Loading...
Larger font
Smaller font
Copy
Print
Contents

สงครามครั้งยิ่งใหญ่

 - Contents
  • Results
  • Related
  • Featured
No results found for: "".
  • Weighted Relevancy
  • Content Sequence
  • Relevancy
  • Earliest First
  • Latest First

    บท 13 - ประเทศเนเธอร์แลนด์และแถบสแกนดิเนเวีย

    การปกครองแบบเผด็จการของระบอบเปปาซีในประเทศเนเธอร์แลนด์ก่อให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงมาแล้วตั้งแต่แรกเริ่ม เจ็ดร้อยปีก่อนสมัยของลูเธอร์ บิชอปเนเธอร์แลนด์สององค์ที่มาในฐานะทูตของกรุงโรมกล่าวโทษสันตปะปาของโรมอย่างไม่กลัวเกรง ทั้งสององค์รับรู้ธาตุแท้ของราชสำนักของสันตะปาปา พระเจ้า “ทรงสร้างพระราชินีและคู่ชีวิตของพระองค์ไว้แล้วนั่นก็คือคริสตจักร เป็นการทรงจัดเตรียมอันประเสริฐและยั่งยืนนิรันดร์สำหรับครอบครัวของเธอ มีสินสอดที่ไม่มีวันด้อยค่าหรือเสื่อมทรามและประทานมงกุฎและคทานิรันดรแก่นาง.......ทั้งหมดนี้ท่านกอบโกยผลประโยชน์เหมือนเช่นโจรเข้าฉกชิง ท่านแต่งตั้งตนเองไปอยู่ในวิหารของพระเจ้า แทนที่จะเป็นคนเลี้ยงแกะท่านกลับทำตัวเป็นสุนัขจิ้งจอกต่อแกะ ท่านแสดงให้พวกเราเชื่อว่าท่านเป็นบิชอปสูงศักดิ์แต่ท่านเหมือนทรราชมากกว่า.....ท่านควรจะเป็นคนรับใช้ของบรรดาคนรับใช้ทั้งปวงตามที่ท่านเรียกตนเอง แต่ท่านกลับพยายามเป็นเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งปวง.....ท่านทำให้พระบัญชาของพระเจ้าเป็นที่เหยียดหยาม.....พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นผู้สร้างคริสตจักรทั้งปวงไปไกลจนสุดขอบฟ้า.....เมืองของพระเจ้าของเราที่ซึ่งเราเป็นพลเมืองอยู่นั้น แผ่ออกกว้างไปจนถึงดินแดนทั้งหมดของสวรรค์ และกว้างขวางกว่าเมืองที่ผู้เผยพระวจนะเรียกว่ากรุงบาบิโลนซึ่งแสร้งทำตัวว่าเป็นพระเจ้า เอาตัวเองให้ไปถึงสวรรค์และอวดว่าปัญญาของตนอมตะ และสุดท้ายแม้จะไร้เหตุผล อ้างว่าตนเองไม่เคยรู้พลั้งและจะไม่มีวันทำผิด” Gerard Brandt, History of the Reformation in and About the Low Countries เล่มที่ 1 หน้าที่ 6 {GC 237.1}GCth17 201.1

    ศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า มีคนอื่นๆ ลุกขึ้นมาสะท้อนคำประท้วงนี้ และครูสอนรุ่นแรกที่เดินทางผ่านดินแดนต่างๆ และรู้จักกันในนามต่างๆ รับอุปนิสัยของมิชชันนารีชาววูดัวซ์ ประกาศความรู้เรื่องข่าวประเสริฐไปยังทุกที่จนแทรกเข้าไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ คำสอนของพวกเขากระจายไปอย่างรวดเร็ว พวกเขาแปลพระคัมภีร์ของชาววอลเดนซิสออกมาเป็นข้อๆ เป็นภาษาดัช พวกเขาประกาศว่า “ในนั้นมีประโยชน์มากมาย ไม่มีเรื่องตลก ไม่มีนิยาย ไม่มีการพูดเล่น ไม่มีการหลอกลวง มีแต่ถ้อยคำแห่งสัจธรรม จริงๆ แล้วมีเปลือกแข็งอยู่บ้าง ที่นั่นนิดที่นี่หน่อย แต่ว่าส่วนที่เป็นไขกระดูกและความหวานของสิ่งที่ดีและศักดิ์สิทธิ์จะพบได้ในนั้นอย่างง่ายดาย” Ibid. เล่มที่ 1 หน้าที่ 14 มิตรสหายในความเชื่อสมัยโบราณเขียนไว้เช่นนี้ในศตวรรษที่สิบสอง {GC 238.1}GCth17 202.1

