Loading...
Larger font
Smaller font
Copy
Print
Contents

สงครามครั้งยิ่งใหญ่

 - Contents
  • Results
  • Related
  • Featured
No results found for: "".
  • Weighted Relevancy
  • Content Sequence
  • Relevancy
  • Earliest First
  • Latest First

    บท 21 - คำเตือนที่ถูกปฏิเสธ

    เป้าหมายของวิลเลียม มิลเลอร์ และเพื่อนร่วมงานของเขาในการเทศนาสอนหลักคำสอนเรื่องการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์นั้นก็เพียงเพื่อกระตุ้นคนทั้งหลายให้เตรียมพร้อมสำหรับการพิพากษา พวกเขาต้องการปลุกคนที่มีความเชื่อทางศาสนาให้หันไปยังความหวังที่แท้จริงของคริสตจักรและเน้นถึงความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องมีประสบการณ์ของชีวิตคริสเตียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และพวกเขายังทำงานเพื่อปลุกผู้ที่ยังไม่กลับใจให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกลับใจทันทีและหันกลับไปหาพระเจ้า “พวกเขาไม่ได้นำผู้รับเชื่อใหม่เข้าร่วมนิกายหรือกลุ่มศาสนาใด ดังนั้น พวกเขาจึงทำงานกับคนทุกกลุ่มและทุกนิกายโดยไม่ก้าวก่ายองค์กรหรือระบบการปกครองใดๆ” {GC 375.1}GCth17 325.1

    มิลเลอร์กล่าวว่า “งานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าทำไปนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยมีความปรารถนาหรือความคิดที่จะสร้างกลุ่มผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากนิกายที่มีอยู่แล้ว หรือทำให้นิกายหนึ่งได้รับประโยชน์บนความสูญเสียของอีกนิกายหนึ่ง ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ข้าพเจ้าคาดหวังว่าคริสเตียนทุกคนจะชื่นชมกับความหวังใจในการเสด็จมาของพระคริสต์ และผู้ที่มองไม่เห็นอย่างที่ข้าพเจ้ามองเห็นนั้นจะไม่รักผู้ที่รับหลักคำสอนนี้น้อยลง ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าจะมีความจำเป็นที่ต้องแยกกันประชุม เป้าหมายทั้งหมดของข้าพเจ้าคือข้าพเจ้าต้องการนำจิตวิญญาณให้กลับใจมาหาพระเจ้าเพื่อแจ้งให้โลกทราบถึงการพิพากษาที่จะมาถึง และเพื่อนำเพื่อนมนุษย์ให้ตระเตรียมจิตใจให้พร้อมเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าของพวกเขาด้วยความสันติ คนส่วนใหญ่ที่กลับใจจากงานประกาศที่ข้าพเจ้าทำไปก็เข้าร่วมกับคริสตจักรต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว” Bliss หน้า 328 {GC 375.2}GCth17 325.2

    เนื่องจากงานที่มิลเลอร์ทำนั้นมักส่งผลให้คริสตจักรเติบใหญ่ขึ้น งานนี้จึงถูกยอมรับว่าดีในช่วงเวลาระยะหนึ่ง แต่เมื่อบรรดาผู้รับใช้และผู้นำทางศาสนาตัดสินใจต่อต้านคำสอนเรื่องการเสด็จมาของพระคริสต์และตั้งใจจะยับยั้งการตื่นตัวทุกอย่างที่เกิดจากเรื่องนี้ พวกเขาไม่เพียงขัดขวางจากบนธรรมาสน์เท่านั้นแต่ยังสั่งห้ามสมาชิกของพวกเขาเข้าร่วมการประชุมการประกาศเรื่องการเสด็จมาครั้งที่สองด้วย ห้ามแม้กระทั่งการพูดคุยถึงความหวังใจของพวกเขาในการชุมนุมสังสรรค์ของโบสถ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้เชื่อจึงตกอยู่ในสภาพทุกข์หนักและลำบากใจอย่างยิ่ง พวกเขารักคริสตจักรและไม่เต็มใจที่จะแยกตัวเองออกไป แต่เมื่อพวกเขาเห็นว่ามีการปิดบังคำพยานที่อยู่ในพระวจนะของพระเจ้าและไม่ยอมให้พวกเขามีสิทธิในการสำรวจคำพยากรณ์ พวกเขาจึงรู้สึกว่าความภักดีที่พวกเขามีต่อพระเจ้านั้นทำให้พวกเขายอมทำตามคำสั่งเหล่านั้นไม่ได้ พวกเขาถือว่าคนเหล่านั้นที่พยายามปิดประตูต่อคำพยานที่อยู่ในพระวจนะของพระเจ้านั้นไม่อาจก่อตั้งเป็นคริสตจักรของพระคริสตซึ่ง “เป็นหลักและเป็นรากฐานแห่งความจริง” ได้ 1 ทิโมธี 3:15 ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงถือว่าการแยกตัวเองออกจากคริสตจักรที่พวกเขามีความสัมพันธ์อยู่เดิมนั้นไม่ผิด ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1844 มีสมาชิกประมาณ 15,000 คนถอนตัวเองออกจากการเป็นสมาชิกของคริสตจักรต่างๆ {GC 376.1}GCth17 325.3

    ประมาณช่วงเวลานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดขึ้นในคริสตจักรส่วนใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาหลายปีแล้วที่คริสตจักรต่างๆ ค่อยๆ ปรับตัวอย่างต่อเนื่องสู่วิถีทางปฏิบัติและธรรมเนียมของชาวโลก เป็นเหตุทำให้ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณพลอยตกต่ำลงไปด้วย แต่ในปีนั้น มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนสมาชิกลดลงอย่างกะทันหันและลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเกือบทุกคริสตจักรทั่วประเทศ ในขณะที่ไม่มีผู้ใดบอกสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์นี้ แต่ทุกคนก็รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสื่อมวลชนและจากบนธรรมาสน์ {GC 376.2}GCth17 325.4

    จากที่ประชุมของคณะเพรสไบทีเรียนแห่งเมืองฟีลาเดลเฟีย นายบารเนส [Barnes] ผู้เขียนหนังสืออธิบายพระคัมภีร์ที่คนมากมายใช้อ้างอิงและเป็นศาสนาจารย์ของโบสถ์ระดับแนวหน้าแห่งหนึ่งในเมืองนั้น “เขากล่าวว่า เขาทำงานรับใช้เป็นศาสนาจารย์มาแล้วนานกว่ายี่สิบปี และทุกครั้งที่เขาประกอบพิธีศีลมหาสนิท จะมีผู้มารับเชื่อใหม่ไม่มากก็น้อย ซึ่งพิธีที่เขาประกอบครั้งล่าสุดนั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง แต่ในตอนนี้ ไม่มีการตื่นตัว ไม่มีการกลับใจ ในบรรดาผู้เชื่อก็มองไม่เห็นการเติบใหญ่ขึ้นในพระคุณ และไม่มีผู้ใดเข้ามายังห้องทำงานของเขาเพื่อพูดคุยเรื่องความรอดของจิตวิญญาณของพวกเขา ด้วยธุรกิจที่ดีขึ้นและอนาคตของการค้าและการผลิตที่สดใส ความนึกคิดทางฝ่ายโลกจึงมีเพิ่มมากขึ้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกนิกายเช่นกัน” Congregational Journal ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1844 {GC 376.3}GCth17 325.5

    ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน ศาตราจารย์ฟินนีย์ [Finney] แห่งวิทยาลัยโอเบอร์ลิน กล่าวว่า “เรามีข้อเท็จจริงที่อยู่ต่อหน้าเราว่า โดยทั่วไปแล้วคริสตจักรโปรเตสแตนต์ในประเทศของเรามักจะเฉื่อยชาหรือไม่ก็เป็นศัตรูกับการปฏิรูปทางศีลธรรมแทบทุกเรื่องตลอดมา มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่พอที่จะเปลี่ยนความจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่เป็นอยู่โดยทั่วไป เรายังมีความจริงเพื่อใช้สนับสนุนยืนยันอีกเรื่องหนึ่งคือ แทบจะหาอิทธิพลของการฟื้นฟูในคริสตจักรไม่พบ ความเฉื่อยชาทางจิตวิญญาณมีอยู่ทั่วไปเกือบทุกหนแห่ง และรุนแรงอย่างน่ากลัว ซึ่งสำนักข่าวศาสนาจากทั่วประเทศก็เป็นพยานได้…..ในระดับกว้างนั้น สมาชิกของคริสตจักรฝักใฝ่เรื่องของแฟชั่น พวกเขาจับมือกับคนอธรรมในงานเลี้ยงสนุกสนาน การเต้นรำ งานรื่นเริง ฯลฯ .......แต่เราไม่จำเป็นต้องขยายเรื่องราวอันปวดร้าวเหล่านี้ มีหลักฐานมากมายที่หนักแน่นและประดังเข้ามาตลอด เพื่อแสดงให้เห็นว่าคริสตจักรโดยทั่วไปกำลังมีสภาพที่ถดถอยอย่างน่าเศร้าใจ พวกเขาเหินห่างไปไกลจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ทรงเพิกถอนพระองค์เองออกไปจากพวกเขา” {GC 377.1}GCth17 326.1

    มีผู้เขียนคนหนึ่งในนิตยสารรีลีจัสเทเลสโกบ [Religious Telesope] เขียนยืนยันว่า “เราไม่เคยเห็นความตกต่ำในวงการศาสนาอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ทุกหนทุกแห่งในขณะนี้ ในความเป็นจริงแล้ว คริสตจักรจะต้องตื่นขึ้นและค้นหาสาเหตุของปัญหานี้ เพราะเป็นปัญหาสำหรับทุกคนที่รักศิโยนจะต้องพิจารณา เมื่อเรานึกในใจว่ามีคนกลับใจอย่างแท้จริง ‘จำนวนน้อยมาก’ เพียงไรนั้น และคนบาปที่ไม่ยอมกลับใจและมีจิตใจแข็งกระด้างซึ่งมีจำนวนแทบจะเทียบกันไม่ได้แล้วนั้น เราแทบจะร้องอุทานขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจว่า ‘พระเจ้าทรงลืมพระเมตตาคุณแล้วหรือ หรือว่าประตูแห่งพระกรุณาปิดไปแล้ว’” {GC 377.2}GCth17 326.2

    สภาพเช่นนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากสาเหตุในตัวคริสตจักรเอง ความมืดมิดทางฝ่ายจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นกับทั้งประเทศ กับคริสตจักรทั้งหลาย และกับแต่ละบุคคลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการถอนคืนความช่วยเหลือของพระคุณของพระเจ้าตามอำเภอใจในส่วนของพระองค์ แต่เกิดจากในส่วนของมนุษย์ที่ละเลยหรือปฏิเสธแสงสว่างที่พระเจ้าประทานมาให้ ประวัติศาสตร์ของชนชาติยิวในสมัยของพระคริสต์ก็เป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดของความจริงในเรื่องนี้ พวกชนชาติยิวฝักใฝ่อยู่กับทางโลกและลืมพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์ ความเข้าใจของพวกเขาก็มืดมนไป จิตใจของพวกเขาก็มีแต่เรื่องทางโลกและของเนื้อหนัง ด้วยประการฉะนี้ พวกเขาจึงไม่รับรู้เรื่องการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ และด้วยความหยิ่งและความไม่เชื่อนี้เอง พวกเขาจึงปฏิเสธพระผู้ไถ่ แต่ในขณะนั้น พระเจ้าก็ยังไม่ทรงตัดชนชาติยิวออกจากการรับความรู้หรือการมีส่วนร่วมในพระพรของการไถ่ให้รอด แต่คนเหล่านั้นที่ปฏิเสธความจริงได้สูญเสียความปรารถนาทั้งหมดที่จะรับของประทานจากสวรรค์ “พวกเขาถือว่าความมืดคือความสว่าง และความสว่างคือความมืด” อิสยาห์ 5:20 จนกระทั่งแสงสว่างที่อยู่ในตัวเขากลายเป็นความมืดและความมืดมนนั้นก็ยิ่งใหญ่ทีเดียว {GC 377.3}GCth17 326.3

    เรื่องนี้ช่างเหมาะเจาะกับนโยบายของซาตานที่ต้องการให้มนุษย์มีศาสนาแค่เพียงเปลือกนอก แต่ขาดวิญญาณแห่งคุณงามความดีอันมีชีวิต ภายหลังจากที่ชนชาติยิวปฏิเสธข่าวประเสริฐแล้ว พวกเขายังคงกระตือรือร้นที่จะรักษาพิธีกรรมโบราณของพวกเขาไว้ พวกเขาเก็บรักษาเอกลักษณ์ของชาติไว้อย่างเคร่งครัดในขณะที่พวกเขาเองยอมรับโดยดุษฎีว่าพระเจ้าไม่ได้สถิตอยู่ท่ามกลางพวกเขาอีกแล้ว คำพยากรณ์ของดาเนียลชี้ถึงเวลาที่พระเมสสิยาห์จะเสด็จมาไว้อย่างไม่ผิดพลาด และพยากรณ์ถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ไว้อย่างเปิดเผยชัดเจน จนพวกรับบีบั่นทอนการศึกษาคำพยากรณ์นี้ และในที่สุด พวกเขาประกาศคำแช่งสาปแก่ทุกคนที่พยายามคำนวณเวลานั้น ในศตวรรษต่อๆ มา ชนชาติอิสราเอลที่ตกอยู่ในสภาพตาบอดและไม่กลับใจ ก็ยังยืนกรานไม่ใส่ใจความรอดที่ถูกเสนอให้ด้วยความปรานี ไม่สนใจพระพรที่มาพร้อมกับข่าวประเสริฐ นี่คือคำเตือนที่น่าเคร่งขรึมและน่าสะพรึงกลัวถึงอันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิเสธแสงสว่างจากสวรรค์ {GC 378.1}GCth17 327.1

    ไม่ว่าที่ใดก็ตามที่มีสาเหตุเช่นนี้ปรากฏอยู่ผลที่ได้รับซึ่งเหมือนกันก็จะตามมา ผู้ที่ตั้งใจสยบความสำนึกในหน้าที่ของเขาเพราะขัดแย้งกับความโน้มเอียงของตนเองแล้ว ในที่สุด เขาจะสูญเสียอำนาจการแยกแยะระหว่างความจริงและความผิดไป ความเข้าใจของเขาจะมืดมน ความสำนึกจะกระด้างไป จิตใจจะแข็งกระด้างและจิตวิญญาณจะแยกออกไปจากพระเจ้า ไม่ว่าที่ใดที่ละทิ้งหรือดูแคลนข่าวแห่งความจริงของพระเจ้า ความมืดจะห้อมล้อมคริสตจักรที่นั่นไว้ ความเชื่อและความรักจะเยือกเย็นลง และความเหินห่างและความแตกร้าวจะเข้ามา สมาชิกของคริสตจักรใส่ใจและใช้พลังไปกับการแสวงหาสิ่งของทางฝ่ายโลก และคนบาปก็จะยิ่งแข็งกร้าวด้วยการไม่สำนึกในบาปของตน {GC 378.2}GCth17 327.2

