Loading...
Larger font
Smaller font
Copy
Print
Contents

อุทาหรณ์จากคำสอนของพระคริสต์

 - Contents
  • Results
  • Related
  • Featured
No results found for: "".
  • Weighted Relevancy
  • Content Sequence
  • Relevancy
  • Earliest First
  • Latest First

    บทที่ 19 - มิติแห่งการให้อภัย

    อ้างอิงจาก มัทธิว 18:21-35

    เปโตรเข้าเฝ้าพระคริสต์พร้อมด้วยคำถามว่า “ข้าพระองค์ควรยกโทษให้พี่น้องที่ทำผิดต่อข้าพระองค์สักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งเชียวหรือ” รับบีจำกัดการอภัยโทษไว้สามครั้ง สำหรับเปโตรเขาคิดว่าเขาปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่พระคริสต์ทรงสอนว่าเราไม่ควรเอือมระอาต่อการให้อภัย พระองค์ตรัสว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าเจ็ดครั้งแต่เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” มัทธิว 18:21, 22 {COL 243.1}COLTh 203.1

    จากนั้น พระองค์ทรงเปิดเผยให้ทราบถึงรากฐานที่แท้จริงของการให้อภัยและทรงกล่าวถึงภัยอันตรายจากการมีจิตใจที่ไม่ยอมยกโทษให้ผู้อื่น ในอุปมา พระองค์ตรัสถึงวิธีปฏิบัติของเจ้าองค์หนึ่งต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบริหารการปกครอง เจ้าหน้าที่บางคนรับเงินจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดิน ขณะที่กษัตริย์ทรงสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่บริหารของเจ้าหน้าที่เหล่านี้อยู่นั้น ทรงตรวจพบในบัญชีของชายคนหนึ่งที่ถูกนำตัวมาเข้าเฝ้าว่าเป็นหนี้พระองค์ด้วยเงินจำนวนสูงถึงหนึ่งหมื่นตะลันต์ [หนึ่งตะลันต์เป็นจำนวนเงินที่จ้างคนงานให้ทำงานมากกว่า 15 ปี] เขาไม่มีเงินชำระคืน และกษัตริย์ทรงมีบัญชาตามระเบียบที่ปฏิบัติกันอยู่ ให้นำตัวไปขายพร้อมทั้งสิ่งของทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่ชายหวาดกลัวผู้นี้ล้มลงแทบเท้าอ้อนวอนต่อเจ้าองค์นั้นว่า “ ขอโปรดผัดไว้ก่อน แล้วข้าพระองค์จะใช้หนี้ทั้งหมด เจ้าองค์นั้นทรงสงสาร จึงทรงปล่อยตัวเขาและทรงยกหนี้ {COL 243.2}COLTh 203.2

    แต่เมื่อทาสคนนั้นออกไปก็พบคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนทาสด้วยกันที่เป็นหนี้เขาอยู่หนึ่งร้อยเดนาริอัน [หนึ่งเหรียญเดนาริอันเป็นจำนวนเงินที่จ้างคนงานให้ทำงาน 1 วัน] เขาก็จับคนนั้น บีบคอบอกว่า แกต้องใช้หนี้ให้ข้า เพื่อนทาสคนนั้นจึงกราบลงอ้อนวอนว่า ขอผัดไว้ก่อน แล้วข้าจะใช้ให้ แต่เขาไม่ยอม จึงนำทาสลูกหนี้นั้นไปขังคุกไว้จนกว่าจะสามารถใช้หนี้ได้ พวกเพื่อนทาสเมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง และนำเหตุการณ์ทั้งหมดไปกราบทูลเจ้าองค์นั้น ท่านจึงเรียกทาสนั้นมาตรัสว่า ไอ้ข้าชั่วร้าย เรายกหนี้ให้เอ็งทั้งหมด ก็เพราะเอ็งอ้อนวอนเรา เอ็งควรจะเมตตาเพื่อนทาสด้วยกันเหมือนเราเมตตาเอ็งไม่ใช่หรือ แล้วเจ้าองค์นั้นก็กริ้ว จึงทรงมอบทาสคนนั้นไว้ให้เจ้าหน้าที่ทรมานจนกว่าจะใช้หนี้หมด ” มัทธิว 18:26-36 {COL 244.1}COLTh 204.1