    บัดนี้การกดขี่ของโรมเริ่มขึ้นแล้ว แต่ท่ามกลางกองฟืนและการทรมาน ผู้เชื่อยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประกาศด้วยความแน่วแน่ว่าพระคัมภีร์เป็นสิทธิอำนาจเดียวที่ไม่ผิดพลาดของศาสนาและ “ ไม่ควรบังคับมนุษย์ผู้ใดให้เชื่อ แต่ต้องเอาชนะเขาด้วยการเทศนาสั่งสอน” Martyn เล่มที่ 2 หน้าที่ 87 {GC 238.2}GCth17 202.2

    คำสอนของลูเธอร์พบดินที่เอื้ออำนวยในประเทศเนเธอร์แลนด์และคนจริงใจและซื่อสัตย์ต่างลุกขึ้นมาเทศนาข่าวประเสริฐ เมนโน ไซมอนซ์ [Menno Simons] มาจากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งของประเทศฮอลลันดา เขารับการศึกษาตามแบบฉบับของโรมันคาทอลิกและรับการเจิมให้เป็นบาทหลวง เขาไม่มีความรู้เรื่องพระคัมภีร์เลยและเขาไม่ต้องการอ่านเพราะกลัวจะถูกหลอกให้เชื่อในเรื่องนอกรีต เมื่อความสงสัยเรื่องหลักคำสอนการแปรสาร [Transubstantiation หลักคำสอนเรื่องพิธีศีลมหาสนิทที่ว่า เมื่อบาทหลวงเสกขนมปังและเหล้าองุ่นแล้วสารของขนมปังและเหล้าองุ่นก็เปลี่ยนเป็นสารแท้ของพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ ส่วนรูปปรากฏยังคงเป็นขนมปังและเหล้าองุ่นอยู่] รุกเร้าใส่เขา เขาถือว่าเป็นการทดลองที่มาจากซาตานและหาทางที่จะปลดตัวเองออกด้วยการอธิษฐานและการสารภาพบาป แต่ไม่เกิดผล เขาพยายามสงบเสียงของจิตสำนึกด้วยการคลุกคลีกับเรื่องที่ไม่ชวนให้คิดถึงความสงสัยนี้ แต่ไม่ประสบผล หลังจากนั้นระยะหนึ่งเขามีโอกาสศึกษาพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่รวมทั้งงานเขียนของลูเธอร์ทำให้เขายอมรับความเชื่อที่ปฏิรูปแล้ว ไม่นานหลังจากนั้น เขาไปเห็นการประหารชายคนหนึ่งด้วยการตัดศีรษะเพราะไปรับบัพติศมาใหม่ เรื่องนี้นำเขาไปศึกษาพระคัมภีร์ในเรื่องการให้บัพติศมากับทารก เขาไม่พบหลักฐานของเรื่องนี้ในพระคัมภีร์ แต่เห็นว่าพระคัมภีร์ทุกตอนของเรื่องนี้ระบุว่าการกลับใจและความเชื่อเป็นเงื่อนไขของการรับบัพติศมา {GC 238.3}GCth17 202.3

