Loading...
Larger font
Smaller font
Copy
Print
Contents

สงครามครั้งยิ่งใหญ่

 - Contents
  • Results
  • Related
  • Featured
No results found for: "".
  • Weighted Relevancy
  • Content Sequence
  • Relevancy
  • Earliest First
  • Latest First
    Larger font
    Smaller font
    Copy
    Print
    Contents

    บท 3 - ยุคมืดทางจิตวิญญาณ

    ในจดหมายฉบับที่สองที่เขียนไปยังชาวเมืองเธสะโลนิกานั้น อัครทูตเปาโลพยากรณ์ถึงการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ที่จะมีผลก่อให้เกิดอำนาจของระบอบเปปาซี [papacy เปปาซีหมายถึงระบอบการปกครองที่มีพระสันตะปาปาทรงเป็นองค์ประมุข] ท่านประกาศว่าวันของพระคริสต์จะยังมาไม่ถึง “จนกว่าจะมีการกบฏเสียก่อน และคนนอกกฎหมายนั้นจะปรากฏตัว คือลูกแห่งความพินาศ ผู้กีดกั้นขัดขวาง และยกตัวขึ้นต่อสู้ทุกสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นพระ หรือสิ่งที่เขาไหว้นมัสการนั้น แล้วมันก็จะนั่งในพระวิหารของพระเจ้า ประกาศตัวว่าเป็นพระเจ้า” และยิ่งกว่านั้น ท่านอัครทูตยังเตือนพี่น้องของตนว่า “เพราะว่าอำนาจลึกลับนอกกฎหมายนั้นก็เริ่มทำงานอยู่แล้ว” 2 เธสะโลนิกา 2:3, 4, 7 แม้กระทั่งในสมัยยุคแรกเริ่มนั้น ท่านยังมองเห็นว่าหลักคำสอนผิดๆ กำลังคืบคลานเข้ามาสู่คริสตจักรแล้ว ซึ่งเตรียมทางให้เกิดการพัฒนาไปสู่ระบอบเปปาซี {GC 49.1}GCth17 40.1

    ในช่วงแรกเป็นไปอย่างลับๆ และอย่างเงียบๆ ทีละเล็กทีละน้อย และจากนั้นก็ค่อยๆ แผ่อิทธิพลมากยิ่งขึ้นและเข้าครอบงำจิตใจของผู้คน “อำนาจลึกลับนอกกฎหมาย” ดำเนินงานที่หลอกลวงและหมิ่นประมาทพระเจ้านี้อย่างก้าวหน้าต่อไป ขนบธรรมเนียมประเพณีของลัทธินอกศาสนาค่อยๆ คืบคลานเข้ามาสู่คริสตจักรอย่างแทบไม่ทันรู้ตัว วิญญาณแห่งการประนีประนอมและการคล้อยตามกันถูกหน่วงเหนี่ยวไว้ชั่วขณะหนึ่งด้วยการกดขี่ข่มเหงอย่างทารุณโหดร้ายซึ่งคริสตจักรต้องทนอยู่ภายใต้ลัทธินอกศาสนา แต่เมื่อการกดขี่ข่มเหงยุติลงและคริสต์ศาสนาเข้าไปสู่ราชสำนักและพระราชวังของบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย คริสตจักรละทิ้งความเรียบง่ายอันถ่อมตนของพระคริสต์และของอัครทูตทั้งหลายของพระองค์เพื่อรับความโอ่อ่าและความทะนงตนของบรรดานักบวชและผู้ปกครองของคนนอกศาสนา และคริสตจักรนำทฤษฎีและขนบธรรมเนียมของมนุษย์เข้ามาแทนที่ข้อกำหนดต่างๆ ของพระเจ้า ในช่วงต้นศตวรรษที่สี่ การกลับใจมาเป็นคริสเตียนแต่ในนามของจักรพรรดิคอนสแตนตินสร้างความชื่นชมยินดีอันยิ่งใหญ่ให้กับคริสตจักร และวิถีทางของโลกซึ่งถูกคลุมด้วยรูปแบบแห่งความชอบธรรมก็ก้าวเข้ามาในคริสตจักร บัดนี้ การงานแห่งความเสื่อมทรามพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ดูเหมือนว่าลัทธินอกศาสนาหายสาบสูญไป แต่แท้จริงแล้ว มันกำลังเป็นผู้มีชัยต่างหาก วิญญาณของเธอเข้ามาควบคุมคริสตจักร มีการนำหลักคำสอน พิธีกรรม และความเชื่อเรื่องโชคลางต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อและการนมัสการของพวกที่ประกาศว่าเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ {GC 49.2}GCth17 40.2

    การประนีประนอมระหว่างลัทธินอกศาสนาและคริสต์ศาสนานี้ส่งผลทำให้เกิดการพัฒนา “ คนนอกกฎหมาย” ขึ้น ซึ่งถูกทำนายไว้ในคำพยากรณ์แล้วว่าจะเป็นผู้ต่อต้านและยกตนขึ้นเหนือพระเจ้า ระบอบศาสนาเทียมเท็จที่ยิ่งใหญ่นั้นเป็นผลงานชิ้นเอกของอำนาจซาตาน ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความพยายามของมันในการยกตัวเองขึ้นนั่งบนบัลลังก์เพื่อปกครองโลกตามที่มันต้องการ {GC 50.1}GCth17 41.1

    ครั้งหนึ่งซาตานเคยพยายามที่จะประนีประนอมกับพระคริสต์ มันมาหาพระบุตรของพระเจ้าในถิ่นทุรกันดารแห่งการทดลองนั้น และแสดงให้พระองค์ทอดพระเนตรอาณาจักรและความยิ่งใหญ่ทั้งหมดของโลกนี้ มันเสนอที่จะมอบทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์หากพระองค์จะทรงยอมรับอำนาจสูงสุดของเจ้าชายแห่งความมืด พระคริสต์ทรงตำหนิผู้ล่อลวงที่อวดดีและทรงขับไล่มันไปเสีย แต่เมื่อซาตานนำเสนอการทดลองเดียวกันนี้ให้แก่มนุษย์ มันประสบผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า เพื่อที่จะได้มาซึ่งสมบัติและเกียรติยศทางโลกคริสตจักรถูกชักนำให้แสวงหาความพอใจและการสนับสนุนจากเหล่าผู้ยิ่งใหญ่ของโลก และด้วยการทำเช่นนี้ คริสตจักรปฏิเสธพระคริสต์และถูกชักชวนให้แสดงความจงรักภักดีต่อตัวแทนของซาตาน ซึ่งก็คือบิชอปแห่งกรุงโรม [bishop บิชอปหมายถึงสังฆราชหรือมุขนายกเป็นผู้ปกครองดูแล] {GC 50.2}GCth17 41.2