    ข่าวของทูตสวรรค์องค์ที่หนึ่งในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 14 ที่ประกาศเวลาการพิพากษาของพระเจ้าและเรียกร้องให้มนุษย์เกรงกลัวและนมัสการพระองค์นั้น มีไว้เพื่อแยกผู้ที่แสดงตนว่าเป็นประชากรของพระเจ้าให้ออกมาจากอิทธิพลที่เลวร้ายของโลก และเพื่อปลุกให้พวกเขามองเห็นสภาพที่แท้จริงของการทำตัวให้เหมือนชาวโลกและการละทิ้งความเชื่อของพวกเขา ในข่าวสารนี้ พระเจ้าประทานคำเตือนมายังคริสตจักรซึ่งหากพวกเขารับไว้ก็คงจะแก้ไขความชั่วที่ขวางกั้นพวกเขาให้ห่างไปจากพระองค์ได้ หากพวกเขายอมรับข่าวสารจากสวรรค์ ยอมถ่อมจิตใจของพวกเขาต่อเบื้องพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้าและแสวงหาด้วยความจริงใจที่จะเตรียมพร้อมเพื่อเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์แล้ว พระวิญญาณและอำนาจของพระเจ้าจะปรากฏอยู่ท่ามกลางพวกเขา คริสตจักรจะก้าวกลับไปสู่สภาพที่ศักดิ์สิทธิ์ในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความเชื่อและในความรักซึ่งมีอยู่ในสมัยของอัครทูต คือเมื่อผู้เชื่อทั้งหลาย “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” และ “กล่าวพระวจนะของพระเจ้าด้วยใจกล้าหาญ” เมื่อ “องค์พระผู้เป็นเจ้าก็โปรดให้คนทั้งหลายที่กำลังจะรอดเพิ่มจำนวนเข้ามามากยิ่งขึ้นทุกๆ วัน” กิจการ 4:32, 31; 2:47 {GC 379.1}GCth17 327.3

    หากคนที่อ้างว่าตนเป็นประชากรของพระเจ้าจะยอมรับแสงสว่างจากพระวจนะของพระองค์ที่ส่องลงมายังพวกเขาแล้ว พวกเขาคงจะไปถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่พระคริสต์ทรงอธิษฐานเผื่อและที่อัครทูตได้บรรยายไว้ว่า “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มาจากพระวิญญาณนั้น โดยมีสันติภาพเป็นเครื่องผูกพัน มีกายเดียวและมีพระวิญญาณองค์เดียว เหมือนอย่างที่ท่านได้รับการทรงเรียกให้มาถึงความหวังเดียวในการทรงเรียกพวกท่านนั้น มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ความเชื่อเดียว บัพติศมาเดียว” เอเฟซัส 4:3-5 {GC 379.2}GCth17 327.4

    ผู้ที่ยอมรับข่าวสารเรื่องการเสด็จมาของพระคริสต์จะได้รับประสบการณ์ที่มีผลอันประเสริฐเช่นนี้ พวกเขามาจากคริสเตียนนิกายต่างๆ และความแตกต่างที่แบ่งแยกให้เกิดนิกายต่างๆ นั้นก็ถูกขว้างทิ้งลงไปยังพื้นดิน และหลักความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ที่ขัดแย้งกันก็ถูกทำลายจนย่อยยับ ความหวังที่ไม่วางอยู่บนรากฐานของพระคัมภีร์เกี่ยวกับระยะเวลาหนึ่งพันปีในโลกก็ถูกปล่อยทิ้งไป ทัศนะผิดๆ เรื่องการเสด็จมาครั้งที่สองก็ได้รับการแก้ไข ความหยิ่งยโสและการทำตามอย่างชาวโลกก็ถูกกวาดทิ้งไป สิ่งที่ผิดๆ ก็ถูกทำให้ถูกต้อง จิตใจของคนมากมายถูกประสานด้วยมิตรภาพที่แสนหวานชื่น และความรักและความสุขครองความเป็นใหญ่ หากหลักคำสอนนี้มีผลเช่นนี้ต่อคนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับคำสอนนี้ก็จะมีผลเช่นเดียวกันนี้กับทุกคนที่ได้รับด้วย {GC 379.3}GCth17 327.5

    แต่โดยทั่วไปคริสตจักรไม่ยอมรับคำเตือนนี้ ผู้รับใช้ทั้งหลายของคริสตจักรเหล่านั้นซึ่งเป็นคนเฝ้ายามของ “พงศ์พันธุ์อิสราเอล” ควรจะต้องเป็นคนแรกที่เข้าใจเครื่องหมายของการเสด็จมาของพระเยซู พวกเขาไม่ได้เรียนรู้ความจริงทั้งจากคำพยานของผู้เผยพระวจนะหรือจากหมายสำคัญของยุค ในขณะที่ความหวังและความทะเยอทะยานฝ่ายโลกเข้าครองหัวใจของพวกเขา ความรักที่พวกเขามีถวายให้แก่พระเจ้าและความเชื่อในพระวจนะของพระองค์ก็เยือกเย็นลงไปเรื่อยๆ และเมื่อมีการนำเสนอหลักคำสอนเรื่องการเสด็จกลับของพระคริสต์ สิ่งเหล่านี้ก็ได้แต่เพียงไปปลุกอคติและความไม่เชื่อของพวกเขาขึ้น ความจริงคือส่วนใหญ่ของข่าวสารนี้ถูกประกาศโดยคนธรรมดาทั่วไป จึงทำให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คำพยานที่ชัดเจนของพระวจนะของพระเจ้าถูกโต้ด้วยคำถามที่ว่า “มีใครบ้างในพวกผู้ใหญ่หรือพวกฟาริสีที่ศรัทธาในตัวเขา” ยอห์น 7:48 และเมื่อพวกเขาพบว่าเป็นการยากที่จะโต้แย้งเรื่องเวลาของคำพยากรณ์ หลายคนจึงไม่สนับสนุนการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับคำพยากรณ์ โดยสอนว่าหนังสือคำพยากรณ์นั้นถูกปิดผนึกไว้แล้วและไม่ได้มีไว้เพื่อให้ใครเข้าใจ คนจำนวนมากที่วางใจในศาสนาจารย์ของพวกเขาอย่างเต็มที่ก็ไม่ยอมรับฟังคำเตือน และถึงแม้อาจมีบางคนที่ยอมรับความจริง พวกเขาก็ไม่กล้ายอมรับอย่างเปิดเผย ด้วยเกรงว่าจะ “ถูกขับออกจากธรรมศาลา” ยอห์น 9:22 ข่าวสารที่พระเจ้าประทานมาเพื่อการทดสอบและการชำระคริสตจักรได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีคนจำนวนมากเพียงไรที่รักโลกนี้มากกว่ารักพระคริสต์ ความสัมพันธ์ที่พวกเขามีให้กับโลกนี้แข็งแกร่งยิ่งกว่าแรงจูงใจที่จะนำเขาไปสู่สวรรค์ พวกเขาเลือกที่จะรับฟังเสียงของปัญญาที่เป็นของโลกนี้ และหันหนีไปจากข่าวสารแห่งความจริงที่นำไปสู่การตรวจสอบจิตใจ {GC 380.1}GCth17 328.1

    ด้วยการไม่ยอมรับคำเตือนของทูตสวรรค์องค์ที่หนึ่ง พวกเขาจึงปฏิเสธวิถีที่สวรรค์จัดเตรียมไว้เพื่อนำพวกเขากลับคืนสู่ความบริบูรณ์ พวกเขารังเกียจผู้ประกาศข่าวแห่งพระคุณที่จะแก้ไขความชั่วซึ่งแยกพวกเขาออกไปจากพระเจ้า และด้วยความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นพวกเขาหันไปหาความเป็นมิตรกับโลก นี่เป็นสาเหตุของสภาพอันน่ากลัวของการหมกมุ่นอยู่กับทางโลก การละทิ้งความเชื่อและการตายของจิตวิญญาณซึ่งเกิดขึ้นในคริสตจักรต่างๆ ในปี ค.ศ.1844 {GC 380.2}GCth17 328.2

    ในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 14 ทูตสวรรค์องค์ที่สองบินตามทูตสวรรค์องค์ที่หนึ่งมาและประกาศว่า “บาบิโลนมหานครนั้นพังทลายแล้ว พังทลายแล้ว นครที่ให้ทุกประชาชาติดื่มเหล้าองุ่นแห่งราคะในการล่วงประเวณีของนาง” วิวรณ์ 14:8 “บาบิโลน” เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ “บาเบล” ซึ่งหมายถึงความสับสน พระคัมภีร์ใช้คำนี้เพื่อหมายถึงรูปแบบต่างๆ ของศาสนาเทียมเท็จ หรือศาสนาที่ละทิ้งความจริง ในพระธรรมวิวรณ์ บทที่ 17 ใช้ผู้หญิงแทนบาบิโลน พระคัมภีร์ใช้ผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์แทนคริสตจักร หญิงที่มีคุณธรรมหมายถึงคริสตจักรบริสุทธิ์ หญิงชั่วหมายถึงคริสตจักรที่ละทิ้งความเชื่อที่แท้จริง {GC 381.1}GCth17 329.1

