สัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากบาดาลลึก” วิวรณ์ 11:7 จะทำสงครามโจมตีพวกเขา อำนาจที่ปกครองอยู่ในคริสตจักรและรัฐของหลายประเทศในยุโรปถูกควบคุมโดยซาตานผ่านตัวกลางคือระบอบของเปปาซีมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ แต่ในที่แห่งนี้มีการแสดงออกอย่างใหม่ให้เห็นถึงอำนาจของซาตาน {GC 268.3}GCth17 232.3

    โรมมีนโยบายปกปิดพระคัมภีร์ไว้ในภาษาที่คนไม่รู้จักและซ่อนไว้จากประชาชนทั่วไปภายใต้การอ้างตนว่าเคารพนับถือพระคัมภีร์ ภายใต้การปกครองของเธอนั้น พยานทั้งสองต้องเผยพระวจนะในขณะที่ “ แต่งตัวด้วยผ้ากระสอบ” วิวรณ์ 11:3 แต่มีอีกอำนาจหนึ่ง คืออำนาจของสัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากบาดาล ประกาศทำสงครามอย่างเปิดเผยต่อสู้พระวจนะของพระเจ้า {GC 269.1}GCth17 233.1

    ถนนใน “มหานคร” ที่พยานทั้งสองถูกฆ่าและที่ศพของพวกเขาอยู่นั้นคือประเทศอียิปต์ฝ่าย “จิตวิญญาณ” วิวรณ์ 11:8 ในบรรดาประเทศต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ อียิปต์เป็นประเทศที่ปฏิเสธการทรงดำรงอยู่ของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์และต่อต้านพระบัญชาของพระองค์อย่างห้าวหาญที่สุด ไม่มีพระราชาองค์ใดกล้ากบฏต่ออำนาจของสวรรค์อย่างเปิดเผยและอย่างหยิ่งผยองมากไปกว่ากษัตริย์ของประเทศอียิปต์ เมื่อโมเสสนำข่าวมาให้ฟาโรห์ในนามของพระเจ้า ฟาโรห์ตอบอย่างยโสว่า “พระยาห์เวห์นั้นเป็นใครเล่า เราจึงจะต้องฟังเสียงของพระองค์และปล่อยคนอิสราเอลไป เราไม่รู้จักพระยาห์เวห์และยิ่งกว่านั้นเราจะไม่ปล่อยคนอิสราเอลไปเป็นอันขาด” อพยพ 5:2 นี่คือลัทธิความเชื่อที่ว่าไม่มีพระเจ้า และประเทศที่มีสัญลักษณ์ของอียิปต์เป็นตัวแทนนี้จะส่งเสียงปฏิเสธว่ามีพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์และจะแสดงออกถึงวิญญาณของความไม่เชื่อและความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน “มหานคร” นี้ยังเปรียบเป็นเมืองโสโดมฝ่าย “วิญญาณ” อีกด้วย ความชั่วช้าของเมืองโสโดมในการฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระเจ้าแสดงออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการมักมากในโลกีย์ และบาปนี้ยังจะเป็นคุณสมบัติโดดเด่นของประเทศที่มีลักษณะตรงตามคุณสมบัติจำเพาะของพระคัมภีร์ข้อนี้อย่างสมบูรณ์ {GC 269.2}GCth17 233.2

    ตามคำพูดของผู้เผยพระวจนะท่านนี้ ดังนั้น ก่อนถึงปี ค.ศ. 1798 เพียงเล็กน้อย จะมีบางอำนาจที่มีต้นกำเนิดมาจากซาตานและมีลักษณะของซาตานปรากฏขึ้นมาทำสงครามกับพระคัมภีร์ ในดินแดนที่คำพยานทั้งสองของพระเจ้าถูกปิดปากให้เงียบเสียง จะมีการสำแดงออกให้เห็นถึงความไม่เชื่อพระเจ้าของฟาโรห์และความมักมากในโลกีย์ของเมืองโสโดม {GC 269.3}GCth17 233.3

    คำพยากรณ์นี้เกิดขึ้นอย่างแม่นยำและน่าตะลึงตาตะลึงใจที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส ระหว่างการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1793 “เป็นครั้งแรกที่โลกได้ยินจากการประชุมของคนกลุ่มหนึ่งที่มีชาติกำเนิดและได้รับการศึกษาอย่างมีอารยธรรมและได้รับสิทธิอย่างชอบธรรมในการปกครองประเทศที่ดีเลิศที่สุดประเทศหนึ่งของทวีปยุโรป ยกเสียงของพวกเขาอย่างพร้อมเพรียงกันในการปฏิเสธสัจธรรมอันน่าเคร่งขรึมที่สุดเท่าที่จิตวิญญาณของมนุษย์ได้รับ และประกาศด้วยเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ที่จะละทิ้งความเชื่อและการนมัสการเทพเจ้าองค์หนึ่ง” Sir Walter Scott, Life of Napoleon เล่มที่ 1 บทที่ 17 “ฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงมีการบันทึกอย่างถูกต้องหลงเหลืออยู่ ในฐานะระดับประเทศ เธอชูมือของเธอขึ้นกบฏต่อพระเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของจักรวาลอย่างเปิดเผย คนหมิ่นประมาทพระเจ้ามากมายและคนไม่เชื่อพระเจ้ามากมายยังคงมีอยู่และจะมีต่อไปในประเทศอังกฤษ เยอรมนี สเปนและประเทศอื่นๆ แต่ประเทศฝรั่งเศสยืนแยกตัวโดดเดี่ยวอยู่ต่างหากในประวัติศาสตร์โลกในฐานะรัฐเดียวที่ประกาศว่าไม่มีพระเจ้าด้วยพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาจากที่ประชุมของรัฐสภา และพลเมืองทั้งหมดของเมืองหลวงและประชาชนอีกจำนวนมากทั่วทั้งประเทศทั้งหญิงและชายต่างเต้นรำทำเพลงด้วยความยินดีปรีดายอมรับคำประกาศของรัฐบาล” Blackwood’s Magazine, November, 1870 {GC 269.4}GCth17 234.1

    ประเทศฝรั่งเศสยังเผยให้เห็นถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของเมืองโสโดมด้วย ในช่วงของการปฏิวัติ มีการแสดงออกถึงสภาพความตกต่ำทางฝ่ายศีลธรรมและความเสื่อมโทรมคล้ายคลึงกับที่นำความพินาศมายังเมืองต่างๆ ของที่ราบมาแล้ว และนักประวัติศาสตร์ได้เปิดเผยทั้งความไม่เชื่อพระเจ้าและความเสเพลไร้ศีลธรรมของประเทศฝรั่งเศสตามที่ให้ไว้ในคำพยากรณ์ “ส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับกฎหมายเหล่านี้ซึ่งมีผลต่อศาสนาคือ การลดความสำคัญของการรวมเป็นหนึ่งในการสมรสให้เหลือเป็นเพียงการทำสัญญาทางกฎหมายที่มีลักษณะผูกพันชั่วคราวซึ่งคนสองคนใดจะเข้าร่วมหรือสลัดทิ้งไปตามความพึงพอใจได้ ทั้งๆ ที่การสมรสเป็นความผูกพันอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดซึ่งมนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ และความยั่งยืนอันยาวนานของความสัมพันธ์นี้จะนำไปสู่เอกภาพของสังคม.......หากพวกปีศาจทั้งหลายตั้งเป้าหมายให้ตนเองคิดค้นหาวิธีที่ได้ผลที่สุดเพื่อทำลายสิ่งใดก็ได้ที่น่าเคารพ ที่ดีงามหรือที่ยั่งยืนนานในชีวิตครอบครัวและในเวลาเดียวกันได้รับการประกันความมั่นใจว่าผลร้ายของเป้าหมายนี้จะกระทบต่อเนื่องไปจากคนยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง พวกเขาไม่น่าจะคิดค้นแผนการอื่นใดที่ได้ผลมากไปกว่าการทำให้การสมรสเสื่อมทรามลง โซฟีย์ อาร์เนาต์ [Sophie Arnoult] ดาราชื่อดังจากความสามารถในการพูดคำคมคนหนึ่งได้บรรยายถึงพิธีแต่งงานของประชาราษฎร์ไว้ว่าเป็น ‘การประกอบพิธีศาสนาให้กับการล่วงประเวณี’” Scott เล่มที่ 1 บทที่ 17 {GC 270.1}GCth17 234.2

    “เป็นเมืองที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราถูกตรึงกางเขน” วิวรณ์ 11:8 ประเทศฝรั่งเศสทำให้ข้อกำหนดของคำพยากรณ์นี้เกิดขึ้นตามที่ทำนายไว้ ไม่มีดินแดนใดที่ความเป็นศัตรูต่อต้านพระคริสต์จะถูกแสดงออกอย่างโดดเด่นไปมากกว่านี้ ไม่มีประเทศใดที่สัจธรรมต้องผจญกับการต่อต้านที่ขมขื่นและโหดเหี้ยมไปมากกว่านี้ ด้วยการกดขี่ข่มเหงที่ประเทศฝรั่งเศสทำกับผู้ที่ยอมรับพระกิตติคุณ เธอได้ตรึงพระคริสต์ในตัวสาวกทั้งหลายของพระองค์ไว้บนกางเขน {GC 271.1}GCth17 235.1

    ศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า ธรรมิกชนทั้งหลายต้องเสียเลือดเนื้อ ในขณะที่ชาววอลเดนซิสสละชีวิตของตนไว้บนเทือกเขาพิดมอนต์ “เพื่อพระวจนะของพระเจ้าและเพื่อการเป็นพยานของพระเยซู” พี่น้องของพวกเขาคือพวกเอลบีเจนส์แห่งประเทศฝรั่งเศสก็แบกการเป็นพยานเพื่อสัจธรรมในลักษณะเดียวกัน ในยุคของการปฏิรูปศาสนา สาวกของพวกเขาถูกประหารด้วยการทารุณกรรมที่โหดเหี้ยม พระราชาและขุนนาง สตรีชาติกำเนิดตระกูลสูงและหญิงสาวบอบบาง ความระทมทุกข์ของผู้ที่ยอมพลีชีพแด่พระเยซูกลายเป็นอาหารตาของผู้ที่หยิ่งยโสและเหล่าอัศวินของประเทศ พวกฮิวโกน็อทส์ที่กล้าหาญต่อสู้เพื่อสิทธิซึ่งหัวใจมนุษย์ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด พวกเขาต้องหลั่งเลือดในสนามรบอันดุเดือดหลายต่อหลายครั้ง พวกโปรเตสแตนต์ถูกจัดว่าเป็นพวกนอกกฎหมาย มีการตั้งค่าหัวของพวกเขาและแต่ละคนถูกตามล่าดั่งสัตว์ป่า {GC 271.2}GCth17 235.2