    เมนโนถอนตัวออกจากคริสตจักรโรมันและอุทิศชีวิตเพื่อสอนสัจธรรมที่เขารับมา ทั้งในประเทศเยอรมนีและประเทศเนเธอร์แลนด์มีคนคลั่งศาสนากลุ่มหนึ่งปรากฏขึ้น สอนความเชื่อเหลวไหลและปลุกระดมมวลชน ทำลายความมีระเบียบและความดีงาม และมุ่งไปสู่ความรุนแรงและการกบฏ เมนโนมองเห็นผลอันน่าหวาดกลัวที่ขบวนการนี้กำลังก่อให้เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเขาบากบั่นอย่างเหนียวแน่นในการต่อต้านคำสอนผิดๆ และแผนการป่าเถื่อนของพวกคลั่งศาสนากลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามมีคนมากมายที่เคยถูกขบวนการนี้นำไปในทางผิด แต่ได้ละทิ้งคำสอนเลวร้ายไปแล้วและยังมีลูกหลานของคริสเตียนดั้งเดิมซึ่งเป็นผลจากคำสอนของชาววอลเดนซิส เมนโนทำงานอยู่กับคนกลุ่มนี้ด้วยความกระตือรือร้นและประสบผลอย่างสูง {GC 239.1}GCth17 203.1

    เขาเดินทางพร้อมกับภรรยาและลูกๆ เป็นเวลายี่สิบห้าปี ทนกับความยากลำบากและความขัดสนอย่างรุนแรง และบ่อยครั้งเสี่ยงภัยถึงชีวิต เขาท่องไปทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์และภาคเหนือของประเทศเยอรมนี ส่วนใหญ่ทำงานกับชนชั้นยากจน แต่ส่งผลกระทบกว้างไกล โดยธรรมชาติเขาเป็นคนมีวาทศิลป์ แม้จะมีการศึกษาจำกัด เขาเป็นคนที่มีจริยธรรมอย่างไม่หวั่นไหว มีใจถ่อมและมารยาทดีงามและมีความเคร่งครัดฝ่ายศาสนาที่จริงจังและจริงใจ เป็นแบบอย่างชีวิตตามคำสอนที่เขาสอน และได้รับความไว้วางใจของประชาชน ผู้ติดตามของเขาถูกกดขี่ข่มเหงจนกระจาย พวกเขาทุกข์ทรมานอย่างหนักจากการไปยุ่งกับพวกคลั่งศาสนามุนสเตอไรต์ [Munsterites หมายถึงกลุ่มศาสนาที่ตั้งขึ้นในเมืองมุนสเตอของประเทศเยอรมนี] อย่างไรก็ตามคนจำนวนมากมารับเชื่ออันเนื่องจากผลงานของเขา {GC 239.2}GCth17 203.2

    ไม่มีที่ใดรับหลักคำสอนการปฏิรูปอย่างกว้างขวางเท่ากับที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีไม่กี่ประเทศที่ผู้เชื่อต้องทนต่อการกดขี่ข่มเหงรุนแรงกว่าที่นี่ ในประเทศเยอรมนี จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 ทรงประกาศห้ามการปฏิรูปศาสนาและพร้อมจะนำผู้เชื่อทั้งหมดไปยังหลักประหาร แต่เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายทรงลุกขึ้นขัดขวางความเผด็จการของพระองค์ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ กษัตริย์ฟีลิปที่ 2 ทรงใช้อำนาจยิ่งกว่านั้นและออกประกาศคำสั่งกดขี่ติดต่อกันเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง การอ่านพระคัมภีร์ การฟังเทศนาเรื่องของพระคัมภีร์หรือแม้จะพูดเรื่องพระคัมภีร์ต้องได้รับโทษถึงตายที่หลักประหาร การอธิษฐานทูลต่อพระเจ้าในที่ลับ การละเว้นจากการกราบไหว้รูปเคารพ หรือการร้องเพลงสดุดีต้องรับโทษถึงตายเช่นกัน แม้ผู้ที่สาบานว่าจะตัดขาดจากความผิดก็ยังต้องรับโทษประหาร หากเป็นชายให้ตายด้วยดาบ หากเป็นหญิงให้ฝังทั้งเป็น คนนับพันพินาศไปภายใต้การปกครองของจักรพรรดิชาร์ลส์และกษัตริย์ฟีลิปที่ 2 {GC 239.3}GCth17 203.3