    พระคัมภีร์ใช้การแต่งงานเป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์และยั่งยืนนานระหว่างพระคริสต์และคริสตจักรของพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าร่วมสัมพันธ์กับประชากรของพระองค์ด้วยพันธสัญญาที่ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงสัญญาที่จะเป็นพระเจ้าของพวกเขา และประชากรของพระองค์ก็ปฏิญาณว่าพวกเขาเองจะเป็นของพระองค์และเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น พระองค์ทรงประกาศว่า “เราจะหมั้นเจ้าไว้สำหรับเราเป็นนิตย์ เออ เราจะหมั้นเจ้าไว้ด้วยความชอบธรรม ความยุติธรรม ความรักมั่นคงและความกรุณา” โฮเชยา 2:19 และตรัสอีกว่า “เราเป็นนายเหนือพวกเจ้า” เยเรมีย์ 3:14 และเปาโลก็ใช้สัญลักษณ์เดียวกันนี้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่โดยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าหมั้นท่านไว้กับสามีคนเดียว เพื่อถวายพวกท่านให้เป็นหญิงพรหมจารีบริสุทธิ์แด่พระคริสต์” 2 โครินธ์ 11:2 {GC 381.2}GCth17 329.2

    ความไม่ซื่อสัตย์ของคริสตจักรต่อพระคริสต์ด้วยการหันความวางใจและความรักออกไปจากพระองค์และยอมให้ความรักต่อสิ่งของทางโลกครอบงำจิตวิญญาณเปรียบได้กับการละเมิดคำปฏิญาณของการแต่งงาน เป็นภาพที่นำเสนอให้เห็นบาปของชนชาติอิสราเอลที่ออกไปจากพระเจ้า และความรักประเสริฐของพระเจ้าซึ่งพวกเขาดูแคลนก็ได้รับการพรรณนาอย่างน่าจับใจไว้ว่า “เราปฏิญาณต่อเจ้าและทำพันธสัญญากับเจ้าและเจ้าก็เป็นของเรา” “เจ้างดงามมากทีเดียวและเจ้าเจริญขึ้นเป็นชนชั้นกษัตริย์ ชื่อเสียงของเจ้าก็เลื่องลือไปท่ามกลางประชาชาติในเรื่องความงดงามของเจ้า เพราะความงดงามนั้นก็สมบูรณ์ทีเดียวเนื่องด้วยสง่าราศีที่เรามอบให้เจ้า..... แต่เจ้าวางใจในความงดงามของเจ้าและเจ้าเล่นชู้เนื่องด้วยชื่อเสียงของเจ้า” “เชื้อสายอิสราเอลเอ๋ย พวกเจ้าได้ทรยศต่อเราเช่นเดียวกับภรรยาทรยศต่อสามี” “เจ้า ภรรยาที่นอกใจ ดูซิ เจ้ารับคนแปลกหน้ามาแทนที่สามี” เอเสเคียล 16:8, 13-15, 32 เยเรมีย์ 3:20 {GC 381.3}GCth17 329.3

    พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ใช้ภาษาที่คล้ายคลึงกันเพื่อกล่าวถึงคริสเตียนที่เป็นมิตรกับทางโลกมากกว่าที่จะแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้า อัครทูตยากอบกล่าวไว้ว่า “คนไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ท่านทั้งหลายรู้ว่าการเป็นมิตรกับโลกนั้นคือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเป็นมิตรกับโลกก็ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า” ยากอบ 4:4 {GC 382.1} GCth17 330.1

    พระธรรมวิวรณ์บทที่ 17 บรรยายหญิง (บาบิโลน) ไว้ว่า “นุ่งห่มสวมชุดสีม่วงและสีแดงเข้ม และประดับด้วยทองคำ อัญมณีต่างๆ และไข่มุก ในมือของนางมีถ้วยทองคำที่เต็มไปด้วยสิ่งน่าสะอิดสะเอียนและของโสโครกจากการล่วงประเวณีของตนและบนหน้าผากของนางมีชื่อที่เป็นความลึกลับเขียนไว้ว่า ‘บาบิโลนมหานคร แม่ของหญิงแพศยาทั้งหลาย’” ผู้เผยพระวจนะกล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้าเห็นหญิงนั้นเมามายด้วยโลหิตของพวกธรรมิกชนและโลหิตของบรรดาพยานของพระเยซู” บาบิโลนยังถูกบรรยายต่อไปอีกว่า เป็น “นครที่ครอบครองอยู่เหนือกษัตริย์ทั้งหลายของแผ่นดินโลก” วิวรณ์ 17:4-16, 18 โรมมีอำนาจเด็ดขาดอยู่เหนือบรรดากษัตริย์ในโลกที่เป็นคริสเตียนมานานหลายศตวรรษ ผ้าสีม่วงและสีแดงเข้ม เครื่องประดับทองคำ อัญมณีต่างๆ และไข่มุกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่และอำนาจยิ่งใหญ่ของราชสำนักของโรมที่หยิ่งยโส และไม่มีคำบรรยายลักษณะอำนาจใดได้อย่างเหมาะเจาะว่า “เมามายด้วยโลหิตของพวกธรรมิกชน” เนื่องจากคริสตจักรนี้ได้กดขี่ข่มเหงผู้ติดตามพระคริสต์อย่างทารุณ บาบิโลนยังถูกกล่าวหาด้วยบาปของการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องกับ “กษัตริย์ทั้งหลายของแผ่นดินโลก” คริสตจักรของยิวกลายเป็นหญิงแพศยาด้วยการเหินห่างไปจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและผูกมิตรกับคนนอกศาสนา และโรมก็ทำตนให้เป็นมลทินด้วยวิธีเดียวกันนี้ โดยแสวงหาการสนับสนุนจากอำนาจทางฝ่ายโลก โรมจึงต้องได้รับการตำหนิที่คล้ายคลึงกัน {GC 382.2}GCth17 330.2

    บาบิโลนถูกตราว่าเป็น “แม่ของหญิงแพศยาทั้งหลาย” วิวรณ์ 17:5 ดังนั้น บุตรหญิงทั้งหลายของนางจึงต้องเป็นสัญลักษณ์ของคริสตจักรต่างๆ ที่ยึดติดกับหลักคำสอนและประเพณีต่างๆ ของนาง และทำตามแบบอย่างของนางด้วยการยอมทิ้งความจริงและความเห็นชอบของพระเจ้าเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องกับโลกนี้ ข่าวสารแห่งพระธรรมวิวรณ์บทที่ 14 ที่ประกาศถึงการล่มสลายของบาบิโลนจะต้องหมายถึงกลุ่มศาสนาที่ครั้งหนึ่งเคยบริสุทธิ์ผุดผ่องและบัดนี้ทำชั่วไปแล้ว เนื่องจากข่าวนี้มาหลังคำเตือนเรื่องการพิพากษา ข่าวนี้จึงต้องประกาศในวาระสุดท้าย ด้วยเหตุนี้ คำเตือนนี้จึงไม่ได้มีไว้สำหรับคริสตจักรโรมันเท่านั้น เพราะคริสตจักรดังกล่าวตกอยู่ในสภาพที่ล่มสลายมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว ยิ่งกว่านั้น ในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 18 ยังเรียกให้ประชากรของพระเจ้าออกมาจากบาบิโลน ตามพระคัมภีร์ข้อนี้ ยังต้องมีประชากรของพระเจ้าอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงอยู่ในบาบิโลน และในเวลานี้จะพบประชากรส่วนใหญ่ที่ติดตามพระคริสต์ได้ในคริสตจักรไหน ไม่ต้องสงสัยเลย คนเหล่านี้ยังอยู่ในคริสตจักรต่างๆ ที่ยึดถือความเชื่อของโปรเตสแตนต์ ในสมัยที่คริสตจักรเหล่านี้เกิดขึ้นมานั้น พวกเขายืนขึ้นอย่างงามสง่าเพื่อพระเจ้าและเพื่อความจริง และพระพรของพระองค์ก็สถิตอยู่ร่วมกับพวกเขา แม้ชาวโลกที่ไม่เชื่อยังต้องยอมรับผลลัพธ์อันดีเลิศที่เกิดจากการยอมรับหลักการต่างๆ ของข่าวประเสริฐ ในคำพูดของผู้เผยพระวจนะที่กล่าวกับชนชาติอิสราเอลว่า “ชื่อเสียงของเจ้าก็เลื่องลือไปท่ามกลางประชาชาติในเรื่องความงามของเจ้า เพราะความงามนั้นก็สมบูรณ์ทีเดียวเนื่องด้วยสง่าราศีที่เรามอบให้เจ้า พระยาห์เวห์องค์เจ้านายตรัสดังนี้แหละ” แต่พวกเขาก็กลับล้มลงด้วยความปรารถนาเดียวกันที่นำคำแช่งสาปและความหายนะมาให้กับชนชาติอิสราเอล นั่นคือ ความต้องการเลียนแบบประเพณีและพยายามสร้างมิตรภาพกับพวกคนอธรรม “เจ้าวางใจในความงดงามของเจ้าและเจ้าเล่นชู้เนื่องด้วยชื่อเสียงของเจ้า” เอเสเคียล 16:14, 15 {GC 382.3}GCth17 330.3