    “คริสตจักรในถิ่นทุรกันดาร” ซึ่งหมายถึงลูกหลานจำนวนน้อยนิดของคริสเตียนสมัยก่อนที่หลงเหลือและยังคงหลบซ่อนอยู่ตามภูเขาทางตอนใต้ในศตวรรษที่ 18 นั้น พวกเขายังคงถนอมความเชื่อของบรรพบุรุษไว้ ในขณะที่พวกเขาเสี่ยงภัยในการเดินทางไปประชุมกันตามที่ราบของภูเขาและหนองน้ำเปลี่ยวในยามค่ำคืน พวกเขาถูกพวกทหารม้าไล่ล่าและกระชากไปเป็นทาสฝีพายในเรือของโรมันตลอดชีวิต คนที่ใสสะอาดที่สุด ที่บริสุทธิ์ที่สุด มีการศึกษามากที่สุดของประเทศฝรั่งเศสถูกล่ามโซ่ ถูกทรมานอย่างทารุณโหดเหี้ยมท่ามกลางโจรและฆาตรกรรับจ้าง (โปรดดู Wylie เล่มที่ 22 บทที่ 6) ส่วนคนอื่นๆ ที่ได้รับการปฏิบัติที่เมตตากว่าจะถูกยิงทิ้งอย่างเลือดเย็น เพราะพวกเขาไม่มีอาวุธและขาดความช่วยเหลือ พวกเขากราบคุกเข่าลงอธิษฐาน คนชรา สตรีที่ป้องกันตัวเองไม่ได้และเด็กไร้เดียงสาจำนวนหลายร้อยคนล้มตายอยู่กับพื้นในสถานที่ประชุม ในการเดินทางข้ามภูเขาหรือป่าทึบซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาใช้ชุมนุมกันอยู่เป็นประจำนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะพบ “ร่างของคนตายนอนเรียงรายตามทุ่งหญ้าและบ้างแขวนห้อยบนต้นไม้ในทุกๆ สี่ก้าวที่เดินไป” ประเทศของพวกเขาซึ่งถูกทิ้งร้างด้วยคมดาบ ขวาน และตะแลงแกง ได้ถูกเปลี่ยนเป็นป่ากันดารอันอ้างว้างน่ากลัว “ความโหดเหี้ยมเหล่านี้ไม่ได้ก่อขึ้น.....ในยุคมืด แต่ในยุคแห่งความรุ่งเรืองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในเวลานั้นวิทยาศาสตร์เจริญรุ่งเรือง วรรณกรรมกำลังเฟื่องฟู ขุนนางชั้นสูงของราชสำนักและของเมืองหลวงเป็นผู้มีการศึกษาและมีวาทศิลป์ และส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณงามความดีของความถ่อมตนและความรัก” Ibid. เล่มที่ 22 บทที่ 7 {GC 271.3}GCth17 235.3

    แต่ที่ดำมืดที่สุดในบรรดาบัญชีดำของอาชญากรรม เป็นการกระทำที่เลวร้ายน่ากลัวและโหดเหี้ยมที่สุด นั่นคือการสังหารหมู่วันเซนต์บาร์โทโลมิว [St. Bartholomew Massacre วันที่ฝูงชนชาวฝรั่งเศสผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกไล่สังหารพวกฮิวโกน็อทส์หรือโปรเตสแตนต์ชาวฝรั่งเศสภายใต้คำสั่งของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 แห่งประเทศฝรั่งเศส การสังหารเริ่มขึ้นก่อนรุ่งสางของเช้าวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1572 ซึ่งตรงกับวันสมโภชของนักบุญบาร์โทโลมิว] โลกยังจำภาพความน่ากลัวที่สยองขวัญของการฆ่าอย่างขี้ขลาดและโหดเหี้ยมที่สุดได้ นักบวชและพระราชาคณะของโรมเร่งเร้าให้กษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศสยื่นพระหัตถ์ออกสนับสนุนงานเหี้ยมโหดนี้ ระฆังที่ดังขึ้นในกลางดึกของยามค่ำคืนเป็นสัญญาณของการลงมือสังหาร ชาวโปรเตสแตนต์หลายพันคนนอนอย่างสงบในบ้านของตน โดยวางใจในเกียรติยศที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ของพระราชา พวกเขาถูกลากไปนอกบ้านโดยไม่มีการเตือนและถูกฆ่าทิ้งอย่างเลือดเย็น {GC 272.1}GCth17 236.1

    พระคริสต์ทรงเป็นผู้นำที่ตามองไม่เห็นในการช่วยกู้ประชากรของพระองค์ออกจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ ซาตานก็เช่นกันเป็นผู้นำของสมุนของมันที่ตามองไม่เห็นในการกระทำที่โหดเหี้ยมต่อการยอมพลีชีพของคนมากมายเหล่านี้ การสังหารหมู่นี้เกิดขึ้นในกรุงปารีสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเจ็ดวัน สามวันแรกด้วยความโหดเหี้ยมอย่างที่ประเมินไม่ได้และงานนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในตัวเมืองเท่านั้น แต่โดยคำสั่งพิเศษของพระราชาได้ขยายไปยังทุกจังหวัดและทุกอำเภอที่พบพวกโปรเตสแตนต์ พวกเขาไม่ได้เห็นแก่อายุหรือเพศ ทารกไร้เดียงสาหรือคนแก่ผมหงอกก็ยังไม่เว้น ขุนนางและชาวชนบท คนแก่และคนหนุ่ม แม่และเด็กถูกสังหารพร้อมกัน การฆาตกรรมทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศสดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานสองเดือน คนชั้นหัวกระทิของประเทศพินาศไปถึงเจ็ดหมื่นคน {GC 272.2}GCth17 236.2

    “เมื่อข่าวการสังหารหมู่ไปถึงกรุงโรม ความปีติยินดีท่ามกลางเหล่านักบวชนั้นล้นเหลือจนไม่มีขอบเขต พระคาร์ดินัลแห่งเมืองลอเรนมอบมงกุฎหลายพันอันเป็นรางวัลให้แก่ผู้ส่งข่าว ปืนใหญ่ของเมืองเซนต์เอนเจโลยิงสลุตดังสนั่นให้การเคารพและชื่นชม เสียงระฆังดังกังวานจากทุกยอดหอคอยของโบสถ์ กองไฟเปลี่ยนกลางคืนเป็นกลางวันและพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 เสด็จร่วมขบวนยาวพร้อมด้วยพระคาร์ดินนัลและคนสำคัญอื่นๆ ในศาสนามุ่งหน้าไปยังโบสถ์เซนต์หลุยซ์ ณ ที่นั่น พระคาร์ดินัลแห่งโลเรนสวดบทเตเดียม......มีการหล่อเหรียญเพื่อรำลึกถึงการสังหารหมู่ และที่กรุงวาติกันยังมีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งวาดโดยวาซารี [Frescoes of Vasari] อยู่สามภาพที่บรรยายถึงภาพการโจมตีของกองทัพเรือ ภาพพระราชานั่งในที่ประชุมสภากำลังวางแผนการสังหารหมู่และภาพการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้น พระสันตะปาปาเกรกอรีประทานรางวัลให้พระเจ้าชาร์ลส์เป็นกุหลาบทองคำ และสี่เดือนหลังจากการสังหารหมู่ พระองค์ทรงฟังคำเทศนาของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสด้วยความพอพระทัย......ที่พูดถึง ‘วันนั้นที่เต็มล้นด้วยความสุขและความปรีดาเมื่อพระสันตะปาปา บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทรงได้รับข่าวและทรงพระดำเนินด้วยความเคร่งขรึมเพื่อไปขอบคุณพระเจ้าและเซนต์หลุยซ์”‘ Henry White, The Massacre of St. Bartholomew บทที่ 14 ย่อหน้าที่ 34 {GC 272.3}GCth17 236.3

    วิญญาณผู้บงการที่ชักนำอยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่วันเซนต์บาร์โทโลมิวเป็นวิญญาณเดียวกับที่ชักนำในการปฏิวัติ พวกเขาประกาศว่าพระเยซูคริสต์เป็นคนหลอกลวง และเสียงร้องเรียกของผู้ไม่เชื่อชาวฝรั่งเศสที่มาชุมนุมคือ “บดขยี้เจ้าตัวร้าย” นั้นหมายถึงพระคริสต์ คำหมิ่นประมาทพระเจ้าที่ท้าทายต่อสวรรค์และความชั่วที่น่ารังเกียจเกิดขึ้นคู่กันไป มีการเชิดชูคนต่ำช้าที่สุด คนทารุณโหดร้ายเยี่ยงสัตว์และความชั่วช้าที่สุดให้สูงส่ง ทั้งหมดนี้ทำเพื่อเทิดเกียรติอย่างสูงแก่ซาตาน ในขณะเดียวกันก็ตรึงพระคริสต์พร้อมกับพระลักษณะของพระองค์ผู้ทรงเป็นสัจธรรม ความบริสุทธิ์และความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวไว้บนกางเขนด้วย {GC 273.1}GCth17 237.1