    อุปมานี้ให้รายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการมองเห็นภาพของเรื่องราวแต่เป็นส่วนที่ไม่ได้มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ เราจึงไม่ควรหันเหความสนใจไปที่เรื่องเหล่านั้น มีความจริงอันยิ่งใหญ่บางอย่างได้รับการเปิดเผยให้เห็นและเราควรตรึกตรองถึงเรื่องเหล่านี้ {COL 244.2}COLTh 204.2

    การให้อภัยของกษัตริย์องค์นี้หมายถึงพระเจ้าทรงให้อภัยบาปทั้งหมด กษัตริย์หมายถึงพระคริสต์ผู้ทรงมีพระทัยสงสารเห็นใจจนกระทั่งทรงยกหนี้ของผู้รับใช้ของพระองค์ มนุษย์อยู่ภายใต้บทลงโทษของการละเมิดพระบัญญัติ พวกเขาช่วยตนเองให้รอดไม่ได้และเพราะเหตุนี้เองพระคริสต์เสด็จมายังโลกนี้ ทรงสวมความเป็นมนุษย์แทนความเป็นพระเจ้าและประทานชีวิตของพระองค์เอง พระผู้ชอบธรรมเพื่อคนอธรรม พระองค์ประทานพระองค์เองเพื่อบาปของเรา และพระองค์ประทานการอภัยที่ซื้อมาด้วยพระโลหิตให้แก่จิตวิญญาณ “เพราะในพระยาห์เวห์มีความรักมั่นคงและในพระองค์มีการไถ่อย่างสมบูรณ์ ” สดุดี 130:7 {COL 244.3}COLTh 204.3

    นี่เป็นพื้นหลังที่เราจะต้องแสดงความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่ผิดบาปของเรา “ ถ้าพระเจ้าทรงรักเราอย่างนั้น เราก็ควรจะรักกันและกันด้วย ” 1 ยอห์น 4:11 พระคริสต์ตรัสว่า “ ท่านทั้งหลายได้รับเปล่าๆ ก็จงให้เปล่าๆ” มัทธิว 10:8 {COL 245.1}COLTh 205.1

    เมื่อลูกหนี้ในอุปมาขอผัดผ่อนด้วยคำสัญญาว่า “ขอโปรดผัดไว้ก่อน แล้วข้าพระองค์จะใช้หนี้ทั้งหมด” มัทธิว 18:26 พระองค์ทรงกลับคำสั่ง คำพิพากษาถูกเพิกถอน หนี้ทั้งหมดถูกยกไป และในเวลาต่อมาเขามีโอกาสที่จะทำตามแบบอย่างของเจ้าองค์นั้นซึ่งได้ยกหนี้ให้เขา ขณะที่เขาเดินออกไป เขาพบเพื่อนทาสผู้เป็นหนี้เงินเขาจำนวนเล็กน้อย ตัวเขาเองได้รับการยกหนี้ถึงหนึ่งหมื่นตะลันต์ แต่ลูกหนี้ของเขานั้นเป็นหนี้เพียงหนึ่งร้อย[สตางค์] เขาผู้ได้รับการปฏิบัติด้วยความเมตตากรุณาอย่างสูง แต่กลับปฏิบัติกับเพื่อนทาสบ่าวของเขาอย่างตรงกันข้าม ลูกหนี้ของเขาอ้อนวอนต่อเขาดังเช่นที่เขากระทำกับกษัตริย์ แต่กลับได้ผลที่ต่างกัน ชายผู้ซึ่งได้รับการยกหนี้ไปเมื่อสักครู่ที่ผ่านมากลับไม่มีความสงสารและจิตใจที่อ่อนโยน ความเมตตาที่เขาได้รับ เขากลับไม่ได้นำมาปฏิบัติต่อเพื่อนทาสด้วยกัน เขาไม่ได้เอาใจใส่ต่อคำร้องขอผัดผ่อน เงินจำนวนเล็กน้อยที่เป็นหนี้เขากลับเก็บเอาสิ่งเดียวนั้นมาไว้ในความคิดของตน เขาเรียกร้องเอาทั้งหมดตามที่เขาต้องได้คืน และลงโทษเขาด้วยคำตัดสินที่คล้ายคลึงกับถ้อยคำอย่างเดียวกับที่เขาเคยได้รับการยกหนี้ {COL 245.2}COLTh 205.2