    คริสตจักรโปรเตสแตนต์จำนวนมากมายทำตามแบบอย่างของโรมในการมีความสัมพันธ์อย่างไร้ศีลธรรมกับ “กษัตริย์ทั้งหลายของแผ่นดินโลก” นั่นคือ เป็นคริสตจักรของรัฐที่มีความสัมพันธ์กับการปกครองทางฝ่ายโลกและนิกายอื่นๆ ด้วยการแสวงหาการยอมรับของฝ่ายโลก และคำว่า “บาบิโลน” จึงเป็นคำที่ใช้บรรยายองค์กรเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม พวกเขาทั้งหมดต่างอ้างว่าหลักคำสอนของพวกเขาได้มาจากพระคัมภีร์ แต่กระนั้นยังแยกออกเป็นนิกายต่างๆ จนแทบนับจำนวนนิกายได้ไม่ถ้วน พร้อมด้วยหลักความเชื่อและทฤษฎีที่ขัดแย้งแตกต่างกันมากมาย {GC 383.1}GCth17 331.1

    นอกเหนือจากบาปของการเข้าร่วมกับโลก คริสตจักรที่แยกตัวออกมาจากโรมก็ยังคงมีลักษณะอื่นๆ ของโรมด้วย {GC 383.2}GCth17 331.2

    มีรายงานฉบับหนึ่งของคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่แย้งไว้ว่า “หากคริสตจักรแห่งโรมเคยทำผิดเรื่องรูปเคารพของเหล่านักบุญแล้ว คริสตจักรแห่งอังกฤษซึ่งเป็นลูกสาวของเธอก็ผิดเช่นเดียวกัน ที่ถวายโบสถ์ให้นางมารีย์ถึง 10 แห่งแล้วถวายให้พระคริสต์เพียงแห่งเดียว” Richard Challoner, The Catholic Christian Instructed คำนำ หน้า 21, 22 {GC 384.1}GCth17 331.3

    ในหนังสือ “เอ ทริทีส์ ออน เดอะ มิลเลเนียม” [A Treatise on the Millennium] ดร. ฮอพคินส์ [Hopkins] เขียนไว้ว่า “ไม่มีเหตุผลใดที่จะมาพิจารณาว่าเจตนารมย์และการกระทำของการต่อต้านคริสเตียนนั้นจำกัดอยู่ในคริสตจักรซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่าคริสตจักรแห่งโรม ภายในคริสตจักรต่างๆ ของนิกายโปรเตสแตนต์ก็มีสภาพของการต่อต้านพระคริสต์อยู่มากทีเดียว และคริสตจักรเหล่านั้นก็ยังห่างไกลจากการได้รับการปฏิรูปทั้งหมดจากเรื่อง.....ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและความชั่วช้า” Samuel Hopkins, Works เล่มที่ 2 หน้า 328 {GC 384.2}GCth17 331.4

    ดร. กูทรีย์ [Guthrie] เขียนถึงเรื่องการแยกตัวของคริสตจักรเพสไบทีเรียนออกจากโรมว่า “เมื่อกว่าสามร้อยปีที่แล้ว คริสตจักรของเราที่มีธงชัยเป็นรูปพระคัมภีร์ที่เปิดออกและคำขวัญที่ติดอยู่บนแผ่นป้ายว่า ‘จงค้นหาพระคัมภีร์’ ได้เดินเป็นขบวนออกมาจากประตูของโรม” และแล้วท่านก็ถามคำถามที่สำคัญอย่างมากว่า “พวกเขาก้าวหลุดออกมาจากบาบิโลนหมดแล้วใช่หรือไม่” Thomas Guthrie, The Gospel in Ezekiel หน้า 237 {GC 384.3}GCth17 331.5

    สเปอเจิน [Spurgeon] กล่าวว่า “ดูเสมือนหนึ่งว่าคริสตจักรแห่งอังกฤษถูกกัดกร่อนจนหมดด้วยพิธีกรรมทางศาสนา แต่ผู้ที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกันก็ไม่ได้เลวน้อยกว่าพวกนักปรัชญานอกศาสนา คนที่เราคิดว่ามีสิ่งที่ดีกว่าก็กำลังหันหลังเดินออกไปทีละคนจากหลักพื้นฐานแห่งความเชื่อ เมื่อคิดดูให้รอบคอบแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าที่ตรงกลางหัวใจของประเทศอังกฤษนั้นมีลักษณะเหมือนรวงผึ้งที่รวมเอาคนนอกศาสนาที่สมควรให้แช่งด่าไว้อยู่ภายใน แล้วคนเหล่านี้ยังกล้าขึ้นธรรมาสน์และเรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียน” {GC 384.4}GCth17 332.1

    อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการละทิ้งความเชื่อครั้งยิ่งใหญ่ คริสตจักรเริ่มตีตัวออกจากความเรียบง่ายของข่าวประเสริฐด้วยวิธีการใด ก็ด้วยการยอมทำตามวิถีปฏิบัติของพวกนอกศาสนา เพื่อช่วยให้คนนอกศาสนายอมรับศาสนาคริสเตียนได้ง่ายยิ่งขึ้น อัครทูตเปาโลประกาศว่า “อำนาจลึกลับนอกกฎหมายนั้นก็เริ่มทำงานอยู่แล้ว” 2 เธสะโลนิกา 2:7 ซึ่งมีความหมายรวมถึงสมัยของท่านเองด้วย ในช่วงสมัยของอัครสาวกนั้นคริสตจักรยังคงค่อนข้างบริสุทธิ์ แต่ “ในช่วงท้ายของศตวรรษที่สอง คริสตจักรส่วนใหญ่เริ่มรับรูปแบบใหม่เข้ามา ความเรียบง่ายของยุคแรกเริ่มหายไป โดยไม่ทันรู้ตัวเมื่อสาวกผู้ชราภาพพักผ่อนในหลุมฝังศพ ลูกๆ ของพวกเขาร่วมกับผู้เชื่อใหม่ๆ......ก็ก้าวออกมาและปั้นแต่งแนวทางใหม่ขึ้น” Robert Robinson, Ecclesiastical Researches บทที่ 6 ย่อหน้าที่ 17 หน้า 51 เพื่อหาคนมารับเชื่อให้ได้นั้น พวกเขาจึงลดมาตรฐานอันสูงส่งของความเชื่อของคริสเตียนลง และผลที่ตามมาคือ “คนนอกศาสนาไหลบ่าเข้ามาในคริสตจักร พวกเขามาพร้อมธรรมเนียมทั้งหลาย การปฏิบัติต่างๆ และบรรดารูปเคารพ” Gavazzi, Lectures หน้า 278 ในขณะที่ศาสนาคริสต์ได้รับความเห็นชอบและการสนับสนุนจากผู้ปกครองฝ่ายโลกนั้น มีผู้มารับเชื่อเพียงในนามเป็นจำนวนมากมาย แต่ในขณะที่มีสภาพภายนอกเป็นคริสเตียน คนจำนวนมากก็ยัง “คงเป็นคนนอกศาสนา โดยยังคงแอบกราบไหว้บูชารูปเคารพอยู่” Ibid. หน้า 278 {GC 384.5}GCth17 332.2