    “สัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากบาดาลลึกก็จะต่อสู้กับเขา มันจะชนะและฆ่าเขาทั้งสองเสีย” อำนาจไม่เชื่อพระเจ้าที่ปกครองประเทศฝรั่งเศสในช่วงของการปฏิวัติและในยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวนั้นได้ทำสงครามต่อต้านพระเจ้าและพระวจนะศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์อย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ที่ประชุมสภาแห่งชาติล้มล้างการนมัสการพระเจ้า พระคัมภีร์ถูกรวบรวมและถูกนำไปเผาทิ้งในที่สาธารณะด้วยการแสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามทุกวิธีที่จะทำได้ พระบัญญัติของพระเจ้าถูกเหยียบย่ำอยู่ใต้เท้า สถาบันพระคัมภีร์ต่างๆ ถูกกำจัด วันพักผ่อนประจำสัปดาห์ถูกปัดทิ้งและตั้งทุกวันที่สิบขึ้นมาแทนเพื่ออุทิศให้กับการสำมะเลเทเมาและการหมิ่นประมาทพระเจ้า พิธีบัพติศมาและพิธีศีลมหาสนิทถูกสั่งห้าม คำประกาศต่างๆ ถูกติดอย่างสะดุดตาอยู่เหนือสถานที่ฝังศพประกาศให้รู้ว่าความตายเป็นการนอนหลับสนิทชั่วนิรันดร์ {GC 273.2}GCth17 237.2

    มีการกล่าวกันว่า ความยำเกรงพระเจ้านั้นห่างไกลเหลือเกินจากการเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความโง่เขลา มีการสั่งห้ามการนมัสการทางศาสนาทั้งหมดนอกจากที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและการประชุมของประเทศ “บิชอปของรัฐธรรมนูญแห่งกรุงปารีสถูกชักชวนให้เข้ามามีบทบาทสำคัญของการแสดงละครอันน่าขบขันของเรื่องโง่เขลาและอื้อฉาวที่สุดที่ไม่เคยแสดงมาก่อนในระดับชาติ.....ท่านถูกเชิญมาในขบวนเต็มยศเพื่อประกาศต่อหน้าที่ประชุมสภาว่าทุกแง่มุมของศาสนาที่ท่านสอนมาหลายปีนั้นเป็นวิชาหนึ่งของการบวชเป็นบาทหลวงซึ่งไม่มีพื้นฐานทั้งในประวัติศาสตร์หรือสัจธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ท่านบอกปัดด้วยคำพูดที่ขึงขังและแน่วแน่ถึงเรื่องการทรงดำรงอยู่ของพระเจ้าที่ท่านเคยเทิดทูนนมัสการนั้น และในภายภาคหน้าท่านจะอุทิศตนเพื่อการสักการะต่อเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน คุณความดีและศีลธรรม หลังจากนั้นท่านก็นำเครื่องประดับยศฝ่ายศาสนาของท่านออกมาวางบนโต๊ะและประธานของที่ประชุมสภาก็สวมกอดท่านฉันพี่น้อง บาทหลวงละทิ้งศาสนาหลายองค์ได้ทำตามแบบอย่างของพระราชาคณะท่านนี้” Scott เล่มที่ 1 บทที่ 17 {GC 274.1})GCth17 238.1

    “คนทั้งหลายที่อยู่บนแผ่นดินโลกจะยินดีด้วยเรื่องเขาทั้งสองและพวกเขาจะรื่นเริงและจะให้ของขวัญแก่กันและกัน เพราะว่าผู้เผยพระวจนะทั้งสองนี้ได้ทรมานคนทั้งหลายที่อยู่ในโลก” วิวรณ์ 11:10 ประเทศฝรั่งเศสที่ไม่เชื่อพระเจ้าได้ทำให้เสียงเตือนสติจากพยานสองท่านของพระเจ้าเงียบไป พระคำแห่งสัจธรรมนอนแน่นิ่งอยู่บนถนนของเธอและผู้ที่เกลียดชังข้อห้ามและข้อกำหนดของพระบัญญัติของพระเจ้าพากันโห่ร้องด้วยด้วยความมีชัย มนุษย์ขัดขืนพระราชาแห่งสรวงสวรรค์อย่างเปิดเผย พวกเขาร้องเช่นเดียวกับคนบาปในอดีตว่า “พระเจ้าทรงทราบได้อย่างไร พระเจ้าผู้สูงสุดมีความรู้หรือ” สดุดี 73:11 {GC 274.2}GCth17 238.2

    ด้วยการหมิ่นประมาทพระเจ้าอย่างอาจหาญเหลือเชื่อ บาทหลวงองค์หนึ่งขององค์กรใหม่พูดว่า “พระเจ้า หากพระองค์ทรงดำรงอยู่ขอจงล้างแค้นให้กับพระนามที่เสื่อมเสียไปของพระองค์ เราขอท้าทายพระองค์ พระองค์ยังทรงนิ่งเฉย พระองค์ไม่กล้าที่จะตรัสสั่งให้ฟ้าร้องฟาดลงมา แล้วภายหลังจากนี้ใครเล่าจะเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่” Lacretelle, History เล่มที่ 11 หน้าที่ 309 ใน Sir Archibald Alison, History of Europe เล่มที่ 1 บทที่ 10 นี่เป็นเสียงสะท้อนของคำพูดฟาโรห์อย่างแน่แท้ทีเดียวที่ว่า “พระยาห์เวห์นั้นเป็นใครเล่า เราจึงจะต้องฟังเสียงของพระองค์” ” เราไม่รู้จักพระยาห์เวห์” {GC 274.3}GCth17 238.3

    “คนโง่รำพึงในใจตนว่าไม่มีพระเจ้า” สดุดี 14:1 และพระเจ้าทรงเปิดเผยถึงผู้บิดเบือนความจริงว่า “ความโง่ของพวกเขาจะปรากฏต่อทุกคน” 2 ทิโมธี 3:9 หลังจากที่ประเทศฝรั่งเศสประกาศเลิกนมัสการพระเจ้าผู้ทรงชนม์ ผู้ทรงเป็น “องค์ผู้สูงเด่นและสูงส่ง ผู้ทรงดำรงอยู่นิรันดร์” อิสยาห์ 57:15 เวลาผ่านไปเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งเธอดิ่งต่ำลงสู่การกราบบูชารูปเคารพด้วยการบูชาเทพธิดาแห่งเหตุผลในร่างของหญิงเสเพลไร้ศีลธรรมจรรยาคนหนึ่งและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนของประเทศและโดยอำนาจสูงสุดของฝ่ายปกครองและฝ่ายนิติบัญญัติ นักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า “มีอยู่พิธีหนึ่งของยุควิกลจริตนี้ที่ครองความเบาปัญญาบวกกับความไม่เคร่งครัดทางศาสนาอย่างไร้คู่แข่ง ประตูของห้องประชุมสภาเปิดกว้างให้กับขบวนนักดนตรี ซึ่งนำหน้าด้วยบรรดาสมาชิกของสภาการปกครองเทศบาลซึ่งเดินตามกันมาเป็นขบวนด้วยอาการเคร่งขรึมพร้อมกับร้องเพลงสรรเสริญให้เกียรติแก่เสรีภาพ และมาพร้อมกับสตรีเพศที่มีผ้าคลุมหน้าในฐานะเป้าหมายของการสักการะบูชาในอนาคตของพวกเขา ซึ่งพวกเขาตั้งสมญานามให้เธอว่าเทพธิดาแห่งเหตุผล [Goddess of Reason] เมื่อขบวนเข้ามายังบริเวณหน้าห้องแล้ว ก็ทำพิธียิ่งใหญ่เปิดผ้าคลุมหน้าของเธอออกและนำไปตั้งอยู่ข้างขวาของประธาน คนทั่วไปจำหน้าตาเธอได้ว่าเป็นนักเต้นระบำของโรงโอเปร่า.......ที่ประชุมสภาแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศสเทิดเกียรติอย่างเปิดเผยแก่บุคคลผู้นี้ว่าเป็นตัวแทนที่เหมาะสมที่สุดของเหตุผลที่สาธารณชนสมควรต้องกราบไหว้บูชา {GC 275.1}GCth17 239.1

    “ พิธีกรรมน่าขบขันที่ไม่น่าเคารพและเหลวไหลนี้เป็นที่ยอมรับกันอยู่บ้างและตลอดทั่วทั้งประเทศมีการเลียนแบบการประกอบพิธีเทพธิดาแห่งเหตุผล ประชาชนของท้องถิ่นเหล่านี้มีความปรารถนาที่จะแสดงว่าตนเองเท่าเทียมกับจุดสูงสุดของการปฏิวัติ” Scott เล่มที่ 1 บทที่ 17 {GC 275.2}GCth17 239.2

    พิธีกรคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่แนะนำพิธีบูชาเทพธิดาแห่งเหตุผลกล่าวว่า “สมาชิกกฤษฎีกาแห่งชาติทั้งหลาย ความคลั่งไคล้ศาสนาหลีกทางให้กับเหตุผลแล้ว ตาที่พร่ามัวทนมองความเจิดจ้าของแสงไม่ได้ วันนี้มีฝูงชนขนาดใหญ่มาชุมนุมกันภายใต้หลังคาทรงโกทิธ [ตึกทรงเยอรมัน] เหล่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สะท้อนเสียงแห่งความจริง ที่นั่นชาวฝรั่งเศสฉลองการนมัสการที่แท้จริงซึ่งคือเทพธิดาแห่งเสรีภาพ ซึ่งคือเทพธิดาของเหตุผล ที่นั่นพวกเราได้สรุปความตั้งใจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในส่วนต่างๆ ของประเทศ ที่นั่นพวกเราได้ละทิ้งรูปเคารพที่ไม่มีชีวิตเพื่อแลกกับเทพธิดาแห่งเหตุผล รูปเคารพที่มีชีวิตซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของธรรมชาติ” M. A. Thiers, History of the French Revolution เล่มที่ 2 หน้า 370, 371 {GC 275.3}GCth17 239.3

    เมื่อพวกเขานำเทพธิดามาถึงที่ห้องประชุมสภาแล้ว นักพูดคนนี้จูงมือเธอและหันไปยังที่ประชุมและพูดว่า “เพื่อนมนุษย์มตะทั้งหลาย ต่อแต่นี้ให้พวกท่านหยุดสั่นกลัวต่อหน้าเสียงฟ้าร้องที่ไร้อำนาจของพระเจ้าผู้ซึ่งความกลัวของตัวท่านได้จินตนาขึ้นมาเอง จงอย่ายอมรับพระเจ้า ให้ยอมรับแต่เหตุผล ข้าพเจ้าขอเสนอรูปบูชาประเสริฐและบริสุทธิ์แก่ท่าน หากท่านต้องการรูปเคารพบูชา ให้กราบบูชารูปนี้เท่านั้น.....ก้มกราบลงต่อหน้าสภาสูงสุดแห่งเสรีภาพที่น่าเคารพยิ่ง โอ ม่านแห่งเหตุและผล” {GC 276.1}GCth17 240.1