    หนึ่งในบรรดาหลักคำสอนสำคัญของลัทธิโรมันคือพระสันตะปาปาทรงเป็นประมุขที่ประจักษ์แก่ตาของคริสตจักรสากลของพระคริสต์ ทรงมีอำนาจสูงสุดเหนือบิชอปและศิษยาภิบาลทั่วทุกมุมโลก นอกเหนือจากนี้แล้ว พระสันตะปาปายังทรงได้รับตำแหน่งของเทพเจ้าอีกด้วย คือ “องค์พระสันตะปาปาพระผู้เป็นเจ้า” (โปรดดูภาคผนวก) และได้รับการเทิดทูนให้เป็นผู้ไม่รู้พลั้ง มนุษย์ทุกคนต้องแสดงความจงรักภักดี ข้อกล่าวอ้างเดียวกันที่ซาตานเรียกร้องในถิ่นทุรกันดารแห่งการทดลองนั้นก็ยังคงถูกเรียกร้องโดยผ่านคริสตจักรแห่งโรม และคนจำนวนมหาศาลก็พร้อมที่จะมอบถวายการนมัสการแก่มัน {GC 50.3} GCth17 41.3

    แต่ผู้ที่ยำเกรงและถวายเกียรติพระเจ้าเผชิญหน้ากับการอ้างสิทธิ์อย่างกล้าท้าทายสวรรค์นี้เหมือนเช่นที่พระคริสต์ทรงเผชิญหน้ากับการชักชวนของศัตรูเจ้าเล่ห์นั้นด้วยพระดำรัสที่ว่า “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว” ลูกา 4:8 พระเจ้าไม่ทรงเคยเปรยไว้ในพระวจนะของพระองค์ว่าพระองค์ทรงแต่งตั้งมนุษย์คนใดให้เป็นผู้นำในคริสตจักร หลักคำสอนเรื่องอำนาจสูงสุดของระบอบเปปาซีนั้นตรงกันข้ามกับคำสอนของพระคัมภีร์ พระสันตะปาปาไม่อาจมีอำนาจเหนือคริสตจักรของพระคริสต์ได้นอกจากจะได้มาด้วยการฉกชิงเท่านั้น {GC 51.1} GCth17 41.4

    บรรดาผู้นิยมลัทธิโรมันยืนกรานกล่าวหาชาวโปรเตสแตนต์ว่าเป็นพวกนอกรีตและจงใจแยกตัวออกจากคริสตจักรแท้ แต่คำกล่าวหาเหล่านี้น่าจะใช้ได้ดีกับตัวพวกเขาเองมากกว่า พวกเขาเป็นผู้ที่รื้อธงของพระคริสต์ลงและตีตัวออกห่างจาก “ หลักความเชื่อที่ได้ทรงมอบให้กับพวกธรรมิกชนครั้งเดียวสำหรับตลอดไป” ยูดา 3 {GC 51.2} GCth17 41.5

    ซาตานรู้ดีแก่ใจว่า พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์จะทำให้มนุษย์มองเห็นการหลอกลวงและต้านทานอำนาจของมันได้ แม้กระทั่งพระผู้ช่วยให้รอดของโลกก็ยังทรงต่อต้านการโจมตีของมันด้วยพระวจนะ พระคริสต์ทรงยกโล่แห่งความจริงนิรันดร์ขึ้นป้องกันการจู่โจมในทุกๆ รูปแบบ ด้วยตรัสว่า “พระคัมภีร์เขียนไว้ว่า” พระองค์ทรงต้านทุกข้อเสนอของศัตรูคู่อริด้วยพระปัญญาและอำนาจของพระวจนะ เพื่อที่ซาตานจะยังคงมีอิทธิพลอยู่เหนือมนุษย์และสร้างอำนาจให้แก่ผู้ช่วงชิงอย่างระบอบเปปาซีนั้น มันต้องควบคุมให้ขาดความรู้ในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์จะยกชูพระเจ้าและจัดวางมนุษย์ผู้มีขีดจำกัดไว้ให้อยู่ในสถานภาพที่แท้จริงของเขา ด้วยเหตุนี้ มันจึงต้องปกปิดและปราบปรามความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในพระคัมภีร์ คริสตจักรแห่งโรมนำตรรกศาสตร์นี้มาใช้ นับเป็นเวลาหลายร้อยปีมีคำสั่งห้ามแจกจ่ายพระคัมภีร์ ห้ามประชาชนอ่านหรือมีพระคัมภีร์ไว้ในบ้าน และมีเพียงพวกนักบวชกับพระราชาคณะผู้ไม่มีหลักธรรมเท่านั้นที่ตีความคำสอนต่างๆ ของพระคัมภีร์เพื่อสนับสนุนการแอบอ้างของพวกเขา ด้วยเหตุนี้พระสันตะปาปาจึงทรงเป็นที่ยอมรับกันแทบทั่วทั้งโลกในฐานะตัวแทนของพระเจ้าในโลกนี้ซึ่งมีอำนาจเหนือคริสตจักรและรัฐ {GC 51.3} GCth17 42.1

    เมื่อเครื่องจับเท็จถูกนำออกไปแล้ว ซาตานก็ทำงานตามความต้องการของมัน คำพยากรณ์กล่าวไว้แล้วว่าระบอบเปปาซี “จะคิดเปลี่ยนแปลงวาระและธรรมบัญญัติต่างๆ” ดาเนียล 7:25 ระบอบเปปาซีไม่รอช้าที่จะพยายามเริ่มทำงานนี้ เพื่อจะทำให้มีคนกลับใจจากลัทธินอกศาสนาเข้ามานั้น มีการนำบางสิ่งมาทดแทนรูปเคารพเพื่อให้พวกเขากราบไหว้บูชา และด้วยการการทำเช่นนั้นจะเป็นการสนับสนุนการยอมรับคริสต์ศาสนาแต่เพียงในนาม การกราบไหว้บูชารูปปั้นและวัตถุมงคลต่างๆ ค่อยๆ ทยอยเข้ามาสู่การนมัสการของคริสเตียน ในที่สุด มีคำสั่งจากที่ประชุมสภา (โปรดดูภาคผนวก) จัดตั้งให้มีระเบียบการกราบไหว้บูชารูปเคารพขึ้น เพื่อให้งานแห่งการลบหลู่พระเจ้าสมบูรณ์แบบ โรมจึงถือสิทธิ์เปลี่ยนแปลงพระบัญญัติของพระเจ้าโดยลบพระบัญญัติข้อที่สองที่ห้ามการกราบไหว้รูปเคารพออกจากพระบัญญัติของพระเจ้าเสีย และแบ่งพระบัญญัติข้อที่สิบออกเป็นสองข้อเพื่อให้คงจำนวนข้อในพระบัญญัติไว้เหมือนเดิม {GC 51.4}GCth17 42.2