    ในปัจจุบันนี้ มีคนจำนวนมากเพียงใดที่กำลังแสดงจิตใจอย่างเดียวกัน เมื่อลูกหนี้อ้อนวอนต่อเจ้านายขอความเมตตา เขาไม่ได้มีความรู้สึกที่แท้จริงถึงหนี้จำนวนมากมายของเขาที่ติดค้างอยู่ เขาไม่ได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ของเขา เขาหวังเพียงที่จะปลดปล่อยตัวเองเท่านั้น เขาร้องขอว่า ขอโปรดผัดไว้ก่อน แล้วข้าพระองค์จะใช้หนี้ทั้งหมด” ในลักษณะเดียวกันนี้มีหลายคนหวังว่าพวกเขาจะเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าด้วยการกระทำของพวกเขาเอง พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงสภาพการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ของตน พวก เขาไม่ได้ยอมรับพระคุณของพระเจ้าว่าเป็นของประทานที่ทรงโปรดมอบให้เปล่า แต่กลับพยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง จิตใจของพวกเขาไม่ได้แตกสลายอย่างแท้จริงและถ่อมลงเพราะบาปของตน พวกเขากลับบีบบังคับและไม่ให้อภัยผู้อื่น บาปของพวกเขาที่มีต่อพระเจ้านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับบาปของเพื่อนที่กระทำต่อเขาแล้ว ก็เปรียบเท่ากับหนึ่งหมื่นตะลันต์ต่อหนึ่งร้อย[สตางค์] ซึ่งเท่ากับหนึ่งล้านต่อหนึ่งส่วน ถึงกระนั้นเขาก็ยังกล้าที่จะไม่ให้อภัย {COL 245.3}COLTh 205.3

    ในอุปมา กษัตริย์ทรงเรียกลูกหนี้ผู้ไร้ความเมตตาให้มาเฝ้า และ “ตรัสว่า ไอ้ข้าชั่วร้าย เรายกหนี้ให้เอ็งทั้งหมด ก็เพราะเอ็งอ้อนวอนเรา เอ็งควรจะเมตตาเพื่อนทาสด้วยกันเหมือนเราเมตตาเอ็งไม่ใช่หรือ แล้วเจ้าองค์นั้นก็กริ้วจึงมอบทาสคนนั้นไว้ให้แก่เจ้าหน้าที่ทรมานจนกว่าจะใช้หนี้หมด” พระเยซูตรัสว่า “ พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ก็จะทรงทำต่อพวกท่านอย่างนั้น ถ้าพวกท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจของพวกท่าน ” มัทธิว 18:32-35 ผู้ที่ปฏิเสธที่จะให้อภัยผู้อื่นก็กำลังทำให้ความหวังที่ตัวเองจะได้รับการอภัยหมดไป {COL 247.1}COLTh 206.1

    แต่ไม่ควรนำคำสอนจากอุปมานี้ไปประยุกต์ใช้อย่างไม่ถูกต้อง การให้อภัยของพระเจ้าต่อเราไม่ได้ทำให้หน้าที่ของเราที่จะเชื่อฟังพระองค์ลดน้อยลงไป เช่นเดียวกัน น้ำใจแห่งการอภัยของเราที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ไม่ได้ทำให้หน้าที่ของการประพฤติอันชอบธรรมของเราลดน้อยลงไป ในคำอธิษฐานที่พระคริสต์ทรงสอนสาวกทั้งหลาย พระองค์ตรัสว่า “ขอทรงยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์เหมือนพวกข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์ ” มัทธิว 6:12 โดยคำตรัสนี้พระองค์ไม่ได้ทรงหมายความว่าการที่เราจะได้รับการอภัยจากความผิดบาปของเรานั้น เราจะต้องไม่เรียกร้องหนี้ตามสิทธิอันถูกต้องจากลูกหนี้ของเรา ถ้าเขาชำระหนี้ไม่ได้ถึงแม้จะเกิดจากการบริหารที่ไม่ดีของเขา ก็ไม่ควรจับเขาเข้าคุกหรือข่มเหงหรือปฏิบัติไม่ดีต่อเขา แต่อุปมานี้ก็ไม่ได้สอนให้เราสนับสนุนความเกียจคร้าน พระวจนะของพระเจ้ากล่าวว่า “ถ้าใครไม่ยอมทำงาน ก็อย่าให้เขากิน” 2 เธสะโลนิกา 3:10 พระยาห์เวห์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ที่ทำงานหนักสนับสนุนให้คนอื่นเกียจคร้าน หลายคนปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่าๆ และขาดความพยายามจนทำให้เกิดความยากจนและขัดสนขึ้น หากความคิดที่ผิดของผู้ที่ตามใจพวกเขาไม่ได้มีการแก้ไขแล้ว สิ่งสารพัดที่ทำเพื่อคนเหล่านี้ก็เหมือนกับการใส่สมบัติมีค่าไว้ในถุงที่มีรูรั่ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความยากจนที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราต้องแสดงความเห็นใจต่อคนที่โชคร้าย เราจะต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่เราอยากให้คนอื่นกระทำต่อเราเองในยามที่ตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันนี้ {COL 247.2}COLTh 206.2

    พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสผ่านอัครทูตเปาโลว่า “เพราะฉะนั้น ในเมื่อมีความชูใจในความสัมพันธ์กับพระคริสต์ มีการปลอบโยนจากความรัก มีการสามัคคีธรรมกันจากพระวิญญาณและมีความเห็นใจกันและความเมตตากรุณา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายทำให้ความยินดีของข้าพเจ้าเต็มเปี่ยม ด้วยการมีความคิดอย่างเดียวกัน มีความรักอย่างเดียวกัน มีจิตใจและความคิดเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่าทำสิ่งใดด้วยการชิงดีหรือถือดี แต่จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆ ด้วย จงมีจิตใจเช่นนี้ในพวกท่านเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์” ฟีลิปปี 2:1-5 {COL 248.1}COLTh 207.1

    แต่เราไม่ควรถือบาปว่าเป็นเรื่องเล็ก พระยาห์เวห์ตรัสบัญชาเราไม่ให้ยอมทนต่อความผิดที่พี่น้องของเราได้ทำลงไป พระองค์ตรัสว่า “ถ้าพี่น้องผิดต่อท่าน จงเตือนเขา” ลูกา 17:3 จะต้องชี้ให้คนทำผิดเห็นว่าบาปก็คือบาปและต้องทำให้เขาเห็นความผิดอย่างตรงไปตรงมา {COL 248.2}COLTh 207.2

    โดยการดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เปาโลเขียนคำกำชับไปยังทิโมธีว่า “ ห้ทำอย่างขะมักเขม้นทั้งในขณะที่คนสนใจและไม่สนใจ จงชักชวน เตือนสติและหนุนใจด้วยความอดทนและด้วยการสั่งสอนอย่างเต็มที่” 2 ทิโมธี 4:2 และยังเขียนถึงทิตัสอีกว่า “เพราะว่ามีคนจำนวนมากที่ดื้อด้าน พูดแต่เรื่องไม่มีประโยชน์และหลอกลวง… เพราะฉะนั้นท่านจงว่ากล่าวเขาให้แรงๆ เพื่อให้พวกเขามีความเชื่อที่ถูกต้อง” ทิตัส 1:10-13 {COL 248.3}COLTh 207.3

    พระคริสต์ตรัสว่า “หากพี่น้องของท่านคนหนึ่งทำผิดต่อท่าน จงไปหาและชี้ความผิดต่อเขาสองต่อสองเท่านั้น ถ้าเขาฟังท่าน ท่านจะได้พี่น้องคืนมา แต่ถ้าเขาไม่ฟังท่าน จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย เพื่อให้คำพูดทุกคำได้รับการยืนยันด้วยปากของสองสามคนเพื่อทุกคำจะเป็นหลักฐานได้ ถ้าเขาไม่ฟังคนเหล่านั้น จงไปแจ้งต่อคริสตจักร ถ้าเขายังไม่ฟังคริสตจักรอีก ก็ให้ถือว่าเขาเป็นเหมือนคนต่างชาติหรือคนเก็บภาษี” มัทธิว 18:15-17 {COL 248.4}COLTh 208.1

    พระยาห์เวห์ พระเจ้าของเราทรงสอนว่าปัญหาระหว่างพี่น้องคริสเตียนด้วยกันจะต้องจัดการให้เรียบร้อยภายในคริสตจักร พวกเขาจะต้องไม่เปิดเผยความขัดแย้งต่อหน้าผู้ที่ไม่ได้ยำเกรงพระเจ้า หากคริสเตียนคนหนึ่งถูกพี่น้องในคริสตจักรกระทำผิด อย่าให้เขานำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลที่ไม่เชื่อพระเจ้า ให้เขาดำเนินตามคำสอนของพระคริสต์ แทนที่จะหาทางแก้แค้น เขาควรจะพยายามช่วยพี่น้องผู้นั้นให้รอด พระเจ้าจะทรงพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ที่รักและยำเกรงพระองค์และมอบคดีความของเราไว้กับพระองค์ผู้ทรงตัดสินความด้วยความชอบธรรมได้อย่างมั่นใจ {COL 248.5}COLTh 208.2