    “ หลังจากประธานกอดเทพธิดาแล้ว พวกเขาก็ยกเธอขึ้นประดับในรถที่หรูหราและนำขบวนเคลื่อนไปท่ามกลางฝูงชนมากมาย มุ่งหน้าไปยังโบสถ์ปราสาทโนธาเดมเพื่อเข้าแทนที่เทพเจ้า ยกชูเธอขึ้นสูงไว้บนแท่นบูชาที่นั่นและรับการยกย่องจากผู้ที่อยู่ที่นั่น” Alison เล่มที่ 1 บทที่ 10 {GC 276.2}GCth17 240.2

    ไม่นานต่อมา เหตุการณ์ที่ตามมาคือการเผาพระคัมภีร์ในที่สาธารณะ มีอยู่ครั้งหนึ่ง “สมาคมป๊อบปูล่าแห่งพิพิธภัณฑ์” ได้ก้าวเข้ามายังเทศบาลนครร้องด้วยเสียงอันดังว่า “ขอให้เหตุผลจงเจริญ” [Vive la Raison] และถือเสาไม้ที่บนยอดปักด้วยซากหนังสือหลายเล่มที่เผาไหม้ไปเป็นบางส่วน ในบรรดาหนังสือเหล่านี้มีหนังสือสังฆวัตร [เป็นหนังสือคู่มืออธิษฐานประจำวันซึ่งประกอบด้วยคำอธิษฐาน เพลงนมัสการ เพลงสดุดีและหัวข้อสำหรับอ่านซึ่งใช้กันเป็นประจำในคณะนักบวชสำคัญๆ] ตำราสวดมนต์และพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่ง “ชดใช้บาปไปแล้วในกองไฟสำหรับเรื่องตลกทั้งหลายที่บังคับให้มนุษยชาติหลงงมงาย” Journal of Paris, 1793, No. 318 อ้างใน Buchez-Roux, Collection of Parliamentary History เล่มที่ 30 หน้า 200, 201 {GC 276.3}GCth17 240.3

    หลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีเป็นผู้เริ่มงานที่คนไม่เชื่อพระเจ้าได้ดำเนินสานต่อจนสำเร็จ นโยบายของโรมเป็นผู้วางข้อกำหนดทั้งในด้านสังคม ด้านการเมืองและด้านศาสนา เพื่อเร่งให้ประเทศฝรั่งเศสดิ่งลงสู่หายนะ นักเขียนเมื่ออ้างอิงถึงความโหดร้ายของการปฏิวัติครั้งนี้ได้กล่าวว่า เรื่องเลยเถิดเหล่านี้จะต้องกล่าวโทษไปที่ราชวงศ์และคริสตจักร (โปรดดูภาคผนวก) หากต้องการความยุติธรรมที่แท้จริงแล้วจะต้องกล่าวโทษคริสตจักร หลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีวางยาพิษใส่ลงในความคิดของกษัตริย์ทั้งหลายเพื่อให้ต่อต้านการปฏิรูปศาสนา ว่าพวกคนเหล่านี้เป็นศัตรูต่อราชวงศ์ เป็นองค์ประกอบของความขัดแย้งที่จะส่งผลแห่งความตายต่อสันติสุขและความปรองดองกันของประชาชาติ มันเป็นเล่ห์เหลี่ยมของโรมที่ใช้วิธีนี้เพื่อบันดาลให้เกิดความโหดเหี้ยมโดยตรงและการกดขี่ที่น่ากลัวที่สุดออกมาจากราชบัลลังก์ {GC 276.4}GCth17 240.4

    วิญญาณแห่งเสรีภาพเคลื่อนไปด้วยกันกับพระคัมภีร์ ไม่ว่าที่ใดก็ตามที่ยอมรับพระกิตติคุณ สมองของประชาชนก็จะตื่น พวกเขาเริ่มสลัดทิ้งโซ่ตรวนที่ผูกมัดพวกเขาเยี่ยงทาสของความรู้ไม่เท่าทัน ความชั่วและความเชื่อทางไสยศาสตร์ พวกเขาเริ่มคิดและดำเนินชีวิตอย่างมนุษย์ บรรดาพระราชาทรงเห็นและอกสั่นขวัญหายกับการกดขี่ของพวกพระองค์ {GC 277.1}GCth17 241.1

    โรมไม่รีรอที่จะสุมไฟแห่งความกลัวอันน่าอิจฉาของพวกเขาให้โหมแรงขึ้น พระสันตะปาปาตรัสกับผู้สำเร็จราชการของประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1525 ว่า “พวกคนบ้าคลั่งเหล่านี้ [หมายถึงพวกที่สนับสนุนโปรเตสแตนต์] จะไม่เพียงทำให้เกิดความสับสนและทำลายศาสนาเท่านั้น แต่จะทำลายทั้งอาณาจักร ความดีประเสริฐ กฎหมาย ความเป็นระเบียบและฐานันดรศักดิ์ด้วย” G. de Felice, History of the Protestants of France เล่มที่ 1 บทที่ 2 ย่อหน้าที่ 8 สองสามปีต่อมา มีคำสั่งจากระบอบเปปาซีออกมาเตือนพระราชาว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงอย่าถูกหลอก พวกโปรเตสแตนต์จะก่อกวนความเป็นระเบียบทั้งหมดของฝ่ายปกครองทางการเมืองและของศาสนาด้วย......ราชบัลลังก์ก็ตกอยู่ภายใต้อันตรายที่พอๆ กับแท่นบูชา.....การนำศาสนาใหม่เข้ามาจำเป็นต้องนำการปกครองใหม่เข้ามาด้วย” D’Aubigne, History of the Reformation in Europe in the Time of Calvin เล่มที่ 2 บทที่ 36 และนักศาสนศาสตร์ร้องขอความฝักใฝ่ของประชาชนด้วยการประกาศว่าหลักคำสอนของพวกโปรเตสแตนต์ “ชักนำคนไปในทางผิดมุ่งสู่ของใหม่และความเขลา มันปล้นความรักของประชาราษฎร์ที่อุทิศถวายแด่พระราชาและทำลายทั้งคริสตจักรและรัฐ” ด้วยวิธีนี้โรมประสบความสำเร็จในการชักนำประเทศฝรั่งเศสเข้าต่อต้านการปฏิรูปศาสนา “ดาบของการกดขี่ข่มเหงชักออกจากฝักเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสเพื่อยกชูราชบัลลังก์ ปกปักรักษาไว้ซึ่งคุณงามความดีและรักษากฎหมายให้ยั่งยืน” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 4 {GC 277.2}GCth17 241.2

    ผู้ปกครองแผ่นดินคาดไม่ถึงแม้เพียงแต่น้อยว่าผลลัพธ์ของนโยบายที่ตัดสินจุดจบของประเทศจะออกมาเป็นเช่นนั้น คำสอนของพระคัมภีร์ควรจะได้ฝังหลักการแห่งความยุติธรรม การประมาณตน สัจธรรม ความเสมอภาคและความโอบอ้อมอารีลงในสมองและหัวใจของประชาชนซึ่งล้วนเป็นศิลามุมเอกที่จะนำให้ประเทศรุ่งเรือง “ความชอบธรรมย่อมเชิดชูประชาชาติ” ดังนั้น “พระที่นั่งนั้นถูกสถาปนาไว้” สุภาษิต 14:34; 16:12 “ผลงานของความชอบธรรมจะเป็นสันติสุข และผลลัพธ์ของความชอบธรรมคือความเงียบสงบและความวางใจเป็นนิตย์” อิสยาห์ 32:17 ผู้ที่ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้าจะเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศของเขาอย่างแน่แท้ ผู้ที่ยำเกรงพระเจ้าจะเทิดเกียรติพระราชาในอำนาจการปกครองที่ยุติธรรมและชอบด้วยกฎหมาย แต่ประเทศฝรั่งเศสที่ไม่มีความสุขได้สั่งห้ามพระคัมภีร์และประกาศห้ามการมีสาวกของพระคัมภีร์ ศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า บุคคลที่มีหลักการและจริยธรรม บุคคลที่มีปัญญาเฉียบแหลมและพลังศีลธรรมที่เข้มแข็ง ผู้ที่กล้าปฏิญาณต่อการตัดสินใจและความเชื่อของตนที่จะทนทุกข์เพื่อสัจธรรม เป็นเวลาหลายศตวรรษที่คนเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานตกเป็นทาสในเรือของชาวโรมัน สาบสูญที่หลักประหารหรือเปื่อยเน่าในคุกมืดใต้ดิน คนหลายพันพบความปลอดภัยด้วยการอพยพหนี และเหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองร้อยห้าสิบปีนับจากการปฏิรูปศาสนาได้เปิดฉากขึ้น {GC 277.3}GCth17 241.3

    ในช่วงเวลาอันยาวนานนี้ แทบจะไม่มีชาวฝรั่งเศสสักรุ่นหนึ่งที่ไม่เคยเห็นสาวกของพระกิตติคุณหนีตายเพื่อเอาตัวรอดต่อหน้าความโกรธอย่างบ้าคลั่งของผู้กดขี่ และพวกเขานำสติปัญญา ศิลปะ ความขยันและความเป็นระเบียบติดตัวไปด้วย—ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้วพวกเขาดีเลิศอย่างเด่นชัดอยู่แต่ก่อน—เพื่อไปสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศที่พวกเขาไปลี้ภัยได้ และในสัดส่วนที่พวกเขาเติมของประทานคุณภาพดีเลิศเหล่านี้ให้แก่ประเทศที่ไปลี้ภัย พวกเขาก็ทำให้ประเทศของตนขาดของประทานเหล่านี้ไปในสัดส่วนเดียวกัน หากคนทั้งหมดที่บัดนี้ถูกขับออกไปยังคงอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแล้ว หากในช่วงเวลาสามร้อยปีนี้ ทักษะในด้านอุตสาหกรรมของผู้ถูกเนรเทศถูกนำมาทำไร่เพาะปลูกในดินแดนของเธอ หากในช่วงเวลาสามร้อยปีนี้ ความสามารถทางศิลปะถูกนำมาพัฒนาผลผลิตของเธอ หากในช่วงเวลาสามร้อยปีนี้ อัจฉริยะด้านการสร้างสรรค์และพลังการวิเคราะห์ถูกนำมาทำให้วรรณคดีของเธอรุ่งเรืองและปรับปรุงวิทยาศาสตร์แล้ว หากสติปัญญาของพวกเขาถูกนำมาใช้ในการให้คำปรึกษาแก่สภาแล้ว ความกล้าหาญในการต่อสู้สงครามของเธอ ความเท่าเทียมในการร่างกฎหมายของเธอและให้ศาสนาของพระคัมภีร์เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับปัญญาและควบคุมจิตสำนึกของประชากรของเธอแล้ว ในวันนี้ ประเทศฝรั่งเศสจะล้อมรอบด้วยความเจริญรุ่งเรืองแจ่มจรัสเพียงไร เธอน่าจะได้เป็นประเทศยิ่งใหญ่ ร่ำรวยและมีสุขมากเพียงไร เธอน่าจะเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นมากเพียงไร {GC 278.1}GCth17 242.1