    จิตใจที่ยอมต่อลัทธินอกศาสนานั้นเปิดทางให้กับการละเลยอำนาจของสวรรค์มากยิ่งขึ้น ซาตานทำงานผ่านพวกผู้นำคริสตจักรที่ไม่อุทิศตน ทั้งยังเหยียบย่ำพระบัญญัติข้อสี่อีกด้วย และพยายามนำวันสะบาโตอันเก่าแก่ วันที่พระเจ้าทรงอวยพระพรและทรงตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์ (ปฐมกาล 2:2, 3) นั้นออกไป และแทนที่วันนั้นด้วยการยกชูวันฉลองเทศกาลที่คนนอกศาสนาถือรักษาในฐานะ “วันแห่งการเคารพยกย่องพระอาทิตย์” นั้นขึ้น ในช่วงเริ่มแรก การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ทำอย่างเปิดเผย ในศตวรรษต้นๆ คริสเตียนทั้งหมดก็ยังถือรักษาวันสะบาโตที่แท้จริงอยู่ พวกเขาระวังหวงแหนเพื่อถวายเกียรติพระเจ้าและเชื่อว่าพระบัญญัติของพระองค์นั้นปรับเปลี่ยนไม่ได้ พวกเขาปกป้องความศักดิ์สิทธิ์แห่งข้อบัญญัติอย่างกระตือรือร้น แต่ซาตานทำงานผ่านตัวแทนทั้งหลายของมันด้วยเล่ห์เหลี่ยมอันยิ่งใหญ่เพื่อให้สำเร็จตามที่มันตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อว่าความสนใจของประชาชนจะถูกหันเหไปยังวันอาทิตย์ วันอาทิตย์ถูกตั้งให้เป็นเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลองการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระคริสต์ มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันนั้น แต่กระนั้นก็ยังถือวันนั้นเป็นวันแห่งการพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนวันสะบาโตก็ยังมีการถือรักษาอย่างบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ {GC 52.1}GCth17 42.3

    ซาตานเตรียมทางสำหรับทำงานตามแผนให้สำเร็จด้วยการชักนำชาวยิวสมัยก่อนการเสด็จมาครั้งแรกของพระคริสต์ให้แบกภาระของวันสะบาโตด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มงวดที่สุด จนทำให้การถือรักษาวันสะบาโตกลายเป็นภาระหนัก บัดนี้ มันฉวยโอกาสโดยการใช้แสงสว่างจอมปลอมซึ่งโดยวิธีนี้มันทำให้ทุกคนมองวันสะบาโตว่าเป็นภาระ มันโยนความเหยียดหยามใส่วันสะบาโตว่าเป็นสถาบันของพวกยิว ขณะที่คริสเตียนทั่วไปยังคงถือรักษาวันอาทิตย์เป็นวันฉลองที่มีความสุขต่อไป มันชักนำพวกเขาด้วยการทำให้วันสะบาโตเป็นวันอดอาหารและวันแห่งความโศกเศร้าและความสิ้นหวังเพื่อแสดงความเกลียดชังของพวกเขาที่มีต่อศาสนายิว {GC 52.2}GCth17 43.1

    ในช่วงต้นของศตวรรษที่สี่ จักรพรรดิคอนสแตนตินตราพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่งขึ้นเพื่อตั้งวันอาทิตย์ให้เป็นวันนักขัตฤกษ์ของรัฐตลอดทั่วทั้งจักรวรรดิโรม (โปรดดูภาคผนวก) วันของดวงอาทิตย์เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนลัทธินอกศาสนาของพระองค์และเป็นวันที่พวกคริสเตียนถวายเกียรติ เป็นนโยบายของจักรพรรดิที่จะประสานผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวระหว่างลัทธินอกศาสนากับคริสต์ศาสนา พระองค์ได้รับแรงกระตุ้นให้ดำเนินเรื่องนี้จากบรรดาบิชอปของคริสตจักร ผู้ถูกขับเคลื่อนด้วยความทะเยอทะยานและการกระหายอำนาจ โดยคิดว่าหากทั้งคริสเตียนและคนนอกศาสนาจะถือรักษาวันเดียวกันแล้ว ก็จะเป็นการสนับสนุนให้คนนอกศาสนายอมรับคริสต์ศาสนาแต่เพียงในนาม และด้วยการทำเช่นนี้จะทำให้อำนาจและเกียรติยศของคริสตจักรเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น แต่ขณะที่คริสเตียนมากมายที่เกรงกลัวพระเจ้าถูกชักนำให้มองวันอาทิตย์ว่าเป็นวันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในระดับหนึ่งนั้น พวกเขาก็ยังคงถือรักษาวันสะบาโตที่แท้จริงเป็นวันบริสุทธิ์ของพระเจ้า และถือรักษาวันนั้นด้วยความเชื่อฟังตามพระบัญญัติข้อที่สี่ {GC 53.1}GCth17 43.2

    จอมหลอกลวงยังทำงานของมันไม่เสร็จ มันตั้งใจที่จะรวบรวมโลกคริสเตียนให้เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มธงของมันและใช้อำนาจของมันผ่านทางตัวแทนของมันคือพระสันตะปาปาผู้ทรงถือว่าตนเป็นตัวแทนของพระคริสต์ มันทำงานนี้สำเร็จโดยอาศัยคนนอกศาสนาที่กลับใจเพียงครึ่งๆ กลางๆ พระราชาคณะที่ทะเยอทะยานใฝ่สูง และพวกสมาชิกคริสตจักรที่ฝักใฝ่ทางโลก มีการจัดประชุมสภาอยู่บ่อยครั้งเป็นระยะๆ ซึ่งมีการเรียกบรรดาผู้มีอำนาจในคริสตจักรจากทั่วทุกมุมโลกมาชุมนุมกัน ในการประชุมสภาแทบทุกครั้งจะเหยียบย่ำวันสะบาโตที่พระเจ้าทรงสถาปนาไว้นั้นให้ต่ำลงทีละเล็กทีละน้อย ขณะที่วันอาทิตย์ได้รับการยกชูให้สูงมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในที่สุดวันเฉลิมฉลองของพวกนอกศาสนาจึงได้รับเกียรติให้เป็นสถาบันหนึ่งของพระเจ้า ขณะที่วันสะบาโตของพระคัมภีร์กลับถูกประกาศว่าเป็นเครื่องหมายของศาสนายิว และผู้ที่ถือรักษาวันนั้นจะถูกประณามว่าเป็นผู้ที่ถูกแช่งสาป {GC 53.2}GCth17 43.3