    มีอยู่ครั้งหนึ่ง คนทั้งครอบครัวถูกนำมาอยู่ต่อหน้าผู้สอบสวนด้วยข้อกล่าวหาว่าไม่เข้าร่วมพิธีมิสซาและนมัสการกันเองที่บ้าน เมื่อผู้สอบสวนถามถึงเรื่องการปฏิบัติที่ทำกันอย่างลับๆ ลูกคนเล็กที่สุดตอบว่า “เราคุกเข่าลงและอธิษฐานขอให้พระเจ้าส่องสว่างความคิดของเราและอภัยบาปของเรา เราอธิษฐานเผื่อพระมหากษัตริย์ของเรา เพื่อให้การปกครองของพระองค์รุ่งเรืองและชีวิตของพระองค์มีความสุข เราอธิษฐานเผื่อพนักงานปกครองขอให้พระเจ้าพิทักษ์รักษาพวกเขา” Wylie เล่มที่ 18 บทที่ 6 ผู้พิพากษาบางคนได้รับความเร้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่กระนั้นผู้เป็นพ่อและลูกคนหนึ่งถูกตัดสินให้ตายที่หลักประหาร {GC 240.1}GCth17 204.1

    ความเดือดดาลของผู้กดขี่มีมากพอๆ กับความเชื่อของผู้ยอมพลีชีพ ไม่เพียงผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงที่บอบบางและเด็กสาวที่อ่อนวัยแสดงความกล้าหาญที่ไม่สะทกสะท้าน “ผู้เป็นภรรยาจะลุกขึ้นยืนเคียงข้างเสาประหารของสามีและในขณะที่เขาทุกข์ทรมานอยู่กับไฟ ภรรยาจะกระซิบคำปลอบใจหรือร้องเพลงสดุดีให้กำลังใจสามี” “หญิงสาวเยาว์วัยลงนอนในหลุมศพในขณะยังมีชีวิตประหนึ่งกำลังเดินเข้าห้องนอนของเธอในยามค่ำคืน หรือไปยังตะแลงแกงและกองไฟแต่งตัวด้วยอาภรณ์ดีที่สุด ราวกับว่ากำลังเดินเข้าสู่พิธีสมรสของตนเอง” Ibid. เล่มที่ 18 บทที่ 6 {GC 240.2}GCth17 204.2

    เช่นเดียวกับสมัยที่พวกนอกศาสนาเพียรพยายามทำลายข่าวประเสริฐ เลือดของคริสเตียนเป็นเหมือนเมล็ดพืช (โปรดดู Tertullian, Apology ย่อหน้าที่ 50) การกดขี่ข่มเหงมีแต่จะเป็นเหตุให้พยานเพื่อสัจธรรมเพิ่มจำนวนมากขึ้น ปีแล้วปีเล่า ราชวงศ์ทั้งหลายรุมเร้าอยู่ในความบ้าคลั่งอันเนื่องมาจากความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของประชาชนที่พวกเขาปราบไม่ได้ พวกเขายังคงดิ้นรนต่อไปกับงานโหดเหี้ยมของตน แต่ก็ไร้ผล ภายใต้การนำของวิลเลียมแห่งเมืองโอเรนจ์ [William of Orange] ผู้สูงส่ง ในที่สุดการปฏิวัติก็ได้นำเสรีภาพในการนมัสการพระเจ้ามาสู่ประเทศฮอลลันดา {GC 240.3}GCth17 204.3