    “แต่ความดื้อรั้นดันทุรังอย่างหลับหูหลับตาและไม่ยอมผ่อนปรนได้ขับไล่ครูผู้มีคุณธรรมดีทุกคน ผู้มีระเบียบวินัยสูงทุกคน ผู้ปกป้องราชบัลลังก์อย่างซื่อสัตย์ทุกคนออกไปจากแดนดินของเธอ พวกเขาพูดกับคนเหล่านี้ซึ่งน่าจะทำให้ประเทศของตนเป็นประเทศที่ ‘มีชื่อเสียงและโชติช่วงชัชวาล’ ในโลกนี้ว่า จงเลือกสิ่งที่ท่านต้องการ เสาประหารเผาทั้งเป็นหรือถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ในที่สุดความหายนะของประเทศได้สำเร็จบริบูรณ์ ไม่หลงเหลือจิตสำนึกให้พวกเขาประณาม ไม่มีศาสนาที่จะให้ลากไปยังเสาประหารเผาทั้งเป็นอีกแล้ว ไม่มีผู้รักชาติที่จะให้ขับไล่เนรเทศอีกต่อไป” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 20 และทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์อันร้ายกาจของการปฏิวัติที่มาพร้อมกับความโหดเหี้ยม {GC 279.1}GCth17 242.2

    “การอพยพหนีภัยของพวกฮิวโกน็อทส์มาพร้อมกับความตกต่ำที่แผ่ไปทั่วประเทศฝรั่งเศส เมืองผลิตที่เคยรุ่งเรืองเสื่อมลง มณฑลที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับไปสู่ความรกร้างแบบท้องถิ่นดั้งเดิม ความเฉื่อยทางปัญญาและความเสื่อมถอยลงทางศีลธรรมตามต่อมาจากช่วงเวลาของความเจริญที่ผิดธรรมดา กรุงปารีสกลายเป็นโรงทานขนาดใหญ่ที่เลี้ยงคนยากจนและมีการคาดว่าในช่วงเวลาที่การปฏิวัติเปิดฉากมีขอทานสองแสนคนไปยื่นขอการสงเคราะห์จากพระหัตถ์ของพระราชา มีเพียงนักบวชเยสุอิตเท่านั้นที่รุ่งเรืองอยู่ในประเทศที่ผุพังและปกครองโบสถ์และโรงเรียน เรือนจำและเรือโรมันอย่างเผด็จการอำมหิต” {GC 279.2}GCth17 242.3

    ข่าวประเสริฐน่าจะนำคำตอบมาให้แก่ปัญหาทางการเมืองและทางสังคมเหล่านั้นที่สร้างความสับสนแก่ความสามารถของคณะสงฆ์ พระราชาและผู้ร่างกฎหมายของเธอและในที่สุดได้นำประเทศดิ่งลงสู่อนาธิปไตยและความพินาศ แต่ภายใต้การครอบงำของโรม ประชาชนสูญเสียบทเรียนประเสริฐแห่งการเสียสละตนเองและความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวของพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา พวกเขาถูกนำพาออกไปจากการเสียสละความต้องการของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่มีการตำหนิคนร่ำรวยที่กดขี่คนยากจนและคนยากจนไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือความเห็นใจจากการเป็นทาสและความต่ำต้อย ความเห็นแก่ตัวของคนร่ำรวยและคนมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นและกดขี่ข่มเหงมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นเวลานับศตวรรษ ความโลภและความสำมะเลเทเมาของพวกขุนนางส่งผลให้เกิดการข่มขู่อย่างทารุณต่อชาวชนบท คนร่ำรวยกระทำผิดต่อคนยากจนและคนยากจนเกลียดชังคนร่ำรวย {GC 279.3}GCth17 243.1

    ในหลายจังหวัด พวกขุนนางต่างๆ จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครองที่ดินและคนชนชั้นแรงงานจะเป็นผู้เช่า พวกเขาอยู่ภายใต้ความเมตตาของเจ้าของที่และถูกบังคับให้จำนนอยู่ใต้ข้อเรียกร้องที่รุนแรง ภาระในการสนับสนุนทั้งคริสตจักรและรัฐตกอยู่กับชนชั้นกลางและชนชั้นต่ำลงมา พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและคณะสงฆ์เรียกเก็บภาษีอย่างหนัก “ความผาสุกของพวกผู้ดีจะต้องถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุด ชาวนาและคนชนบทอาจต้องอดอยาก โดยที่ผู้กดขี่ไม่สนใจใยดีในสิ่งใดเลย.........ทุกย่างก้าวของประชาชนถูกบังคับให้เข้าไปปรึกษาเพื่อให้ประโยชน์แก่นายทุนเจ้าของที่ ทุกย่างก้าวของชีวิตคนงานเกษตรกรรมเป็นชีวิตที่มีแต่การทำงานตรากตรำและความทุกข์ระทมที่ไม่มีการบรรเทา หากกล้าที่จะบ่นร้องทุกข์ คำร้องทุกข์เหล่านั้นจะได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกเหยียดหยาม ศาลยุติธรรมจะฟังคำให้การของผู้ดีมากกว่าของชาวชนบท ผู้พิพากษารับสินบนอย่างเปิดเผย ความต้องการตามอำเภอใจของพวกขุนนางถือว่ามีอำนาจตามกฎหมายโดยอาศัยประโยชน์ของระบบทุจริตที่แพร่หลายเช่นนี้ ในจำนวนภาษีที่ขูดรีดได้จากคนธรรมดาซึ่งส่วนหนึ่งขูดรีดโดยผู้มีอิทธิพลทางโลกและอีกส่วนโดยพวกคณะสงฆ์นั้น ไม่มีแม้แต่เพียงครึ่งหนึ่งตกไปสู่กองคลังของราชวังหรือของฝ่ายศาสนาเลย ที่เหลือถูกยักยอกไปใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อสนองตัณหาของตน และพวกที่ขูดรีดพลเมืองเพื่อนร่วมชาติเหล่านี้ยังได้รับการยกเว้นการชำระภาษีและได้รับสิทธิลดหย่อนทั้งหมดที่ชอบด้วยระเบียบของกฎหมายและประเพณีตามที่รัฐกำหนดด้วย คนที่อยู่ในชนชั้นพิเศษมีอยู่หนึ่งแสนห้าหมื่นคนและสนองความต้องการของการตามใจตนเองของพวกเขา คนเป็นล้านถูกตัดสินด้วยชีวิตที่สิ้นหวังและตกต่ำ” (โปรดดูภาคผนวก) {GC 279.4}GCth17 243.2

    ฝ่ายการปกครองปล่อยตัวให้กับความสุขสำราญและความเสเพล ความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนกับพวกผู้ปกครองมีอยู่เพียงเล็กน้อย ความระแวงสงสัยฝังแน่นอยู่ในทุกมาตรการของฝ่ายการปกครองซึ่งส่อให้เห็นถึงความมุ่งร้ายและเห็นแก่ตัว เป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษก่อนการปฏิวัติที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงครองราชย์อยู่ แม้ในเวลาที่ชั่วช้าเหล่านั้น พระราชาองค์นี้ยังทรงโดดเด่นในเรื่องของความเกียจคร้าน เหลาะแหละและมักมากในกาม ด้วยคนชั้นสูงที่ชั่วช้าและโหดร้ายและคนชนชั้นต่ำที่ยากจนและรู้ไม่เท่าทันเช่นนี้ รัฐบาลทำผิดพลาดในเรื่องการเงินและประชาชนฉุนเฉียวโกรธแค้น เป็นสภาพที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตาของผู้พยากรณ์ก็สามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่าจะมีการปะทุที่น่ากลัวเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เมื่อที่ปรึกษาให้คำเตือน พระราชามักตรัสตอบอย่างคุ้นเคยว่า “พยายามทำเรื่องให้ดำเนินไปได้ตราบเท่าที่ฉันมีชีวิตอยู่ หลังจากฉันตายแล้วก็ให้เป็นไปตามทางของมัน” เป็นเรื่องไม่เกิดผลที่จะเร่งเร้าให้มีการปฏิรูป พระองค์ทรงมองเห็นความชั่วแต่ไม่มีทั้งความกล้าหรือกำลังที่จะเผชิญกับมัน วาระสุดท้ายที่กำลังรอคอยฝรั่งเศสนั้น คำตอบอย่างคนเกียจคร้านและเห็นแก่ตัวของพระองค์สะท้อนให้เห็นภาพได้อย่างจริงแท้ “หลังจากฉัน น้ำค่อยท่วมก็แล้วกัน” {GC 280.1}GCth17 244.1