    สภาพเดียวกันนี้ยังคงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ากับแทบทุกคริสตจักรที่เรียกตนเองว่าโปรเตสแตนต์ไม่ใช่หรือ เมื่อผู้ก่อตั้งคริสตจักรที่เต็มไปด้วยวิญญาณของการปฏิรูปอย่างแท้จริงตายจากไป ลูกหลานของพวกเขาก็ก้าวออกมา และ “ปรับแต่งขบวนการด้วยรูปแบบใหม่” ในขณะที่พวกเขายึดมั่นอย่างไม่ลืมหูลืมตาอยู่กับความเชื่อที่บรรพบุรุษส่งต่อมา และปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงใดๆ ที่ใหม่กว่าที่พวกเขามองเห็น เหล่าบุตรทั้งหลายของนักปฏิรูปจึงก้าวห่างออกไปจากตัวอย่างแห่งความถ่อมตน การเสียสละและการละทิ้งสิ่งของในโลกของนักปฏิรูปทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ “ความเรียบง่ายแต่แรกจึงหายไป” วิถีแห่งโลกไหลบ่าเข้ามายังคริสตจักรและนำ “ธรรมเนียม วิธีปฏิบัติและรูปเคารพ” เข้ามาในคริสตจักรด้วย” {GC 385.1}GCth17 332.3

    อนิจจัง การเป็นมิตรกับโลกซึ่งเป็น “ศัตรูกับพระเจ้า” ของคนทั้งหลายที่ประกาศว่าตนเป็นผู้ติดตามพระคริสต์นั้นช่างน่ากลัวเพียงไร คริสตจักรที่เป็นที่นิยมของผู้คนทั่วทั้งอาณาจักรคริสเตียนเหินห่างไปจากมาตรฐานแห่งความถ่อมตน การละทิ้งตน ความเรียบง่ายและคุณความดีที่มีอยู่ในพระคัมภีร์อย่างมากเพียงไร จอห์น เวสเล่ย์กล่าวถึงวิธีการใช้เงินอย่างถูกต้องว่า “อย่าใช้ตะลันต์อันมีค่ายิ่งไปอย่างสิ้นเปลือง เพียงเพื่อสนองความต้องการของดวงตา ด้วยเครื่องนุ่มห่มที่ไม่จำเป็นและมีราคาแพง หรือด้วยเครื่องประดับที่ไม่จำเป็น อย่าสิ้นเปลืองกับการตกแต่งบ้านด้วยของหายาก ของที่เกินความต้องการหรือมีราคาแพง หรือ ในภาพถ่าย ภาพวาดที่มีราคาแพง หรือในสิ่งของที่เคลือบด้วยทอง...... จงอย่าหาสิ่งใดเพื่อนำมาสนองตอบกับความหยิ่งยโสของชีวิตเพื่อจะเป็นที่ชื่นชมหรือรับคำเยินยอจากมนุษย์.....‘ตราบใดที่ท่านทำสิ่งที่ดีๆ เพื่อตัวเอง ผู้คนจะกล่าวถึงท่านในทางที่ดี’ ตราบใดที่ท่าน ‘แต่งตัวเองด้วยผ้าลินินสีม่วงและมีเนื้อดี’ และแต่ง ‘อย่างหรูหราทุกวัน’ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนมากมายจะยกย่องรสนิยมที่สูงส่ง ความโอบอ้อมอารีและความมีน้ำใจของท่าน แต่อย่าซื้อคำสรรเสริญของพวกเขาด้วยราคาแพงเช่นนี้ แต่ให้พึงพอใจกับเกียรติที่มาจากพระเจ้า” Wesley, Works, Sermon 50, “The Use of Money” แต่มีคริสตจักรจำนวนมากในปัจจุบันนี้ที่ละเลยคำสอนเช่นนี้ {GC 385.2}GCth17 332.4

    การแสดงว่าตนเองเป็นคนมีศาสนากลายเป็นสิ่งที่โลกนี้นิยมชมชอบ ประมุข นักการเมือง ทนายความ แพทย์ นักธุรกิจ ต่างพากันเข้าร่วมเป็นสมาชิกในคริสตจักรก็เพื่อเป็นช่องทางสร้างความนับถือและความวางใจทางสังคมและความก้าวหน้าในฝ่ายโลกของตนเอง ด้วยวิธีนี้ พวกเขาพยายามปกปิดธุรกรรมที่ไม่ชอบธรรมของตนเองไว้ด้วยการอ้างตนว่าเป็นคริสเตียน องค์กรศาสนาคริสต์ต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนด้วยทรัพย์และอิทธิพลของบรรดาชาวโลกที่รับบัพติศมาเข้ามาแต่ยังหมกมุ่นอยู่ในทางโลกีย์เหล่านี้ก็ทำให้จำเป็นที่จะต้องพยายามหาความนิยมและการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น โบสถ์อันโอ่อ่าตระการตาซึ่งตกแต่งอย่างหรูหราที่สุดถูกสร้างขึ้นตามถนนที่มีชื่อ ผู้เข้าร่วมนมัสการแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายราคาแพงและนำสมัย ใช้เงินเดือนสูงจ้างผู้รับใช้ที่มีความสามารถสร้างความสำราญและดึงดูดผู้คน คำเทศนาของพวกเขาจะต้องไม่แตะเรื่องบาปที่ทำกันอย่างแพร่หลาย แต่คำเทศนาของพวกเขาจะต้องรื่นหูสร้างความพึงพอใจ ด้วยเหตุนี้ คนบาปที่อยู่ในสังคมจึงสมัครเข้าร่วมอยู่ในบัญชีของคริสตจักรและบาปที่นิยมชมชอบจึงซ่อนอยู่ภายใต้การเสแสร้งของความเลื่อมใสในศาสนา {GC 386.1}GCth17 333.1

    นิตยสารชั้นนำฝ่ายโลกฉบับหนึ่งวิจารณ์เรื่องทัศนคติที่เป็นอยู่ของผู้ที่อ้างตนเป็นคริสเตียนที่มีกับโลกว่า “คริสตจักรยอมรับวิญญาณของยุคนี้และปรับวิธีนมัสการตามความต้องการของยุคสมัยใหม่อย่างไม่ทันรู้สึกตัว” “แท้จริงแล้ว ทุกสิ่งที่ช่วยทำให้ศาสนาดูน่าสนใจก็ถูกคริสตจักรนำมาใช้เป็นเครื่องมือ” และนักเขียนคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คอินดิเพนเดนท์ [New York Independent] กล่าวถึงคำที่เชื่อและปฏิบัติและนมักสารตามแบบชาวเมทอดิสต์ไว้ว่า “เส้นแบ่งระหว่างผู้ที่เคร่งในศาสนาและผู้ที่ไม่มีศาสนาเลือนหายไปเป็นเพียงเงาสลัว และผู้ที่ร้อนรนของทั้งสองฝ่ายต่างทำการลบความแตกต่างทั้งหมดที่มีระหว่างวิธีการประพฤติและความสนุกสนานของพวกเขา” “ศาสนาที่ได้รับความนิยมชมชอบจะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นด้วยคนที่ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องใส่ใจกับหน้าที่ที่มาพร้อมกับศาสนานั้น” {GC 386.2}GCth17 333.2