    ในเทือกเขาพิดมอนต์ บนพื้นราบของประเทศฝรั่งเศสและบนชายหาดของประเทศฮอลลันดา การเติบโตของข่าวประเสริฐสร้างด้วยเลือดของเหล่าสาวก แต่ในประเทศทางเหนือ ข่าวประเสริฐแผ่เข้าไปได้อย่างสันติ เมื่อนักศึกษาแห่งเมืองวิตเทนเบิร์กเดินทางกลับบ้าน พวกเขานำความเชื่อของการปฏิรูปไปสู่ประเทศสแกนดิเนเวีย งานเขียนของลูเธอร์ที่ตีพิมพ์แล้วก็ช่วยกระจายความกระจ่าง ประชาชนธรรมดาและยากไร้ของทางเหนือหันหลังให้กับความเสื่อมจริยธรรม ความหรูหราและความงมงายของโรมเพื่อต้อนรับสัจธรรมอันบริสุทธิ์ เรียบง่ายและดลบันดาลชีวิตของพระคัมภีร์ {GC 240.4}GCth17 204.4

    ทาวเซ็น [Tausen] “นักปฏิรูปศาสนาของประเทศเดนมาร์ก” เป็นบุตรของชาวนาคนหนึ่ง เด็กชายคนนี้แสดงออกตั้งแต่เยาว์วัยถึงความฉลาดทางปัญญาที่ตื่นตัว เขากระหายการศึกษา แต่ถูกปฏิเสธอันเนื่องจากฐานะของพ่อแม่ เขาจึงเข้าไปอยู่ในวัด ความบริสุทธิ์ของชีวิตและความขยันและความซื่อตรงของเขาทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดูแลเขา การสอบบ่งบอกว่าเขามีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับคริสตจักรในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงตัดสินใจที่จะให้เขารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งของประเทศเยอรมนีหรือประเทศเนเธอร์แลนด์ นักเรียนผู้เยาว์คนนี้ได้รับอนุญาตให้เลือกโรงเรียนเองโดยมีเงื่อนไขว่าห้ามไปที่เมืองวิตเทนเบิร์ก นักศึกษาของคริสตจักรไม่ควรเสี่ยงต่อการรับพิษของคำสอนนอกศาสนา นักบวชภราดรกล่าวไว้เช่นนี้ {GC 241.1}GCth17 205.1

    ทาวเซ็นเดินทางไปเมืองโคโลญจ์ ในเวลานั้นก็เหมือนกับในปัจจุบัน เมืองนี้เป็นป้อมอันแข็งแรงของลัทธิโรมัน ต่อมาไม่นานเขารู้สึกสะอิดสะเอียนต่อความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาของคนที่ไปเล่าเรียน ในช่วงเวลาเดียวกันเขาได้รับหนังสือของลูเธอร์ เขาอ่านหนังสือเหล่านี้ด้วยความประหลาดใจและความดีใจและปรารถนาที่จะได้รับการชี้แนะเป็นการส่วนตัวจากนักปฏิรูปศาสนา แต่การที่จะทำเช่นนี้ เขาต้องเสี่ยงต่อการขัดขืนผู้ดูแลเขาในวัดและสูญเสียการสนับสนุนของพวกเขา เขาจึงตัดสินใจและไม่นานต่อมาสมัครเข้าเป็นนักเรียนที่เมืองวิตเทนเบิร์ก {GC 241.2}GCth17 205.2

    เมื่อเขาเดินทางกลับมาประเทศเดนมาร์ก เขากลับไปประจำอยู่ที่วัดอีกครั้ง ยังไม่มีผู้ใดสงสัยว่าเขาเป็นผู้ฝักใฝ่ในนิกายลูเธอร์เรน เขาไม่ได้เปิดเผยความลับนี้แต่เพียรพยายามที่จะนำคนอื่นๆ ไปสู่ความเชื่อที่บริสุทธิ์กว่าและมีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าโดยไม่ปลุกอคติของเพื่อนๆ เขาเปิดพระคัมภีร์และอธิบายความหมายที่แท้จริงและในที่สุดเทศนาเรื่องของพระคริสต์ให้พวกเขาฟังว่าพระองค์ทรงเป็นความชอบธรรมและทรงเป็นความหวังเดียวของความรอดของคนบาป เรื่องนี้ทำให้นักบวชอาวุโสกว่าโกรธ พวกเขาตั้งความหวังสูงในตัวเขาว่าจะเป็นผู้ปกป้องโรมอย่างอาจหาญ เขาถูกย้ายออกจากวัดไปกักขังอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเหนียวแน่น {GC 241.3}GCth17 205.3