    ผู้ละทิ้งความเชื่อคนสำคัญนั้นทำงานสำเร็จด้วยการยกตัวขึ้น “ต่อสู้ทุกสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นพระ หรือสิ่งที่เขาไหว้นมัสการนั้น” 2 เธสะโลนิกา 2:4 จนเป็นผลสำเร็จ .GCth17 43.4

    เขากล้าเปลี่ยนกฎเพียงข้อเดียวในพระบัญญัติของพระเจ้าที่ชี้บอกมนุษย์ทุกคนอย่างไม่ผิดพลาดถึงพระเจ้าองค์เที่ยงแท้และผู้ทรงพระชนม์อยู่ พระบัญญัติข้อที่สี่เปิดเผยให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้างฟ้าและแผ่นดินโลก และด้วยเหตุฉะนั้นจึงทรงแตกต่างจากพระเทียมเท็จทั้งหมด วันสะบาโตเป็นดั่งอนุสรณ์ถึงพระราชกิจแห่งการทรงสร้างว่าวันที่เจ็ดได้รับการทรงตั้งไว้ให้เป็นวันบริสุทธิ์เป็นวันพักผ่อนสำหรับมนุษย์ เป็นวันที่ทรงออกแบบไว้ให้จดจำพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ไว้ในจิตใจของมนุษย์อยู่เสมอในฐานะทรงเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและเป็นผู้ที่มนุษย์ต้องเคารพสักการะ ซาตานมุ่งมั่นที่จะหันมนุษย์ออกไปจากความจงรักภักดีต่อพระเจ้า และจากการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ เพราะฉะนั้นมันจึงหันความพยายามของมันมาต่อสู้โดยเฉพาะกับพระบัญญัติข้อนั้นที่ชี้ไปยังพระเจ้าในฐานะพระผู้สร้าง {GC 53.3}GCth17 44.1

    บัดนี้ชาวโปรเตสแตนต์ผลักดันว่าการกลับเป็นขึ้นมาจากความตายของพระคริสต์ในวันอาทิตย์ทำให้วันนั้นเป็นวันสะบาโตของคริสเตียน แต่ไม่มีหลักฐานดังกล่าวในพระคัมภีร์ พระคริสต์หรืออัครทูตของพระองค์ไม่เคยให้เกียรติเช่นนี้แก่วันดังกล่าว การถือรักษาวันอาทิตย์ในฐานะเป็นสถาบันหนึ่งของคริสเตียนมีแหล่งกำเนิดมาจาก “อำนาจลึกลับนอกกฎหมาย” นั้น 2 เธสะโลนิกา 2:7 ซึ่งแม้ในสมัยของเปาโลเอง มันก็เริ่มทำงานของมันแล้ว พระยาห์เวห์ทรงรับระบอบเปปาซีให้เป็นบุตรตั้งแต่เมื่อใดและที่ไหน มีเหตุผลอะไรที่ฟังขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่พระคัมภีร์ไม่ได้รับรอง {GC 54.1}GCth17 44.2

    ในศตวรรษที่หก ระบอบเปปาซีถูกจัดตั้งขึ้นมาอย่างมั่นคงแล้ว เป็นฐานอำนาจที่ปักหลักอยู่ในนครของจักรพรรดิ และบิชอปแห่งกรุงโรมได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นประมุขเหนือคริสตจักรทั้งหมด ลัทธินอกรีตมอบตำแหน่งให้กับระบอบเปปาซี พญานาคให้ “ฤทธิ์เดช บัลลังก์และสิทธิอำนาจยิ่งใหญ่ของมันแก่สัตว์ร้ายนั้น” วิวรณ์ 13:2 และบัดนี้ ช่วงเวลา 1,260 ปีแห่งการกดขี่ข่มเหงของระบอบเปปาซีตามที่พระธรรมดาเนียลและพระธรรมวิวรณ์พยากรณ์ไว้นั้นก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว (ดาเนียล 7:25 วิวรณ์ 13:5-7) (โปรดดูภาคผนวก) คริสเตียนถูกบังคับให้เลือกที่จะยอมทิ้งความสัตย์ซื่อของพวกเขาหรือยอมรับพิธีกรรมต่างๆ และการนมัสการของระบอบเปปาซีหรือที่จะค่อยๆ ตายในคุกมืดหรือจะยอมตายด้วยเครื่องทรมาน เผาทั้งเป็นหรือคมขวานของเพชฌฆาต บัดนี้พระดำรัสของพระเยซูที่ตรัสไว้ว่า “แม้แต่บิดามารดา ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็จะมอบตัวพวกท่านไว้ และพวกเขาจะฆ่าพวกท่านบางคน ทุกคนจะเกลียดชังพวกท่านเพราะนามของเรา” ลูกา 21:16, 17 ได้สำเร็จจริงตามนั้น การกดขี่ข่มเหงโหมกระหน่ำลงใส่ผู้ที่สัตย์ซื่อด้วยความโกรธแค้นที่ยิ่งใหญ่กว่าครั้งใดๆ มาก่อน และโลกกลายเป็นสนามรบอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นเวลาหลายร้อยปีที่คริสตจักรของพระคริสต์ต้องลี้ภัยอยู่ในที่ที่ห่างไกลจากผู้คนและในที่มืด ผู้เผยพระวจนะกล่าวไว้ดังนี้ว่า “หญิงนั้นก็หนีเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร ที่นั่นนางมีสถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ เพื่อนางจะได้รับการเลี้ยงดูตลอดหนึ่งพันสองร้อยหกสิบวัน” วิวรณ์ 12:6 {GC 54.2}GCth17 44.3