    เฮาวาร์ด ครอสบี [Howard Crosby] กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเมื่อพวกเราเห็นคริสตจักรของพระคริสต์แทบไม่ได้ทำตามแผนการขององค์พระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับชาวยิวในสมัยโบราณที่ปล่อยให้ความสัมพันธ์กับประเทศที่กราบไหว้รูปเคารพขโมยหัวใจของพวกเขาไปจากพระเจ้า......ก็เป็นเช่นนั้นแหละกับคริสตจักรของพระเจ้าในเวลานี้ ด้วยการเข้ามีส่วนร่วมอย่างจอมปลอมกับโลกที่ไม่เชื่อ ละทิ้งวิธีการของพระเจ้าที่ประทานชีวิตแท้และปล่อยตัวเองไปกับนิสัยชั่วของสังคมที่ไม่มีพระคริสต์ ถึงแม้บางครั้งคำโต้แย้งและข้อสรุปพอจะรับฟังได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ห่างไกลจากคำเปิดเผยของพระเจ้าและขัดแย้งโดยตรงกับการเติบโตขึ้นในพระคุณทั้งปวง” The Healthy Christian: An Appeal to the Church หน้า 141, 142 {GC 387.1}GCth17 333.3

    ท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งการหมกมุ่นในทางโลกีย์และการแสวงหาความสำราญ การเสียสละและการถวายตนเพื่อพระคริสต์จึงหายไปจนเกือบหมด “มีชายและหญิงบางคนในคริสตจักรของเราที่ปัจจุบันอยู่ในวัยทำงาน พวกเขาถูกสอนไว้ตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็กให้ถวายตัว เพื่อจะมอบถวายตนหรือทำงานรับใช้พระคริสต์” แต่ “หากในเวลานี้ต้องการเงินทุนขึ้นมา.....ไม่มีใครจะต้องถูกร้องขอให้บริจาค โอ ไม่อย่างแน่นอน ให้จัดงานรื่นเริง แสดงละคร จำลองการพิพากษา งานเลี้ยงหรูหรา หรือของกิน อะไรก็ได้ที่ทำให้คนเพลิดเพลิน” {GC 387.2}GCth17 334.1

    ผู้ว่าการรัฐวิสคอนซิน วาสเบิร์น [Washburn] ปราศรัยในการประชุมประจำปีเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1873 ว่า “อาจจะต้องมีการตรากฎหมายบางฉบับเพื่อนำมาใช้ทำลายโรงเรียนที่ทำให้มีนักการพนันเกิดขึ้น มีโรงเรียนเช่นนี้อยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในคริสตจักร ที่บางครั้งพบว่ากำลังทำงานของมารโดยไม่รู้ตัวและไม่สงสัย การแสดงดนตรีเพื่อรับของขวัญ การจัดกิจกรรมขายชุดของขวัญและการขายตั๋วจับฉลากรางวัล ฉลากกินแบ่ง ชุดรางวัลต่างๆ และอื่นๆ ซึ่งในบางครั้งจัดขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางศาสนาหรือการกุศล แต่บ่อยครั้งที่จัดขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ค่อยมีคุณค่า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือหาเงินที่ไม่ได้ให้คุณค่าสำคัญเลย ไม่มีสิ่งใดที่ทำลายศีลธรรมและเป็นพิษภัยโดยเฉพาะกับเยาวชนได้มากเท่ากับการได้เงินหรือสมบัติโดยไม่ได้พากเพียรทำงาน คนมีเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมการเสี่ยงโชคเหล่านี้ และปลอบจิตใต้สำนึกของเขาเองด้วยความคิดว่า เขาได้ใช้เงินไปในวัตถุประสงค์ที่ดี มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เยาวชนในรัฐนี้บ่อยครั้งมักจะตกไปสู่นิสัยลักษณะนี้ซึ่งความตื่นเต้นจากการละเล่นกิจกรรมเสี่ยงโชคจะเกิดขึ้นเกือบแน่นอนที่สุด” {GC 387.3}GCth17 334.2

    วิญญาณของการประนีประนอมกับวิถีทางของชาวโลกกำลังบุกรุกเข้าไปยังโบสถ์ต่างๆ ทั่วอาณาจักรของคริสตศาสนา ที่กรุงลอนดอน โรเบิร์ท เอ็ดคินส์ [Robert Atkins] เทศนาวาดภาพที่มืดมนของความถดถอยทางฝ่ายจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในประเทศอังกฤษไว้ว่า “โลกนี้มีจำนวนคนชอบธรรมอย่างแท้จริงลดลงไปเรื่อยๆ และไม่มีผู้ใดใส่ใจ เหล่าผู้ที่ประกาศตนเป็นผู้เชื่อในศาสนาในปัจจุบันนี้และในทุกๆ คริสตจักรเป็นผู้ที่รักโลก เป็นผู้ที่ประนีประนอมกับโลก เป็นผู้ที่รักสิ่งของเครื่องมืออำนวยความสะดวกสบาย และเป็นผู้ที่ทะเยอทะยานไขว่คว้าเกียรติยศ พวกเขาถูกเรียกให้เข้ามาร่วมทุกข์กับพระคริสต์ แต่พวกเขากลับหดถอยไปแม้แต่เพียงด้วยคำตำหนิ......ละทิ้งความเชื่อ ละทิ้งความเชื่อ ละทิ้งความเชื่อ ถูกสลักไว้อยู่ที่ด้านหน้าสุดของทุกๆ โบสถ์ หากพวกเขาเข้าใจมัน หากพวกเขารู้สึกถึงมัน ก็คงจะมีความหวัง แต่อนิจจา พวกเขาร้องว่า ‘ข้าเป็นเศรษฐีและข้าร่ำรวยแล้ว ข้าไม่ต้องการสิ่งใดเลย’ วิวรณ์ 3:17” Second Advent Library, tract No. 39 {GC 388.1}GCth17 334.3

    บาปยิ่งใหญ่ที่เป็นข้อกล่าวหาที่มีต่อบาบิโลนคือ “นครที่ให้ประชาชาติดื่มเหล้าองุ่นแห่งราคะในการล่วงประเวณีของนาง” วิวรณ์ 14:8 ถ้วยยาพิษที่เธอเอามาให้กับโลกหมายถึงคำสอนเทียมเท็จที่เธอรับไว้ซึ่งเป็นผลจากความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมของเธอที่เธอมีกับผู้ยิ่งใหญ่ของโลก มิตรภาพที่มีกับโลกทำให้ความเชื่อของเธอผิดเพี้ยนไป และเมื่อถึงคราวของเธอ เธอก็นำสิ่งที่ผิดๆ ชักจูงโลกด้วยการสอนหลักคำสอนที่ค้านกับคำสอนที่ชัดเจนที่สุดของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ {GC 388.2}GCth17 334.4

    โรมไม่อนุญาตให้ประชาชนมีพระคัมภีร์และบังคับให้ทุกคนยอมรับคำสอนของเธอแทน การนำพระวจนะของพระเจ้ากลับคืนมาให้มนุษย์นั้นเป็นผลงานของการปฏิรูป แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเกินความจริงใช่หรือไม่ที่คริสตจักรในยุคของเราสอนมนุษย์ให้นำความเชื่อของพวกเขาไปวางไว้ที่หลักความเชื่อและคำสอนของคริสตจักรแทนที่จะวางไว้ในพระคัมภีร์ ชาร์ลส์ บีเคอร์ [Charles Beecher] กล่าวถึงคริสตจักรโปรเตสแตนต์ต่างๆ ว่า “พวกเขาหลบหน้าไม่กล่าวคำพูดรุนแรงเพื่อต่อต้านหลักความเชื่อทางศาสนา ซึ่งมีความอ่อนไหวแบบเดียวกับที่พวกนักบวชผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นหลีกเลี่ยงไม่พูดวาจารุนแรงเพื่อต่อต้านการสถาปนาการกราบไหว้รูปบูชานักบุญและผู้พลีชีพเพื่อศาสนาซึ่งพวกเขาเป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง.....นิกายโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคัลผูกมัดมือของพวกเขาไว้ด้วยกันกับพวกตนเอง ตกลงระหว่างกันเองว่าคนที่เป็นนักเทศน์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะเป็นนักเทศน์ไม่ได้หากเขาไม่ยอมรับหนังสือบางเล่มนอกเหนือจากพระคัมภีร์..........ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จินตนาการขึ้นมาเองที่จะกล่าวว่าอำนาจฝ่ายความเชื่อทางศาสนาเริ่มห้ามปรามพระคัมภีร์เหมือนที่โรมเคยทำมาแล้ว แต่ทำไปด้วยวิธีที่ลึกลับเฉียบแหลมกว่า” Sermon on “The Bible a Sufficient Creed,” delivered at Fort Wayne, Indiana 22 กุมภาพันธ์ 1846 {GC 388.3}GCth17 335.1