    ผู้ควบคุมคนใหม่ของเขารู้สึกหวาดผวาอย่างยิ่งเมื่อนักบวชหลายคนประกาศยอมรับความเชื่อของนิกายโปรเตสแตนต์ โดยผ่านซี่กรงห้องขังของเขา ทาวเซ็นได้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเขาถึงความรู้เรื่องสัจธรรม หากบาทหลวงเดนมาร์กเหล่านั้นมีความชำนาญในการปฏิบัติตามแผนการจัดการคำสอนนอกรีตของคริสตจักรแล้ว คงจะไม่ได้ยินเสียงของทาวเซ็นอีกต่อไป แต่แทนที่จะส่งเขาไปอยู่ในหลุมศพสักแห่งในคุกมืดใต้ดิน พวกเขากลับขับไล่เขาออกไปจากวัด บัดนี้พวกเขาหมดสิทธิ์ที่จะจัดการกับเขาอีกแล้ว มีราชโองการฉบับหนึ่งที่เพิ่งจะออกมาจากสำนักพระราชวังเสนอการคุ้มครองให้ครูสอนหลักคำสอนใหม่ ทาวเซ็นจึงเริ่มเทศนา โบสถ์ต่างๆ เปิดประตูต้อนรับเขา ประชาชนพากันเข้ามาฟัง นักเทศน์อื่นๆ ก็เทศนาพระวจนะของพระเจ้าเช่นเดียวกัน มีการแจกจ่ายพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่แปลเป็นภาษาแดนิชออกไปอย่างกว้างขวาง ความพยายามของเหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีที่ต้องการทำลายงานนี้ยิ่งเป็นการขยายงานนี้ให้กว้างไกลออกไปอีก และต่อมาไม่นาน ประเทศเดนมาร์กประกาศรับความเชื่อของการปฏิรูปศาสนา {GC 242.1}GCth17 206.1

    ในประเทศสวีเดนก็เหมือนกัน คนหนุ่มที่ดื่มจากบ่อน้ำของเมืองวิตเทนเบิร์กนำน้ำธำรงชีวิตไปสู่เพื่อนร่วมชาติ ในบรรดาผู้ที่ทำงานปฏิรูปทางศาสนาของประเทศสวีเดนมีอยู่สองคนคือโอลาฟ และลูเรนติอูส เพตริ [Olaf and Laurentius Petri] ซึ่งเป็นบุตรของช่างตีเหล็กเมืองโอรีโบร และไปเรียนภายใต้การสอนของลูเธอร์และเมลังค์ธอน ได้กลับมาสอนสัจธรรมที่ทั้งสองร่ำเรียนมาอย่างขะมักเขม้น เช่นเดียวกับนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่คนนั้น ด้วยความกระตือรือร้นและวาทศิลป์ที่ดีเยี่ยม โอลาฟจะกระตุ้นประชาชนให้ตื่น ส่วนลูเรนติอูสนั้น ก็เหมือนกับเมลังค์ธอน เป็นผู้คงแก่เรียน ช่างคิดและสุขุมเยือกเย็น ทั้งสองเป็นคนเคร่งศาสนาอย่างจริงจัง มีมาตรฐานทางศาสนศาสตร์ที่สูงส่งและมีความกล้าหาญที่ไม่หวั่นไหวในการประกาศสัจธรรม การต่อต้านของพวกนิยมระบอบเปปาซีก็ไม่ลดละ บาทหลวงคาทอลิกปลุกระดมประชาชนที่รู้ไม่เท่าทันและเชื่องมงายขึ้นมา โอลาฟ เพตริถูกฝูงชนลอบทำร้ายอยู่เสมอและหลายครั้งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่นักปฏิรูปศาสนาเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบของพระมหากษัตริย์และได้รับการปกป้องจากพระองค์ {GC 242.2}GCth17 206.2