    การเรืองอำนาจของคริสตจักรโรมันเป็นเครื่องหมายชี้บอกจุดเริ่มต้นของยุคมืด ขณะที่อำนาจของคริสตจักรโรมันเพิ่มขึ้น ความมืดมิดก็ยิ่งหนาทึบยิ่งขึ้น พวกเขาโยกย้ายความเชื่อจากพระคริสต์ผู้ทรงเป็นรากฐานที่แท้จริงไปยังพระสันตะปาปาแห่งโรม แทนที่จะวางใจในพระบุตรของพระเจ้าเพื่อรับการอภัยบาปและเพื่อความรอดนิรันดร์ ประชาชนกลับมองไปที่พระสันตะปาปา และที่บรรดาบาทหลวงกับพระราชาคณะทั้งหลายผู้ซึ่งพระสันตะปาปาทรงมอบอำนาจให้ทำแทนนั้น พวกเขาถูกสอนว่าพระสันตะปาปาทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของพวกเขาในโลกนี้ และถูกสอนว่าไม่มีผู้ใดเข้าถึงพระเจ้าได้นอกจากจะผ่านทางพระสันตะปาปาและนอกจากนี้พระสันตะปาปายังทรงเป็นพระเจ้าสำหรับคนทุกคน ดังนั้นทุกคนจึงต้องเชื่อฟังโดยไม่มีข้อโต้แย้ง การเบี่ยงเบนไปจากข้อบังคับที่พระสันตะปาปาทรงกำหนดไว้จะเป็นเหตุเพียงพอที่ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษรุนแรงที่สุด ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณจิต ด้วยเหตุนี้ จิตใจของประชาชนจึงถูกหันเหจากพระเจ้าไปยังมนุษย์ที่โหดเหี้ยม ที่ทำผิด และที่พลั้งพลาดได้ ไม่เพียงเท่านั้น แต่จิตใจของพวกเขายังถูกหันไปยังเจ้าชายแห่งความมืด ผู้ใช้อำนาจของมันผ่านคนเหล่านั้นอีกด้วย บาปปลอมตัวเข้ามาในคราบของความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระคัมภีร์ถูกปราบและมนุษย์ถือว่าตนเป็นผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด เราจึงเห็นแต่เพียงความฉ้อฉล ความหลอกลวง และความผิดบาปอันต่ำช้า ด้วยการยกชูกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์ขึ้นมานั้น ความเสื่อมทรามซึ่งเป็นผลจากการละทิ้งพระบัญญัติของพระเจ้าเสมอมานั้นก็ปรากฏขึ้นชัด {GC 55.1}GCth17 45.1

    สมัยนั้นเป็นช่วงเวลาอันตรายสำหรับคริสตจักรของพระคริสต์ ผู้ถือธงที่สัตย์ซื่อมีหลงเหลืออยู่น้อยเหลือเกิน ถึงแม้ว่าความจริงไม่ถูกทอดทิ้งโดยไม่มีพยาน ถึงกระนั้น ในบางครั้งดูเหมือนว่าหลักคำสอนที่ผิดและการเชื่อเรื่องโชคลางจะมีชัยชนะ และศาสนาที่แท้จริงจะถูกกวาดเรียบไปจากโลก ข่าวประเสริฐถูกเมินเสีย แต่ธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนากลับเพิ่มมากขึ้นและประชาชนต้องแบกภาระของการขูดรีดอย่างแสนสาหัส {GC 55.2}GCth17 45.2

    พวกเขาถูกสอนไม่เพียงให้หมายพึ่งพระสันตะปาปาในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยเท่านั้น แต่ยังถูกสอนให้พึ่งผลงานของตนเองเพื่อลบมลทินบาปอีกด้วย มีการเชิญชวนให้เข้าร่วมการปฏิบัติกิจเหล่านี้และอีกมากมายในลักษณะเดียวกัน อาทิ การเดินทางไกลเพื่อแสวงบุญ พิธีกรรมแก้บาป การบูชาวัตถุมงคล การสร้างโบสถ์ ศาลเจ้าและแท่นบูชาต่างๆ การจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้คริสตจักรเพื่อระงับพระพิโรธของพระเจ้าหรือเพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ ทำราวกับว่าพระเจ้าทรงมีลักษณะเหมือนมนุษย์ที่จะโกรธเคืองในเรื่องเล็กน้อยหรือที่จะทำให้หายโกรธได้ด้วยของถวายหรือพิธีกรรมแก้บาป {GC 55.3}GCth17 45.3

    ทั้งๆ ที่ความชั่วเลวทรามได้แพร่กระจายอยู่ทั่วไปแม้กระทั่งในท่ามกลางผู้นำของคริสตจักรโรมันด้วยก็ตามที อิทธิพลของคริสตจักรนั้นก็ยังดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในราวๆ ช่วงท้ายของศตวรรษที่แปด ผู้นิยมระบอบเปปาซีทั้งหลายต่างอ้างว่าในช่วงยุคเริ่มแรกของคริสตจักรนั้น บรรดาบิชอปแห่งโรมครองอำนาจทางศาสนาเท่าเทียมกับอำนาจของที่พวกเขาอ้างว่ามีอยู่ในเวลานี้ เพื่อทำให้ข้ออ้างนี้เป็นที่ยอมรับ จึงต้องมีการใช้วิธีการบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจนั้น และบิดาแห่งการมุสาก็ยื่นข้อเสนอได้อย่างรวดเร็ว พวกนักบวชปลอมแปลงเอกสารโบราณต่างๆ ขึ้นมา มีการค้นพบคำสั่งต่างๆ ของการประชุมสภาที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน ซึ่งรับรองการมีอำนาจสากลสูงสุดของพระสันตะปาปาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่สุด และคริสตจักรที่ปฏิเสธความจริงก็ยอมรับการหลอกลวงเหล่านี้ด้วยความละโมบ (โปรดดูภาคผนวก) {GC 56.1}GCth17 46.1