    บ่อยครั้งที่มีการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และผู้กระทำผิดสารภาพความผิดของตนแล้ว ผู้ที่ได้รับความเสียหายเบื่อหน่ายและคิดว่าเขาให้อภัยมามากพอแล้ว แต่องค์พระผู้ช่วยให้รอดตรัสบอกเราอย่างชัดเจนว่าควรปฏิบัติเช่นไรกับผู้ที่กระทำผิดเช่นนี้ “ถ้าพี่น้องทำผิดต่อท่าน จงเตือนเขา และถ้าเขากลับใจแล้วก็จงยกโทษให้” ลูกา 17:3 อย่าปล่อยเขาไปด้วยความไม่ไว้วางใจ จงพิจารณา “โดยคิดถึงตัวเอง เกรงว่าท่านจะถูกทดลองด้วย” กาลาเทีย 6:1 {COL 249.1}COLTh 208.3

    ถ้าพี่น้องทำผิด ท่านต้องให้อภัยเขา เมื่อพวกเขาเข้ามาสารภาพต่อท่าน ท่านจะต้องไม่พูดว่า ฉันไม่คิดว่าพวกเขาถ่อมตัวลงมากพอ ฉันไม่คิดว่าพวกเขารู้สึกถึงการสารภาพของพวกเขา ท่านมีสิทธิอะไรที่ไปตัดสินพวกเขาราวกับท่านอ่านจิตใจของพวกเขาออก พระดำรัสของพระเจ้ากล่าวว่า ถ้าเขากลับใจแล้วก็จงยกโทษให้ แม้เขาจะผิดต่อท่านวันหนึ่งถึงเจ็ดครั้งและเขากลับมาหาท่านทั้งเจ็ดครั้งนั้น แล้วบอกว่า ฉันกลับใจแล้ว จงยกโทษเขาเถิด” ลูกา 17:3, 4 และไม่เพียงเจ็ดครั้งแต่เจ็ดสิบคูณด้วยเจ็ด เหมือนกับที่พระเจ้าทรงอภัยแก่ท่านอยู่เสมอ {COL 249.2}COLTh 208.4

    ตัวเราเองเป็นหนี้ทุกอย่างต่อพระคุณอันได้มาเปล่าๆ ของพระเจ้า พระคุณแห่งพันธสัญญาทำให้เรากลับเป็นบุตรของพระเจ้า พระคุณในองค์พระผู้ช่วยให้รอดก่อให้เกิดการไถ่ การบังเกิดใหม่และการถูกยกชูขึ้นให้มีส่วนเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ จงให้พระคุณนี้เปิดเผยออกแก่ผู้อื่น {COL 250.1}COLTh 209.1

    อย่าเปิดทางให้ผู้ที่กระทำผิดรู้สึกเสียขวัญและหมดกำลังใจ อย่าให้ความแข็งกระด้างแบบฟาริสีเข้ามาและสร้างความปวดร้าวต่อพี่น้องของท่าน อย่าให้การเยาะเย้ยเหยียดหยามขมขื่นเกิดขึ้นในความคิดหรือในจิตใจ อย่าให้การดูหมิ่นแสดงออกในน้ำเสียงของท่าน ถ้าท่านใช้คำพูดของตัวเอง ถ้าท่านแสดงทัศนคติแบบไม่สนใจหรือแสดงความสงสัยหรือไม่เชื่อใจ อาจจะทำให้เกิดความพินาศของจิตวิญญาณดวงหนึ่งได้ เขาต้องการพี่น้องที่มีจิตใจของพี่ชายใหญ่คนโตในสวรรค์ที่เต็มไปด้วยความเห็นใจเพื่อจะสัมผัสกับจิตใจมนุษย์ ให้เขารู้สึกการสัมผัสจากมือที่มีความเห็นอกเห็นใจ และได้ยินเสียงกระซิบว่าให้เราร่วมกันอธิษฐาน พระเจ้าจะประทานประสบการณ์อันมีค่ายิ่งให้กับท่านทั้งสอง การอธิษฐานจะผูกพันตัวเราเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า การอธิษฐานจะนำองค์พระเยซูมาอยู่ข้างกายเราและให้พลังใหม่แก่จิตวิญญาณที่อ่อนล้างุนงงเพื่อให้มีชัยเหนือโลก เหนือเนื้อหนังและมารร้าย การอธิษฐานขับไล่การโจมตีของมารซาตานไปเสีย {COL 250.2}COLTh 209.2