    ภายใต้การปกครองของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ประชาชนจมดิ่งสู่ความยากจนและถูกการกดขี่ข่มเหงรังควาน พวกเขาขาดความรู้เรื่องพระคัมภีร์และมีศาสนาที่เป็นเพียงสัญลักษณ์และพิธีกรรมซึ่งไม่ถ่ายทอดความกระจ่างอันใดมาสู่สติปัญญา พวกเขากำลังกลับไปหาความเชื่องมงายและการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนของบรรพบุรุษของคนนอกศาสนา ประเทศถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ที่ต่อสู้แข่งขันกัน ความขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุดของกลุ่มเหล่านี้ยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้แก่ทุกคน กษัตริย์ทรงตัดสินพระทัยให้มีการปฏิรูปประเทศและคริสตจักร และพระองค์ทรงต้อนรับผู้ช่วยที่มีความสามารถเหล่านี้ให้มาช่วยต่อสู้กับโรม {GC 243.1}GCth17 207.1

    ต่อหน้าพระราชาและผู้นำของประเทศสวีเดน โอลาฟ เพตริปกป้องหลักคำสอนความเชื่อของการปฏิรูปกับพวกนักต่อสู้ของฝ่ายโรมด้วยความสามารถที่เยี่ยมยอด เขาเปิดเผยว่าการจะรับคำสอนของเหล่าบรรพบุรุษได้นั้นก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับพระคัมภีร์เท่านั้น และยังบอกว่าสาระสำคัญของความเชื่อมีบันทึกไว้อย่างชัดเจนและเรียบง่ายในพระคัมภีร์ เพื่อให้คนทั้งปวงเข้าใจ พระคริสต์ตรัสว่า “คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของผู้ทรงใช้เรามา” ยอห์น 7:16 และอัครทูตเปาโลเปิดเผยว่าหากท่านจะประกาศข่าวประเสริฐอื่น ซึ่งขัดกับข่าวประเสริฐแล้ว ท่านเองก็ต้องถูกแช่งสาป (กาลาเทีย 1: 8) นักปฏิรูปกล่าวว่า “แล้วคนอื่นๆ จะตราหลักเกณฑ์ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ขึ้นมาตามอำเภอใจและกำหนดว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความรอดได้อย่างไร” Wylie เล่มที่ 10 บทที่ 4 เขาแสดงให้ประจักษ์ว่าคำสั่งของคริสตจักรไม่มีสิทธิอำนาจในการบังคับเมื่อขัดกับพระบัญชาของพระเจ้า พร้อมทั้งปกป้องรักษาหลักการยิ่งใหญ่ของความเชื่อโปรเตสแตนต์ที่ว่า “พระคัมภีร์และพระคัมภีร์เท่านั้น” เป็นหลักเกณฑ์ของความเชื่อและการถือปฏิบัติ {GC 243.2}GCth17 207.2