    โดยการบีบจุดอ่อนที่ความอิจฉาของพระราชาและของชนชั้นปกครอง โรมใช้อิทธิพลเพื่อทำให้พวกเขาจับประชาชนไว้ใต้พันธะผูกมัดโดยรู้ดีว่าด้วยการทำเช่นนี้บ้านเมืองจะอ่อนแอลงและโดยวิธีนี้จะจับทั้งฝ่ายปกครองและประชาชนไว้ใต้อาณัติของเธอได้ ด้วยนโยบายของสายตาที่มองการณ์ไกล เธอประจักษ์ดีว่า เพื่อผูกมัดมนุษย์ให้เป็นทาสอย่างได้ผลนั้นจะต้องผูกโซ่ตรวนไว้ที่จิตวิญญาณของพวกเขา และวิธีแน่นอนที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้พวกเขาหนีพันธะผูกมัดของพวกเขาคือ การทำให้พวกเขาไม่มีเสรีภาพ ความโหดร้ายที่รุนแรงกว่าความทุกข์ทรมานทางกายถึงพันเท่าที่เป็นผลมาจากนโยบายของเธอก็คือ ความเสื่อมทางศีลธรรม ประชาชนถูกกีดกันไม่ให้มีพระคัมภีร์และถูกทิ้งให้อยู่กับคำสอนของความดันทุรังและความเห็นแก่ตัว พวกเขาจึงถูกห่อหุ้มอยู่ในความรู้ไม่เท่าทันและความเชื่อทางไสยศาสตร์และจมอยู่ในความชั่วซึ่งทำให้พวกเขาไม่เหมาะที่จะปกครองตนเองอย่างสิ้นเชิง {GC 281.1}GCth17 244.2

    แต่ผลที่ออกมาทั้งหมดนั้นช่างแตกต่างอย่างมากจากสิ่งที่โรมมุ่งหมายไว้ แทนที่จะกำฝูงชนไว้อย่างงมงายภายใต้คำสอนของเธอ ผลงานของเธอกลับทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ไม่เชื่อศาสนาและเป็นนักปฏิวัติ พวกเขาดูหมิ่นลัทธิโรมันว่าเป็นวิชาคาถานักบวช พวกเขามองว่าคณะสงฆ์เป็นพรรคที่กดขี่พวกเขา พระเจ้าองค์เดียวที่พวกเขารู้จักก็คือพระเจ้าของโรม คำสอนของพระเจ้านี้เป็นศาสนาเดียวของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาถือว่าความโลภและความโหดเหี้ยมของโรมเป็นผลอันชอบด้วยเหตุของพระคัมภีร์ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ต้องการมีส่วนในสิ่งเหล่านี้เลย {GC 281.2}GCth17 244.3

    โรมนำเสนอพระลักษณะของพระเจ้าอย่างผิดๆ และบิดเบือนข้อกำหนดของพระองค์และบัดนี้มนุษย์ไม่ยอมรับทั้งพระคัมภีร์และพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของพระคัมภีร์ โรมกำหนดว่าคำสอนของเธอต้องใช้ความงมงายภายใต้ความเห็นชอบอย่างเสแสร้งของพระคัมภีร์ ในการตอบสนองเรื่องนี้ วอลแตร์ [Voltaire] และพรรคพวกโยนทิ้งพระวจนะของพระเจ้าไปและกระจายพิษแห่งความไม่เชื่อไปทุกแห่งหนแทน โรมบดขยี้ประชาชนให้อยู่ใต้ส้นเท้าเหล็กของเธอจนติดดินไปแล้วและบัดนี้ฝูงชนนั้นเสื่อมทรามและถูกทารุณกรรมเยี่ยงสัตว์ และในการตอบโต้ความโหดเหี้ยมนี้พวกเขาได้โยนการยับยั้งชั่งใจทั้งหมดทิ้งไป พวกเขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟกับการหลอกลวงอันระยิบระยับที่หลงเทิดทูนมาเป็นเวลาช้านาน พวกเขาไม่ยอมรับทั้งสัจธรรมและความเท็จ และการสำคัญผิดถึงอิสระในเสรีภาพ ทาสของความชั่วร้ายจึงปีติยินดีในอิสรภาพที่คาดคิดเอาเองของพวกเขา {GC 281.3}GCth17 244.4

    ในตอนต้นของการปฏิวัติ ประชาชนได้รับพระบรมราชานุญาตให้มีตัวแทนในจำนวนที่มากกว่าขุนนางและผู้นำศาสนารวมกัน ดังนั้นดุลอำนาจจึงตกอยู่ในมือของพวกเขา แต่พวกเขาไม่พร้อมที่จะใช้สิ่งนี้ด้วยปัญญาและความพอดี พวกเขากระตือรือร้นที่จะแก้ไขความผิดพลาดที่พวกเขาเคยทนทุกข์ทรมานมา พวกเขาตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะสร้างสังคมใหม่ ประชาชนที่เคียดแค้น ในความคิดของพวกเขาฝังอยู่กับความขมขื่นและความทรงจำของการถูกรังแกที่ถนอมเก็บมานาน ตัดสินใจที่จะปฏิวัติสภาพของความเศร้าที่ลุกลามใหญ่โตจนสุดทนได้และแก้แค้นผู้ที่พวกเขาถือว่าเป็นต้นกำเนิดของความทุกข์ให้กับตนเอง คนที่ถูกกดขี่นำบทเรียนที่ได้รับขณะที่ถูกกดขี่มาใช้และกลายเป็นผู้กดขี่คนที่เคยกดขี่พวกเขา {GC 282.1}GCth17 245.1

    ประเทศฝรั่งเศสที่ไร้ความสุขจึงเก็บเกี่ยวเลือดจากผลที่เธอหว่าน เป็นผลลัพธ์จากการที่เธอยอมไปอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจของโรมอันน่ากลัว ประเทศฝรั่งเศสภายใต้อิทธิพลของโรมได้ปักหลักประหารเผาทั้งเป็นต้นแรกขึ้นเมื่อตอนเปิดฉากการปฏิรูปศาสนา และที่แห่งเดียวกันนั้นยังได้ตั้งกิโยตีน เครื่องแรกขึ้นมาเมื่อตอนเปิดฉากการปฏิวัติด้วยเช่นกัน ณ จุดเดียวกันกับที่ผู้ยอมพลีชีพเพื่อความเชื่อของโปรเตสแตนต์คนแรกถูกเผาในศตวรรษที่สิบหก เหยื่อคนแรกก็ถูกคมมีดกิโยตีนในศตวรรษที่สิบแปดที่นี่ด้วยเช่นกัน ด้วยการขับไล่ข่าวประเสริฐที่น่าจะนำการรักษามาให้เธอ ฝรั่งเศสกลับเปิดประตูให้กับความไม่เชื่อพระเจ้าและความพินาศ เมื่อการควบคุมของพระบัญญัติของพระเจ้าถูกสลัดทิ้งไป ผลที่ปรากฏออกมาก็คือกฎหมายของมนุษย์นั้นไม่พอที่จะขวางกั้นคลื่นลมตัณหาของมนุษย์ และประเทศถูกต้อนเข้าไปสู่การปฏิวัติและความโกลาหล สงครามต่อสู้กับพระคัมภีร์เปิดฉากให้กับยุคหนึ่งซึ่งจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของโลกว่าเป็นยุคแห่งการปกครองอันหฤโหด สันติภาพและความสุขถูกกำจัดออกไปจากบ้านและหัวใจของมนุษย์ ไม่มีผู้ใดมีความมั่นคง ผู้ที่ได้รับชัยชนะในวันนี้จะถูกระแวงสงสัยและถูกกำหนดโทษในวันรุ่งขึ้น ความรุนแรงและความชั่วช้าลามกมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายอย่างไม่มีการขัดขวาง {GC 282.2}GCth17 245.2

    พระมหากษัตริย์ นักบวช และขุนนางถูกบังคับให้ยอมจำนนต่อความโหดเหี้ยมของประชาชนที่ตื่นเต้นและบ้าคลั่ง ความกระหายการแก้แค้นของพวกเขาเพียงแต่ถูกกระตุ้นขึ้นด้วยการประหารพระมหากษัตริย์ และในไม่ช้าพวกที่ออกคำสั่งแห่งความตายของพระองค์ก็เดินตามพระองค์ไปยังตะแลงแกง มีการสังหารหมู่ทุกคนที่สงสัยว่าเป็นศัตรูต่อการปฏิวัติ เรือนจำแออัด บางครั้งมีผู้ต้องขังถึงสองแสนคน เมืองใหญ่ของราชอาณาจักรเต็มไปด้วยภาพอันน่าสยดสยอง พรรคหนึ่งของนักปฏิวัติต่อสู้กับอีกพรรคหนึ่งและประเทศฝรั่งเศสกลายเป็นสนามใหญ่ของความขัดแย้งของฝูงชนที่ถูกซัดไปเซมาด้วยไฟของราคะตัณหาของพวกเขาเอง “ในกรุงปารีส การจลาจลเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกตามกันมา และประชาชนแตกออกเป็นเสี้ยวเล็กเสี้ยวน้อยที่ดูเหมือนว่าไม่มีจุดประสงค์ใดนอกจากการทำลายล้างกันเอง” และเพื่อซ้ำเติมความทุกข์ให้กับตัวเอง ประเทศได้ประกาศเข้าร่วมสงครามอันยืดเยื้อและทำลายล้างกับอำนาจยิ่งใหญ่ของยุโรป “ประเทศแทบจะล้มละลาย กองทัพส่งเสียงเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย คนในกรุงปารีสกำลังอดอยาก ต่างจังหวัดถูกทิ้งร้างเพราะการปล้นสะดมและอารยธรรมแทบสูญสิ้นไปในความสับสนอลหม่านและปราศจากศีลธรรม” {GC 283.1}GCth17 245.3

    ประชาชนเรียนรู้อย่างดีเกินพอจากบทเรียนของความโหดเหี้ยมและการทารุณกรรมที่โรมเพียรสอนอย่างขันแข็ง ในที่สุดวันแห่งความทุกข์เข็ญก็มาถึง ไม่ใช่เป็นเวลานี้ที่สาวกของพระเยซูถูกโยนเข้าไปในคุกใต้ดินและลากไปหลักประหาร คนเหล่านี้พินาศหรือถูกขับเนรเทศออกไปนานแล้ว บัดนี้โรมผู้ไม่ยอมผ่อนปรนรู้สึกถึงอำนาจแห่งความตายของผู้ที่เธอได้ฝึกให้ชื่นชมพฤติกรรมกระหายเลือด “แบบอย่างการกดขี่ที่พวกนักบวชชาวฝรั่งเศสแสดงออกมาหลายชั่วอายุคนบัดนี้ย้อนกลับมายังพวกเขาเองด้วยความรุนแรงเข้มข้น ตะแลงแกงแดงด้วยเลือดของบรรดาบาทหลวง เรือโรมันและเรือนจำที่ครั้งหนึ่งแออัดด้วยพวกฮิวโกน็อทส์นั้นบัดนี้เต็มไปด้วยผู้ที่กดขี่ข่มเหงพวกเขา พวกนักบวชชาวโรมันคาทอลิกถูกล่ามโซ่ติดกับที่นั่งและตรากตรำอยู่กับการกรรเชียง พวกเขาประสบกับความทุกข์ทั้งหมดที่คริสตจักรของพวกเขากระทำอย่างไม่ยั้งต่อคนนอกศาสนาที่สุภาพอ่อนน้อม” {GC 283.2}GCth17 245.4