    นายช่างผู้สัตย์ซื่อจำนวนน้อยนิดที่ได้ก่อความเชื่อของพวกเขาขึ้นบนรากฐานที่แท้จริงนั้น (1 โครินธ์ 3:10, 11) ต่างรู้สึกงงงวยและถูกขัดขวางเมื่อกองขยะแห่งหลักคำสอนเทียมเท็จกีดขวางงานของพวกเขา เช่นเดียวกับพวกคนงานซ่อมแซมกำแพงกรุงเยรูซาเล็มในสมัยของผู้เผยพระวจนะเนหะมีย์ มีบางคนพร้อมที่จะพูดว่า “เรี่ยวแรงของคนที่ขนของก็กำลังทรุดลง และมีสิ่งปรักหักพังมาก เราไม่สามารถซ่อมกำแพงได้” เนหะมีย์ 4:10 ด้วยความเหนื่อยล้ากับการต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาต่อการกดขี่ข่มเหง การฉ้อฉล ความชั่วช้า และอุปสรรคอื่นๆ ที่ซาตานคิดขึ้นมาเพื่อขัดขวางความก้าวหน้าของงานของพวกเขา บางคนที่เคยเป็นนายช่างที่สัตย์ซื่อก็ท้อใจ และเพื่อเห็นแก่ความสงบและความปลอดภัยในทรัพย์สินและชีวิตของตน พวกเขาได้หันออกไปเสียจากรากฐานที่แท้จริง ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ย่อท้อต่อการขัดขวางของศัตรูก็ประกาศอย่างไม่เกรงกลัวว่า “อย่ากลัวเขาเลย จงระลึกถึงองค์เจ้านายผู้ยิ่งใหญ่และน่ายำเกรง” เนหะมีย์ 4:14 และพวกเขาก็ดำเนินงานต่อไป ทุกคนที่มีดาบก็แนบติดกายไว้ (เอเฟซัส 6:17) {GC 56.2}GCth17 46.2

    วิญญาณเดียวกันที่เป็นวิญญาณแห่งความเกลียดชังและการต่อต้านความจริงนั้นดลใจพวกศัตรูของพระเจ้าในทุกยุคทุกสมัย บรรดาผู้รับใช้ของพระองค์จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ในระดับเดียวกับยุคก่อนๆ ด้วยเช่นกัน พระดำรัสของพระคริสต์ที่ตรัสให้แก่พวกสาวกรุ่นแรกที่ว่า “สิ่งที่เราบอกพวกท่านนั้น เราก็บอกคนทั้งหลายด้วยว่าจงเฝ้าระวังอยู่เถิด” มาระโก 13:37 นั้นยังคงใช้ได้กับบรรดาผู้ติดตามของพระองค์ในยุคสุดท้าย {GC 56.3} GCth17 46.3

    ดูเหมือนว่าความมืดนั้นเพิ่มทวีมากขึ้น การบูชารูปเคารพกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป มีการจุดเทียนไว้ตรงหน้ารูปปั้นต่างๆ และอธิษฐานต่อรูปเคารพ ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่เชื่อเรื่องโชคลางและที่ไร้สาระที่สุดมีให้เห็นทั่วไป จิตใจของผู้คนถูกครอบงำอย่างสิ้นเชิงโดยความเชื่อเรื่องโชคลางจนดูเหมือนว่าความมีเหตุมีผลสิ้นฤทธิ์ไปเสียแล้ว ขณะที่พวกนักบวชและสังฆราชเองก็ฝักใฝ่อยู่กับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ราคะตัณหา และเสื่อมทราม เราคาดหมายได้เพียงแต่ว่าประชาชนผู้ที่มองไปยังพวกเขาเพื่อรับคำแนะนำนั้นก็คงจะจมลึกอยู่ในความโง่เขลาและความชั่วช้าแล้วเป็นแน่ {GC 57.1}GCth17 46.4

    ในศตวรรษที่สิบเอ็ดนั้น การแอบอ้างของระบอบเปปาซีก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง เมื่อพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ VII ทรงประกาศความสมบูรณ์ดีพร้อมของคริสตจักรโรมัน ในบรรดาข้ออ้างที่พระสันตะปาปาทรงประกาศออกไปนั้น มีอยู่ข้อหนึ่งประกาศว่า ตามพระคัมภีร์แล้ว คริสตจักรไม่เคยทำผิดและจะไม่มีวันทำผิด แต่หลักฐานที่มีในพระคัมภีร์ไม่ได้สนับสนุนคำกล่าวอ้างนั้นแต่อย่างใด พระสันตะปาปายังทรงประกาศว่าตนมีอำนาจปลดจักรพรรดิ และยังประกาศว่าไม่มีผู้ใดสามารถถอนคำตัดสินที่ทรงประกาศไปแล้วได้ แต่เป็นสิทธิพิเศษของพระองค์ที่จะทรงกลับคำตัดสินของคนอื่นๆ ทั้งหมด (โปรดดูภาคผนวก) {GC 57.2}GCth17 47.1

    ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะความโหดเหี้ยมของผู้ช่วยทูลผู้ไม่รู้พลั้งนี้เห็นได้จากวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อพระเจ้าเฮนรีที่ 4 จักรพรรดิแห่งเยอรมนี พระเจ้าเฮนรีไม่ทรงสนพระทัยต่ออำนาจของพระสันตะปาปา พระองค์จึงถูกประกาศคว่ำบาตรและถูกโค่นล้มราชบัลลังก์ ด้วยความหวาดกลัวต่อการถูกทอดทิ้งและการข่มขู่จากเหล่าเจ้าชายของพระองค์เอง ผู้ถูกยุยงโดยคำบัญชาของระบอบเปปาซีให้แข็งข้อต่อพระองค์ พระเจ้าเฮนรีจึงทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะทำสันถวไมตรีกับโรม พระองค์จึงทรงออกเดินทางพร้อมกับพระมเหสีและคนรับใช้ที่จงรักภักดีของพระองค์ข้ามเทือกเขาแอลป์ในช่วงกลางฤดูหนาวเพื่อว่าพระองค์จะทรงถ่อมพระองค์ลงต่อองค์สันตะปาปา เมื่อเสด็จมาถึงปราสาทที่พระสันตะปาปาเกรกอรีพำนักอยู่ พระองค์ถูกนำไปยังลานชั้นนอกโดยไม่มีทหารคุ้มกันและให้คอยที่นั่นท่ามกลางความหนาวเหน็บของฤดูหนาวโดยให้สวมใส่แต่เครื่องแต่งกายที่น่าสังเวช ไม่มีอะไรปกปิดพระเศียร และไม่ได้ทรงฉลองพระบาท พระองค์ทรงเฝ้าคอยคำอนุญาตจากพระสันตะปาปาให้เข้าเฝ้า พระสันตะปาปาไม่ทรงยอมอภัยให้จนกระทั่งพระองค์ทรงอดพระกระยาหารและสารภาพบาปติดต่อกันเป็นเวลาถึงสามวัน แล้วพระสันตะปาปาจึงทรงยอมอภัยโทษให้ แม้กระทั่งตอนนั้น การอภัยโทษให้ของพระสันตะปาปาก็ยังอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าจักรพรรดิเฮนรีจะต้องรอคอยคำยินยอมจากพระสันตะปาปาก่อน แล้วพระองค์จึงจะกลับมาใช้ยศศักดิ์หรือใช้อำนาจของตำแหน่งจักรพรรดิได้ และพระสันตะปาปาเกรกอรีทรงภาคภูมิใจในชัยชนะของพระองค์ ทรงประกาศว่าเป็นหน้าที่ที่จะกำจัดความเย่อหยิ่งจองหองของพวกกษัตริย์ทั้งหลายเสีย {GC 57.3}GCth17 47.2