    การต่อสู้นี้แม้จะดำเนินอยู่บนเวทีที่ค่อนข้างไม่เป็นที่ทราบกันก็ตาม แต่มีผลแสดงให้เราทราบว่า “ผู้คนประเภทใดที่เข้ามาประจำตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพของนักปฏิรูปศาสนา พวกเขาไม่ใช่ผู้ไร้การศึกษา พวกชอบแบ่งแยก พวกชอบขัดแย้งโวยวาย—ตรงกันข้ามอย่างลิบลับ พวกเขาเป็นคนที่ศึกษาพระวจนะของพระเจ้ามาแล้ว รู้วิธีการใช้อาวุธที่พระคัมภีร์จัดหามาให้พวกเขา ในแง่ของความรู้ พวกเขาก้าวล้ำยุคไปแล้ว เมื่อเราจำกัดความสนใจของเราไปยังศูนย์กลางอันโดดเด่นเช่นเมืองวิตเทนเบิร์กและเมืองซูริคและบุคคลเลื่องลือชื่อเช่นลูเธอร์และเมลังค์ธอน สวิงก์ลีและอีโคลัมพาเดียสแล้ว ก็มักจะมีการแย้งว่าคนเหล่านี้เป็นผู้นำของขบวนการและเป็นธรรมดาที่เราจะคาดว่าคนเหล่านี้มีพลังยิ่งใหญ่และความรู้กว้างขวาง แต่ผู้ที่เป็นลูกน้องของพวกเขาไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เอาละให้เรากลับไปมองดูโรงละครที่ไม่ค่อยมีใครทราบเรื่องและไร้ชื่อเสียงของประเทศสวีเดนรวมถึงนามอันต่ำต้อยอย่างเช่นโอลาฟและลูเรนติอูส เพตริ จากบรรดาอาจารย์ลงไปถึงสาวกทั้งหลาย เราจะพบอะไร.....นักวิชาการและนักศาสนศาสตร์ บุคคลที่เข้าใจข่าวประเสริฐแห่งสัจธรรมทั้งระบบอย่างถ่องแท้ และเป็นผู้มีชัยชนะเหนือผู้เชี่ยวชาญการศึกษาและบุคคลยิ่งใหญ่ทั้งหลายของโรม” Ibid. เล่มที่ 10 บทที่ 4{GC 243.3}GCth17 207.3

    จากผลของความขัดแย้งนี้ กษัตริย์ของประเทศสวีเดนทรงรับความเชื่อของโปรเตสแตนต์และไม่นานต่อมารัฐสภาประกาศสนับสนุนเข้าข้างความเชื่อนี้ โอลาฟ เพตริแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาสวีเดน และตามพระประสงค์ของพระราชา พี่น้องทั้งสองได้ลงมือแปลพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ด้วยประการฉะนี้ ประชาชนในประเทศสวีเดนจึงได้รับพระวจนะของพระเจ้าเป็นครั้งแรกในภาษาแม่ ที่ประชุมรัฐสภาประกาศสั่งทั่วทั้งอาณาจักรให้อาจารย์อธิบายพระคัมภีร์และต้องสอนเด็กๆ ในโรงเรียนให้อ่านพระคัมภีร์ด้วย {GC 244.1}GCth17 208.1

    ความกระจ่างอันเป็นพระพรของข่าวประเสริฐขับไล่ความมืดมนอันเนื่องจากความไม่รู้และความงมงายให้ออกไปอย่างมั่นคงและแน่นอน พวกเขาหลุดพ้นจากการกดขี่ของโรม บ้านเมืองบรรลุถึงความแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ซึ่งไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน ประเทศสวีเดนเป็นป้อมปราการปกป้องความเชื่อของโปรเตสแตนต์ หนึ่งศตวรรษต่อมา ในช่วงเวลาบอบช้ำอันตรายที่สุด ประเทศเล็กๆ และอ่อนแอนี้ เป็นประเทศเดียวในทวีปยุโรปที่กล้ายื่นมือแห่งความช่วยเหลือออกไป—เพื่อช่วยประเทศเยอรมนีให้รอดจากการต่อสู้อย่างเหี้ยมโหดของสงครามสามสิบปี ดูประหนึ่งว่าทวีปยุโรปตอนเหนือทั้งหมดต้องตกอยู่ภายใต้เผด็จการของโรมอีกครั้งหนึ่ง กองทัพของสวีเดนเป็นผู้ที่ทำให้ประเทศเยอรมนีพลิกชัยชนะที่อยู่แค่เอื้อมของพระสันตะปาปาไปสู่ความพ่ายแพ้ และนำชัยชนะของเสรีภาพทางความเชื่อมาสู่ชาวโปรเตสแตนต์รวมทั้งชาวคาลวินนิยม [Calvinist ผู้ที่เชื่อตามคำสอนของคาลวิน] และชาวลูเธอร์เรน และนำเสรีภาพทางจิตสำนึกคืนสู่ประเทศที่ยอมรับการปฏิรูปทางศาสนา {GC 244.2}GCth17 208.2

    *****