    เมื่อคนหนึ่งหันจากความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ แล้วมองไปยังพระเยซู จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามแบบของพระเจ้า พระวิญญาณของพระคริสต์ผู้ประกอบกิจในจิตใจทำให้บุคคลนั้นเลียนแบบพระฉายาของพระองค์ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพยายามของท่านที่จะยกชูพระเยซูขึ้น จงให้ดวงตาแห่งความคิดของท่านมุ่งไปยัง “พระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ทรงรับบาปของโลกไป ยอห์น 1:29 ขณะที่ท่านทำงานนี้อยู่ จงระลึกว่า “ผู้ที่นำคนบาปกลับจากทางผิดของเขา จะช่วยวิญญาณจิตของคนบาปนั้นให้รอดจากความตายและจะทำให้บาปมากมายได้รับการอภัย” ยากอบ 5:20 {COL 250.3}COLTh 209.3

    แต่ถ้าพวกท่านไม่ให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านจะไม่ทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพวกท่านเหมือนกัน” มัทธิว 6:15 ไม่มีสิ่งใดที่จะแก้ตัวให้กับจิตใจที่ไม่ยอมให้อภัย ผู้ที่ไม่ให้ความเมตตาต่อผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเขาเองไม่มีส่วนในพระคุณแห่งการให้อภัยของพระเจ้า ในการอภัยของพระเจ้า จิตใจของผู้กระทำผิดจะถูกดึงเข้ามาใกล้พระทัยแห่งความรักอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์ กระแสแห่งความเห็นอกเห็นใจจากสวรรค์จะไหลทะลักสู่จิตวิญญาณของคนบาปนั้น และออกจากเขาไปสู่จิตวิญญาณของผู้อื่น ความอ่อนโยนและความเมตตาซึ่งพระคริสต์ทรงแสดงออกในชีวิตอันมีค่ายิ่งของพระองค์จะปรากฏในผู้ที่ได้รับแบ่งปันพระคุณของพระองค์ แต่ “ ใครไม่มีพระวิญญาณของพระคริสต์ คนนั้นก็ไม่เป็นของพระองค์ ” โรม 8:9 เขาถูกตัดขาดจากพระเจ้า จึงสมควรที่จะถูกกีดกันออกไปจากพระองค์ตลอดชั่วนิรันดร์ {COL 251.1}COLTh 210.1

    จริงอยู่เขาอาจเคยได้รับการอภัยโทษ แต่จิตใจที่ขาดความเมตตาของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาปฏิเสธความรักแห่งการให้อภัยของพระเจ้า เขาแยกตนเองออกจากพระเจ้าและตกอยู่ในสภาพเดิมเช่นเดียวกับก่อนที่เขาได้รับการอภัยโทษ เขาปฏิเสธการกลับใจของตนเองและบาปยังคงอยู่ในตัวของเขาเหมือนไม่ได้กลับใจใหม่ {COL 251.2}COLTh 210.2

    แต่บทเรียนยิ่งใหญ่ของอุปมานี้อยู่ที่ความแตกต่างระหว่างความเมตตาอย่างเห็นใจของพระเจ้ากับความแข็งกระด้างของจิตใจมนุษย์ อันที่จริงแล้วการให้อภัยด้วยพระเมตตาของพระเจ้านั้น ควรจะเป็นสิ่งที่ใช้วัดตัวของเราเอง “เอ็งควรจะเมตตาเพื่อนทาสด้วยกัน เหมือนเราเมตตาเอ็งไม่ใช่หรือ” มัทธิว 16:33 {COL 251.3}COLTh 210.3

    เรารับการอภัยโทษไม่ใช่เพราะเราให้อภัยผู้อื่น แต่ในขณะที่เราให้อภัย ความรักของพระเจ้าต้องเป็นพื้นฐานแห่งการให้อภัยทั้งหมด แต่โดยท่าทีของเราที่มีต่อผู้อื่น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรารับความรักนั้นมาเป็นของเราหรือไม่ เพราะเหตุนี้พระคริสต์ตรัสว่า “เพราะว่าพวกท่านจะพิพากษาผู้อื่นอย่างไร พระเจ้าจะทรงพิพากษาท่านอย่างนั้น และท่านทั้งหลายจะตวงให้ผู้อื่นด้วยทะนานอันใด พระเจ้าจะทรงตวงให้ท่านด้วยทะนานอันนั้น” มัทธิว 7:2 {COL 251.4}COLTh 211.1

    *****