    ช่างแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างการวางตัวของพระสันตะปาปากับความถ่อมตนและความอ่อนสุภาพของพระคริสต์ ผู้ทรงสำแดงพระองค์เองว่ากำลังทรงร้องขออยู่ที่ประตูใจเพื่อจะได้รับการยินยอมให้เข้าไปข้างใน เพื่อว่าพระองค์จะเสด็จเข้ามาประทานการอภัยและสันติสุขให้และทรงสอนสาวกทั้งหลายว่า “ถ้าใครต้องการจะเป็นนาย คนนั้นจะต้องเป็นทาสของพวกท่าน” มัทธิว 20:27 {GC 58.1} GCth17 47.3

    ในศตวรรษต่อๆ มา เรามองเห็นจำนวนหลักคำสอนผิดๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ออกมาจากโรม แม้กระทั่งก่อนที่จะมีการตั้งระบอบเปปาซี คำสอนต่างๆ ของพวกนักปราชญ์จากศาสนานอกรีตก็ได้รับความสนใจและมีอิทธิพลต่อคริสตจักรมาแล้ว คนมากมายที่อ้างว่ากลับใจแล้วยังคงยึดติดอยู่กับหลักปรัชญาของศาสนานอกรีตของพวกเขา พวกเขาไม่เพียงแต่ยึดหลักปรัชญาเหล่านั้นไว้กับตนเองเท่านั้น แต่ยังผลักดันปรัชญานั้นให้แก่ผู้อื่นเพื่อเป็นวิธีการแผ่อิทธิพลของพวกเขาท่ามกลางคนนอกศาสนาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ คำสอนที่ผิดอย่างรุนแรงทั้งหลายจึงถูกนำเข้ามาสู่ความเชื่อของคริสเตียน คำสอนโดดเด่นจากท่ามกลางความเชื่อที่ผิดๆ เหล่านี้ก็คือความเชื่อเรื่องความเป็นอมตะตามธรรมชาติของมนุษย์และเรื่องการมีสติรับรู้ได้ของคนตาย หลักคำสอนนี้ปูพื้นฐานให้โรมตั้งเรื่องการทูลขอความช่วยเหลือจากพวกนักบุญทั้งหลาย และการเทิดทูนพระแม่มารีย์ผู้เป็นหญิงพรหมจรรย์นั้นขึ้นมา จากหลักคำสอนนี้ยังเกิดมีคำสอนนอกรีตเรื่องการทรมานนิรันดร์สำหรับคนที่ไม่ยอมกลับใจในที่สุดนั้นด้วย ซึ่งเป็นคำสอนที่ถูกรวมเข้าในความเชื่อของระบอบเปปาซีมาตั้งแต่ต้น {GC 58.2} GCth17 47.4

    จากนั้นยังมีการปูทางให้กับการนำคำสอนของลัทธินอกรีตเข้ามาอีกเรื่องหนึ่งซึ่งโรมเรียกว่า “แดนชำระ” [Purgatory] และถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับฝูงชนที่หลงเชื่อง่ายและที่เชื่อในเรื่องโชคลางงมงาย โดยคำสอนนอกรีตนี้ให้การรับรองถึงสถานที่ทรมานแห่งหนึ่งซึ่งในนั้นพวกวิญญาณที่ยังมีความผิดไม่ถึงขั้นตกนรกนิรันดร์ต้องไปรับโทษสำหรับบาปของพวกเขาและเมื่อวิญญาณเหล่านั้นหลุดพ้นจากความไม่บริสุทธิ์แล้ว เขาก็จะถูกรับเข้าไปในสวรรค์ (โปรดดูภาคผนวก) {GC 58.3} GCth17 48.1

    ยังมีเรื่องปั้นแต่งอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องแต่งขึ้นมาเพื่อทำให้โรมมีผลกำไรจากความกลัวและความชั่วต่างๆ ของผู้ที่เลื่อมใสโรม นี่เป็นผลประโยชน์ที่ได้จากหลักคำสอนเรื่อง “ใบลบมลทินบาป” พระสันตะปาปาทรงสัญญากับทุกคนที่เข้าร่วมกับพระองค์ในการทำสงครามเพื่อแผ่ขยายอำนาจในการลงโทษศัตรูหรือในการทำลายล้างผู้ที่กล้าปฏิเสธการมีอำนาจสูงสุดฝ่ายจิตวิญญาณของพระองค์ว่า เขาทั้งหลายจะได้รับการอภัยบาปอย่างบริบูรณ์คือบาปทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และจะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทั้งปวงและโทษที่จะต้องรับ ประชาชนยังถูกสอนว่าโดยการจ่ายเงินให้คริสตจักร พวกเขาจะช่วยตัวเองให้พ้นจากบาป และยังปลดปล่อยวิญญาณของมิตรสหายที่ตายไปแล้วซึ่งถูกกักขังอยู่ในเปลวไฟแห่งการทรมานนั้นได้ ด้วยวิธีเช่นนี้โรมเติมเงินลงในคลังต่างๆ ของเธอจนเต็มและคงความสง่างาม ความฟุ้งเฟ้อ และความชั่วช้าของการทำตัวเป็นผู้แทนของพระองค์ผู้ทรงไม่มีที่แม้แต่จะวางพระเศียรของพระองค์ (โปรดดูภาคผนวก) {GC 59.1} GCth17 48.2