    “แล้ววันเหล่านั้นก็มาถึงเมื่อศาลชำระความที่โหดเหี้ยมที่สุดนำกฎระเบียบที่ป่าเถื่อนที่สุดมาใช้ เมื่อไม่มีผู้ใดกล้าทักทายเพื่อนบ้านของเขาหรือกล้าอธิษฐาน.........โดยที่ไม่ตกอยู่ในอันตรายของการทำผิดที่มีโทษถึงตาย เมื่อนักสืบแอบซุ่มอยู่ทุกมุม เมื่อกิโยตีนทำงานนานและหนักทุกเช้า เมื่อเรือนจำขังผู้ต้องโทษเต็มเกือบเท่าท้องเรือของเรือขนทาส เมื่อท่อระบายน้ำเทน้ำผสมเลือดฟองฟอดไหลลงสู่แม่น้ำไซน์......ในขณะที่ทุกวันเหยื่อเต็มคันรถถูกนำผ่านถนนในกรุงปารีสไปสู่วาระสุดท้ายของพวกเขา ข้าหลวงต่างๆ ที่คณะกรรมการของผู้มีอำนาจสูงสุดส่งมาประจำในแผนกเปิดเผยให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมอย่างเลยเถิดที่ไม่มีผู้ใดรู้แม้แต่ในเมืองหลวง ใบมีดของเครื่องแห่งความตายถูกยกขึ้นและปล่อยลงมาช้าเกินไปในการสังหาร เชลยเป็นแถวๆ ถูกยิงทิ้งด้วยลูกปืน มีการเจาะรูใต้ท้องเรือที่แออัด เมืองลียงส์กลายเป็นทะเลทราย แม้กระทั่งที่เมืองอาร์รัสยังมีการปฏิเสธความเมตตาอย่างโหดเหี้ยมของการตายเร็วที่จะให้แก่นักโทษ ตลอดแถบเมืองลอร์จากเมืองสูมาร์ไปยังทะเลมีฝูงกาและฝูงเหยี่ยวขนาดเล็กมากินซากศพเปลือยที่เรียงรายพันกันเป็นเกลียว ไม่มีความเมตตาต่อเพศหรืออายุ จำนวนเยาวชนชายหญิงอายุสิบเจ็ดที่ถูกรัฐบาลเลวทรามฆาตกรรมนับได้หลายร้อยชีวิต ทารกถูกกระชากไปจากอ้อมอกและโยนลงไปยังหอกเหล็กแต่ละอันตลอดแนวยาโคบิน” (โปรดดูภาคผนวก) ในช่วงเวลาสั้นๆ ของสิบปีนี้ ฝูงชนจำนวนมากพินาศ {GC 284.1}GCth17 246.1

    เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ซาตานต้องการ นี่เป็นสิ่งที่มันพยายามทำให้ได้มาเป็นเวลาหลายยุคแล้ว นโยบายของมันถือการหลอกลวงตั้งแต่ต้นจนจบ และเป้าหมายแน่วแน่ของมันคือการนำความทุกข์ยากและความพินาศมาสู่มนุษย์ เพื่อลบล้าง และทำให้ผลของการทรงสร้างของพระเจ้าเป็นมลทิน เพื่อทำให้เป้าประสงค์แห่งความเมตตาและความรักของพระเจ้ามัวหมองไปและด้วยเหตุนี้ทำให้สวรรค์เศร้าหมอง แล้วด้วยศิลปะของการหลอกลวง มันทำให้ความคิดของมนุษย์มืดไปและนำพวกเขาให้โทษความผิดกลับไปยังพระเจ้าราวกับว่าความทุกข์ลำบากทั้งหมดนี้เป็นผลของแผนการทรงสร้าง ในลักษณะเดียวกัน เมื่อผู้ใดที่ถูกทำให้ตกต่ำเสื่อมสภาพและถูกทารุณกรรม เมื่อพวกเขาใช้ความรุนแรงโหดร้ายของมันทำให้ตนเองเป็นไทแล้ว มันจะรุกเร้าให้พวกเขาเพิ่มความโหดร้ายอย่างโหดเหี้ยมให้จนถึงที่สุด แล้วพวกเผด็จการและผู้กดขี่ทั้งหลายจะอ้างภาพการไร้ศีลธรรมที่ควบคุมไม่ได้นี้ว่าเป็นแบบอย่างของผลแห่งเสรีภาพ {GC 284.2}GCth17 246.2

    เมื่อสืบพบความผิดที่ซ่อนไว้ได้ชุดหนึ่ง ซาตานก็เพียงแต่อำพรางความผิดนั้นไว้ด้วยหน้ากากที่ต่างกันและฝูงชนก็ต้อนรับมันด้วยความกระตือรือร้นเหมือนเช่นครั้งก่อน เมื่อประชาชนค้นพบว่าลัทธิโรมันนั้นหลอกลวงและซาตานใช้ตัวแทนนี้นำพวกเขาให้ล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าไม่ได้อีกต่อไป มันก็จะปลุกระดมให้พวกเขาถือว่าศาสนาทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องหลอกลวงและพระคัมภีร์เป็นหนังสือนิทานสอนเด็กและเมื่อสลัดข้อกำหนดของพระเจ้าทิ้งไปได้แล้ว พวกเขาก็ปล่อยตัวให้กับความชั่วที่ควบคุมไม่ได้ {GC 285.1}GCth17 247.1

    ความผิดร้ายแรงที่สร้างความวิบัติเช่นนี้ต่อผู้ที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสเกิดจากการไม่รู้จักสัจธรรมอันยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่ง นั่นคือเสรีภาพที่แท้จริงอยู่ภายในกฎข้อห้ามของพระบัญญัติของพระเจ้า “ถ้าเจ้าเชื่อฟังบัญญัติของเรา แล้วความสมบูรณ์สุขของเจ้าจะเป็นเหมือนแม่น้ำ และความชอบธรรมของเจ้าจะเหมือนคลื่นทะเล” “พระยาห์เวห์ตรัสว่า ‘ไม่มีสันติสุขแก่คนอธรรม’” “แต่ผู้ที่ฟังข้า จะอยู่อย่างปลอดภัยและเขาอยู่อย่างสุข ไม่กลัวสิ่งร้ายใดๆ” อิสยาห์ 48:18, 22 สุภาษิต 1:33 {GC 285.2}GCth17 247.2

    พวกไม่เชื่อพระเจ้า พวกนอกศาสนาและพวกละทิ้งพระเจ้าต่างต่อต้านและปรักปรำประณามพระบัญญัติของพระเจ้า แต่ผลลัพธ์ของพฤติกรรมของพวกเขาผ่านการพิสูจน์แล้วว่าความผาสุกของมนุษย์นั้นผูกติดกับการเชื่อฟังข้อบัญญัติของพระเจ้า ผู้ที่ไม่ยอมอ่านบทเรียนจากหนังสือของพระเจ้าจะต้องถูกสั่งให้ศึกษาหนังสือประวัติศาสตร์ของประชาชาติต่างๆ {GC 285.3}GCth17 247.3

    เมื่อซาตานทำงานผ่านคริสตจักรโรมันเพื่อนำมนุษย์ให้เลิกล้มการเชื่อฟัง ตัวแทนของมันถูกปกปิดไว้และผลงานของมันถูกอำพรางจนมองไม่ออกว่าความเสื่อมศีลธรรมและความระทมทุกข์ที่ตามมานั้นเป็นผลลัพธ์ของการล่วงละเมิด และพระวิญญาณของพระเจ้าได้ทรงยับยั้งขัดขวางอำนาจของมันไม่ให้มันบรรลุถึงเป้าหมายของมันอย่างเต็มที่ ประชาชนไม่ได้สืบตามรอยไปยังสาเหตุและค้นหาต้นตอความทุกข์ระทมของพวกเขา แต่สภาแห่งชาติได้สลัดทิ้งพระบัญญัติของพระเจ้าไปอย่างเปิดเผย และในช่วงการปกครองอันทุกข์เข็ญที่ตามมานั้น ทุกคนมองเห็นแล้วว่าผลลัพธ์ของการกระทำของเหตุและผลเป็นอย่างไร {GC 285.4}GCth17 247.4