    เมื่อครูที่ซื่อสัตย์อธิบายพระวจนะของพระเจ้า ก็จะมีผู้คงแก่เรียน ผู้รับใช้ต่างๆ ที่อ้างว่าเข้าใจพระคัมภีร์ลุกขึ้นและปรักปรำคำสอนที่ดีงามทั้งหลายว่าเป็นคำสอนนอกรีต และด้วยการกระทำเช่นนี้จึงขับไล่ผู้ที่แสวงหาความจริงไป หากโลกไม่ได้ถูกมอมเมาอย่างสิ้นหวังด้วยเหล้าองุ่นของบาบิโลนแล้ว ฝูงชนมากมายคงจะเชื่อและกลับใจด้วยความจริงที่เรียบง่ายและเชือดเฉือนของพระวจนะของพระเจ้า แต่ความเชื่อทางศาสนานั้นสับสนและขัดแย้งกัน จนประชาชนไม่รู้ว่าจะเชื่ออะไรว่าเป็นความจริง บาปของโลกที่ไม่กลับใจนอนหมอบอยู่ที่หน้าประตูโบสถ์ {GC 389.1}GCth17 335.2

    ข่าวของทูตสวรรค์องค์ที่สองแห่งพระธรรมวิวรณ์บทที่ 14 ประกาศออกไปเป็นครั้งแรกในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1844 และในช่วงเวลานั้น ข่าวนี้ใช้ได้โดยตรงกับคริสตจักรต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งคำเตือนเรื่องการพิพากษาถูกประกาศในประเทศอย่างกว้างขวางที่สุด และโดยทั่วไปถูกปฏิเสธมากที่สุด และคริสตจักรถดถอยอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ข่าวสารของทูตสวรรค์องค์ที่สองไม่ได้สำเร็จบริบูรณ์ในปี ค.ศ. 1844 ในช่วงเวลาดังกล่าว คริสตจักรต่างๆ ต้องประสบกับการเสื่อมถอยทางฝ่ายศีลธรรม อันเป็นผลเนื่องมาจากการปฏิเสธแสงสว่างเรื่องข่าวการเสด็จกลับมา แต่การเสื่อมถอยนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์เช่นกัน ขณะที่พวกเขาปฏิเสธความจริงพิเศษสำหรับเวลานั้น ความเสื่อมถอยของพวกเขาก็ยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ แต่ยังตกต่ำไม่พอที่จะกล่าวว่า “บาบิโลนมหานครนั้นพังทลายแล้ว.....เพราะว่านครนี้ได้ทำให้ทุกประชาชาติดื่มเหล้าองุ่นแห่งราคะในการล่วงประเวณีของนาง” วิวรณ์ 14:8 เธอยังไม่ได้ทำให้ทุกประเทศกระทำเช่นนี้ จิตวิญญาณแห่งการทำตามโลกและความไม่สนใจต่อความจริงซึ่งเป็นบททดสอบสำหรับยุคเวลาของเราก็มีอยู่ และกำลังแพร่หลายต่อเนื่องในคริสตจักรของนิกายโปรเตสแตนต์ตลอดทั่วทุกประเทศในโลกคริสเตียน และคริสตจักรเหล่านี้ก็ถูกรวมอยู่ในคำตำหนิที่เคร่งขรึมและน่ากลัวของทูตสวรรค์องค์ที่สอง แต่ผลงานแห่งการละทิ้งความเชื่อยังก้าวไปไม่ถึงจุดที่สูงที่สุด {GC 389.2}GCth17 335.3

    พระคัมภีร์เปิดเผยว่าก่อนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา ซาตานจะกระทำ “อิทธิฤทธิ์ทุกอย่างทั้งหมายสำคัญและการอัศจรรย์จอมปลอมและอุบายชั่วทุกอย่าง” และพวกที่ “ไม่ได้รักความจริงเพื่อจะรอดได้” จะถูกปล่อยให้ “ความลุ่มหลงมาถึงพวกเขาให้เขาเชื่อสิ่งที่เท็จ” 2 เธสะโลนิกา 2:9-11 จวบจนกระทั่งสภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นและการรวมตัวของคริสตจักรกับโลกจะเกิดขึ้นตลอดทั่วทั้งอาณาจักรคริสเตียนแล้ว การล่มจมของมหานครบาบิโลนจึงจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงอันนี้เติบใหญ่ขึ้นอย่างเป็นลำดับ แต่การสำเร็จอย่างบริบูรณ์ของคำพยากรณ์ในพระธรรมวิวรณ์ 14:8 นี้ยังคงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต {GC 389.3}GCth17 335.4

    แม้คริสตจักรต่างๆ ที่รวมกันเป็นบาบิโลนจะมีความมืดมนทางจิตวิญญาณและเหินห่างไปจากพระเจ้า แต่ก็ยังมีผู้ติดตามที่แท้จริงของพระคริสต์จำนวนมากอยู่ในคริสตจักรเหล่านั้น ในจำนวนนี้ ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่เคยเห็นความจริงพิเศษสำหรับยุคนี้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจกับสภาพปัจจุบันของตนและอยากได้รับแสงสว่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น พวกเขาแสวงหาพระฉายาของพระคริสต์จากคริสตจักรที่เขาร่วมอยู่อย่างไร้ผล ในขณะที่คริสตจักรเหล่านี้เหินห่างออกไปจากความจริงมากยิ่งขึ้นและทำตัวเป็นพันธมิตรยิ่งใกล้ชิดกับโลกมากขึ้น ความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้จะยิ่งมีมากขึ้น และในที่สุดจะลงเอยด้วยการแตกแยก เวลาจะมาถึง เมื่อผู้ที่รักพระเจ้าอย่างสิ้นสุดใจคงอยู่ร่วมต่อไปไม่ได้กับพวกที่ “รักความสนุกมากกว่ารักพระเจ้า ยึดถือทางพระเจ้าแต่เพียงเปลือกนอก แต่ปฏิเสธฤทธิ์เดชของทางนั้น” 2 ทิโมธี 3:4-5 {GC 390.1}GCth17 336.1

    พระธรรมวิวรณ์บทที่ 18 ชี้ไปถึงเวลาเมื่อคริสตจักรจะก้าวไปถึงสภาพตามที่ทูตสวรรค์องค์ที่สองกล่าวไว้อย่างเต็มตัว ตามผลลัพธ์ของการปฏิเสธคำเตือนสามประการของวิวรณ์ 14: 6-12 และประชากรของพระเจ้าที่ยังคงอยู่ในบาบิโลนจะถูกเรียกให้แยกตัวออกจากความสัมพันธ์ที่มีกับเธอ นี่เป็นข่าวสุดท้ายที่มีไว้ให้กับโลกนี้ และพระราชกิจนี้จะต้องทำให้สำเร็จ เมื่อผู้ “ที่ไม่เชื่อความจริงแต่ยินดีในการอธรรม” 2 เธสะโลนิกา 2:12 จะถูกปล่อยให้ลุ่มหลงและเชื่อในสิ่งที่เท็จแล้ว จากนั้น แสงแห่งความจริงจะส่องสว่างบนทุกคนที่จิตใจเปิดรับความจริง และบุตรทั้งหลายของพระเจ้าที่ยังคงอยู่ในบาบิโลนจะตอบรับเสียงเรียกที่ว่า “จงออกมาจากนครนั้นเถิดชนชาติของเราเอ๋ย” วิวรณ์ 18:4 {GC 390.2}GCth17 336.2

    *****