    พิธีศีลมหาสนิทตามพระคัมภีร์ได้ถูกแทนที่ด้วยพิธีมิสซาที่ถวายบูชารูปเคารพ พวกบาทหลวงของระบอบเปปาซีประกอบพิธีของพวกเขาโดยอ้างว่าเปลี่ยนขนมปังและเหล้าองุ่นธรรมดาให้เป็น “พระกายและพระโลหิตจริงของพระคริสต์” Cardinal Wiseman, The Real Presence of the Body and Blood of Our Lord Jesus Christ in the Blessed Eucharist, Proved From Scripture, lecture 8, sec. 3 ย่อหน้าที่ 26 ด้วยการทึกทักเอาเอง พวกเขาอวดอ้างอย่างเปิดเผยว่ามีอำนาจสร้างพระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น คริสเตียนถูกบังคับด้วยความเจ็บปวดถึงตายให้ปฏิญาณยอมรับในหลักคำสอนนอกรีตอันร้ายกาจและลบหลู่สวรรค์นี้ ฝูงชนมากมายที่ปฏิเสธคำสอนนี้ถูกโยนทิ้งเข้าไปในเปลวเพลิง (โปรดดูภาคผนวก) {GC 59.2}GCth17 48.3

    ในศตวรรษที่สิบสาม มีการตั้งเครื่องจักรที่น่ากลัวที่สุดจากเครื่องจักรทั้งหมดของระบอบเปปาซีขึ้น นั่นก็คือศาสนศาล [Inquisition] เจ้าชายแห่งความมืดทำงานกับพวกผู้นำของสภาปกครองสงฆ์ของระบอบเปปาซี ในการประชุมลับของพวกเขา ซาตานและทูตของมันควบคุมจิตใจของคนชั่วเหล่านี้ ในท่ามกลางพวกเขานั้นมีทูตองค์หนึ่งของพระเจ้าที่ตามองไม่เห็นกำลังจดบันทึกอันน่ากลัวของคำสั่งที่ชั่วร้ายต่างๆ ของพวกเขาและเขียนประวัติศาสตร์ของการกระทำที่น่าสยดสยองเกินกว่าที่จะปรากฏต่อสายตามนุษย์ “บาบิโลนมหานคร” นั้น “เมามายด้วยโลหิตของพวกธรรมิกชน” วิวรณ์ 17:15, 16 ร่างที่ถูกบดขยี้จนบิดเบี้ยวของผู้พลีชีพนับล้านร้องขึ้นต่อพระเจ้าเพื่อการแก้แค้นอำนาจที่ละทิ้งความเชื่อนั้น {GC 59.3}GCth17 49.1

    หลักคำสอนและพิธีกรรมของเปปาซีกลายเป็นผู้ปกครองโลกที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด บรรดากษัตริย์และจักรพรรดิทั้งหลายต่างโค้งคำนับให้กับคำสั่งของพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม ชะตากรรมของมนุษย์สำหรับยุคนี้และตลอดนิรันดร์กาลดูเหมือนจะอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ เป็นเวลาหลายร้อยปีที่หลักคำสอนต่างๆ ของโรมได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยและอย่างแพร่หลาย มีการประกอบพิธีต่างๆ ด้วยความเคารพและเทศกาลของโรมได้รับการถือรักษาทั่วไป นักบวชทั้งหลายของโรมได้รับเกียรติและเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ คริสตจักรโรมไม่เคยได้รับศักดิ์ศรี ความยิ่งใหญ่ หรืออำนาจเลอเลิศมากเท่านี้มาก่อน {GC 60.1}GCth17 49.2

    แต่ “เวลาเที่ยงวันของการปกครองตามระบอบเปปาซีเป็นเวลาเที่ยงคืนของโลก” J. A. Wylie, The History of Protestantism, เล่มที่ 1 บทที่ 4 แทบไม่มีใครรู้จักพระคัมภีร์ ไม่ใช่แค่เพียงประชาชนเท่านั้น แม้แต่พวกบาทหลวงด้วย เหมือนเช่นพวกฟาริสีในอดีต บรรดาผู้นำของเปปาซีเกลียดชังแสงสว่างที่ส่องให้เห็นถึงความผิดบาป พระบัญญัติของพระเจ้าซึ่งเป็นมาตรฐานของความชอบธรรมถูกกำจัดออกไปเสีย พวกเขาใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด และกระทำการชั่วโดยไม่มีอะไรจะมาเหนี่ยวรั้งได้ การฉ้อฉล ความโลภ และความเสเพลสุรุ่ยสุร่ายพบเห็นได้อย่างแพร่หลาย มนุษย์ใช้ทุกอาชญากรรมเพื่อจะได้มาซึ่งความมั่งคั่งและตำแหน่ง ปราสาทต่างๆ ของพระสันตะปาปาและพระราชาคณะทั้งหลายมีแต่ภาพของความลามกต่ำที่สุด พระสันตะปาปาบางองค์ที่ครองตำแหน่งอยู่ได้ก่ออาชญากรรมต่างๆ ที่น่าขยะแขยงมากจนพวกผู้ปกครองบ้านเมืองต้องพยายามขับไล่เหล่าผู้มีเกียรติทั้งหลายนี้ของคริสตจักรในฐานะเป็นสัตว์ประหลาดที่ชั่วช้าเลวทรามเกินกว่าที่จะยอมทนได้ เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ยุโรปไม่เจริญก้าวหน้าในด้านการศึกษา ศิลปะ หรืออารยธรรมเลย โรคอัมพาตทางศีลธรรมและด้านสติปัญญาเกิดขึ้นกับคริสตอาณาจักร {GC 60.2} GCth17 49.3

    สภาพของโลกภายใต้อำนาจของโรมทำให้คำกล่าวของผู้เผยพระวจนะโฮเชยาสำเร็จอย่างน่ากลัวและอย่างถูกต้องว่า “ประชากรของเราถูกทำลายเพราะขาดความรู้ เพราะเจ้าปฏิเสธความรู้ เราก็ปฏิเสธเจ้า...เพราะเจ้าลืมธรรมบัญญัติแห่งพระเจ้าของเจ้า เราเองก็ลืมพงศ์พันธุ์ของเจ้าด้วย” “ในแผ่นดินนั้นไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ความเมตตา หรือความรู้จักพระเจ้า มีแต่การสบถสาบาน การโกหก การฆ่าคน การลักขโมยและการล่วงประเวณี สิ่งเหล่านี้แพร่ไปทั่ว มีการฆาตกรรมซ้อนการฆาตกรรม” โฮเชยา 4:6, 1, 2 สภาพเช่นนี้เป็นผลต่างๆ ของการละทิ้งพระวจนะของพระเจ้า {GC 60.3}GCth17 49.4

    *****

    Larger font
    Smaller font
    Copy
    Print
    Contents