    เมื่อประเทศฝรั่งเศสปฏิเสธพระเจ้าอย่างเปิดเผยและสลัดพระคัมภีร์ทิ้งไป คนชั่วและวิญญาณแห่งความมืดยินดีปรีดาที่ได้บรรลุเป้าหมายที่ปรารถนามาเนิ่นนานแล้ว นั่นคืออาณาจักรที่ปลอดจากการควบคุมของพระบัญญัติของพระเจ้า เนื่องจากไม่มีการตัดสินลงโทษความชั่วอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหัวใจของบรรดาบุตรของมนุษย์จึง “เจตนามุ่งทำความอธรรม” ปัญญาจารย์ 8:11 แต่การล่วงละเมิดบัญญัติที่เที่ยงธรรมและชอบธรรมจะต้องได้รับผลของความทุกข์ยากลำบากและพินาศอย่างแน่นอน แม้การพิพากษาจะไม่มาเยือนพวกเขาในทันที ความชั่วของมนุษย์ก็ได้กำหนดวาระสุดท้ายของตนเองเอาไว้แล้วอย่างแน่นอน การละทิ้งความเชื่อและอาชญากรรมที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายศตวรรษได้สะสมพระพิโรธของพระเจ้าจนนำไปสู่วันแห่งความทุกข์เข็ญ และเมื่อความชั่วของพวกเขานั้นอิ่มตัว ผู้ที่ดูแคลนพระเจ้าจะเรียนรู้ก็สายเกินไปเสียแล้วว่าเป็นเรื่องน่ากลัวเพียงไรที่จะทำให้พระเจ้าหมดความอดทน พระเจ้าทรงถอนพระวิญญาณของพระองค์ที่คอยยับยั้งอำนาจโหดร้ายของซาตานออกไปมากแล้วและมารร้ายที่ความสุขใจเดียวของมันคือความหายนะของมนุษย์ก็ได้รับอนุญาตให้ทำตามความมุ่งหมายของมันอย่างเต็มที่ ผู้ที่เลือกรับใช้ฝ่ายกบฏจะถูกปล่อยให้เก็บเกี่ยวผลของมันจนกระทั่งทั่วแผ่นดินเต็มล้นด้วยอาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัวเกินกว่าจะบันทึกได้ เสียงร้องอันน่าสยดสยองดังจากมณฑลและเมืองต่างๆ ที่พังพินาศไป เป็นเสียงของความทุกข์ที่ขมขื่น ประเทศฝรั่งเศสถูกเขย่าราวกับแผ่นดินไหว ศาสนา กฎหมาย ความเป็นระเบียบของสังคม ครอบครัว บ้านเมืองและคริสตจักรต่างถูกฟาดฟันทำลายลงไปโดยมืออันไร้ศีลธรรมที่ชูขึ้นท้าทายพระบัญญัติของพระเจ้า นักปราชญ์กล่าวไว้แล้วอย่างจริงแท้ว่า “ความชอบธรรมของคนที่ดีพร้อมย่อมทำให้ทางของเขาตรง แต่คนอธรรมจะล้มลงด้วยความอธรรมของตน” “แม้ว่าคนบาปทำชั่วตั้งร้อยครั้งและอายุเขายังยั่งยืนอยู่ได้ ถึงกระนั้นข้าพเจ้ายังรู้แน่ว่าสวัสดิมงคลจะมีแก่เขาทั้งหลายที่ยำเกรงพระเจ้าคือที่มีความยำเกรงเฉพาะพระพักตร์พระองค์” “แต่ว่าจะไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่คนอธรรม อายุของเขาที่เป็นดังเงาก็จะไม่ยืดยาวออกไปได้ เพราะเขาไม่มีความยำเกรงเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า” สุภาษิต 11:5 ปัญญาจารย์ 8:12, 13 “เพราะว่าพวกเขาเกลียดความรู้ และไม่เลือกเอาความยำเกรงพระยาห์เวห์” “เพราะฉะนั้น พวกเขาจะกินผลแห่งทางของตนเอง และอิ่มด้วยความคิดเห็นของพวกเขาเอง” สุภาษิต 1:29, 31 {GC 286.1}GCth17 248.1

    พยานซื่อสัตย์ของพระเจ้าที่ถูกอำนาจหมิ่นประมาทพระเจ้าที่ “ขึ้นมาจากบาดาลลึก” ฆ่านั้นจะไม่อยู่นิ่งเงียบอีกต่อไปแล้ว “หลังจากนั้นสามวันครึ่ง ลมปราณจากพระเจ้าก็เข้าสู่ศพของเขา และเขาทั้งสองก็ลุกขึ้นยืนด้วยขาตัวเอง คนทั้งหลายที่เห็นก็ตกอยู่ในความกลัวอย่างยิ่ง” วิวรณ์ 11:11 ในปี ค.ศ. 1793 สภาแห่งประเทศฝรั่งเศสออกกฤษฎีกาล้มล้างศาสนาคริสต์และยกเลิกพระคัมภีร์ สามปีครึ่งต่อมามีมติให้เพิกถอนกฤษฎีกานี้ ด้วยเหตุนี้ สภาแห่งเดียวกันยอมผ่อนปรนต่อพระคัมภีร์ โลกมองดูความผิดมหันต์ที่เป็นผลจากการปฏิเสธพระวจนะศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าด้วยความตกตะลึงและมนุษย์ประจักษ์ถึงความจำเป็นที่ต้องมีความเชื่อในพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์เป็นรากฐานของคุณความดีและศีลธรรม พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าเยาะเย้ยและกล่าวหยาบช้าต่อใคร เจ้าขึ้นเสียงของเจ้าต่อผู้ใด และเบิ่งตาของเจ้าอย่างเย่อหยิ่งต่อองค์บริสุทธิ์ของอิสราเอล” อิสยาห์ 37:23 “เพราะฉะนั้น นี่แน่ะ ครั้งนี้เราจะทำให้เขารู้จัก เราจะทำให้เขารู้จักฤทธิ์เดชและฤทธานุภาพของเรา และเขาทั้งหลายจะรู้ว่านามของเราคือยาห์เวห์” เยเรมีย์ 16:21 {GC 287.1}GCth17 249.1

    ผู้เผยพระวจนะเปิดเผยถึงเรื่องของพยานสองท่านต่อไปว่า “เขาทั้งสองได้ยินเสียงดังจากสวรรค์กล่าวว่า ‘จงขึ้นมาที่นี่เถิด’ พวกศัตรูก็เห็นเขาทั้งสองขึ้นไปสู่สวรรค์ด้วยเมฆ” วิวรณ์ 11:12 เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสทำสงครามกับพยานสองท่านของพระเจ้า ท่านทั้งสองจึงได้รับเกียรติอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ในปี ค.ศ. 1804 มีการก่อตั้งสมาคมพระคริสตธรรมคัมภีร์อังกฤษและต่างประเทศขึ้น ตามด้วยองค์กรในลักษณะเดียวกันที่มีสาขามากมายทั่วทวีปยุโรป ในปี ค.ศ. 1816 สมาคมพระคริสตธรรมอเมริกันได้ก่อตั้งขึ้น ในขณะที่สมาคมของประเทศอังกฤษก่อตั้งขึ้นนั้น มีการพิมพ์และแจกจ่ายพระคัมภีร์ถึงห้าสิบภาษา ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา มีการแปลเป็นหลายร้อยภาษาหลักและภาษาท้องถิ่น (โปรดดูภาคผนวก) {GC 287.2}GCth17 249.2

    เป็นเวลากว่าห้าสิบปีก่อน ค.ศ. 1792 งานประกาศต่างแดนเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจแต่เพียงเล็กน้อย ไม่มีการก่อตั้งสมาคมใหม่ขึ้นมาและมีคริสตจักรเพียงไม่กี่แห่งที่ลงแรงพยายามประกาศเรื่องของศาสนาคริสต์ไปยังดินแดนของคนนอกศาสนา แต่มาถึงช่วงปิดท้ายศตวรรษที่สิบแปด มีการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่เกิดขึ้น มนุษย์ไม่พอใจกับผลงานของลัทธิการใช้เหตุผลและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรับการเปิดเผยของพระเจ้าและมีประสบการณ์ของศาสนา นับจากนั้นเป็นต้นมา งานของพันธกิจต่างประเทศเจริญเติบโตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน {GC 287.3}GCth17 249.3

    การพัฒนาของงานด้านการพิมพ์ได้กระตุ้นงานการกระจายพระคัมภีร์ให้รวดเร็วขึ้นมาก ความสะดวกของการสื่อสารระหว่างประเทศต่างๆ กำแพงขวางกั้นอคติและแนวรั้วปกป้องระดับชาติที่พังทลายไปและการสูญเสียอำนาจการปกครองฝ่ายรัฐของพระสันตะปาปาแห่งโรมได้เปิดประตูให้กับการนำพระวจนะของพระเจ้าเข้ามา เป็นเวลาหลายปีที่มีการขายพระคัมภีร์ตามถนนในกรุงโรมโดยไม่มีการควบคุมและบัดนี้ได้นำไปเผยแพร่ยังทุกมุมของโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ {GC 288.1}GCth17 250.1

    วอลแตร์ผู้ไม่เชื่อพระเจ้าเคยพูดอย่างโอ้อวดว่า “เราเบื่อที่จะฟังคนพูดแล้วพูดอีกว่าชายสิบสองคนก่อตั้งศาสนาคริสต์ขึ้นมา เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าชายเพียงคนเดียวก็พอที่จะคว่ำมันทิ้งไป” หลายยุคผ่านไปนับจากวันที่เขาตายจากไป คนนับล้านเข้าร่วมการต่อสู้กับพระคัมภีร์ แต่ก็ห่างไกลเหลือเกินจากการที่พระคัมภีร์ถูกทำลาย ในสมัยวอลแตร์มีหนึ่งร้อยเล่ม บัดนี้มีหนึ่งหมื่นเล่ม ถูกแล้ว มีพระวจนะของพระเจ้าหนึ่งแสนเล่ม นักปฏิรูปศาสนายุคแรกคนหนึ่งพูดถึงเรื่องโบสถ์ของชาวคริสเตียนว่า “พระคัมภีร์เป็นทั่งที่ทำให้ค้อนสึกไปมากมายแล้ว” พระยาห์เวห์ตรัสว่า “อาวุธทุกชนิดที่ทำขึ้นเพื่อต่อสู้เจ้าจะไม่ชนะ และเจ้าจะพิสูจน์ว่าลิ้นทุกลิ้นที่ลุกขึ้นต่อสู้เจ้าในการพิพากษานั้นชั่วร้าย นี่คือมรดกของบรรดาผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์และการให้ความยุติธรรมต่อพวกเขานั้นมาจากเรา” อิสยาห์ 54:17 {GC 288.2}GCth17 250.2

    “ พระวจนะพระเจ้าของเราจะยั่งยืนเป็นนิตย์” “ผลงานแห่งพระหัตถ์ของพระองค์นั้นคือความซื่อสัตย์และยุติธรรม ข้อบังคับทั้งสิ้นของพระองค์ก็ไว้ใจได้ ข้อบังคับเหล่านั้นได้ทรงสถาปนาไว้เป็นนิตย์นิรันดร์ อีกทั้งได้ทรงกระทำโดยความซื่อสัตย์และความเที่ยงธรรม” อิสยาห์ 40:8 สดุดี 111:7, 8 สิ่งใดที่สร้างขึ้นตามอำนาจของมนุษย์จะถูกล้มล้างไป แต่ที่ก่อขึ้นบนศิลาแห่งพระวจนะของพระเจ้าจะอยู่ยั่งยืนนาน {GC 288.3}GCth17 250.3

    *****