บท 5 - ยอห์น ไวคลิฟ
สงครามครั้งยิ่งใหญ่
- Contents- อารัมภบท
- บทนำของคณะผู้จัดพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ
- คำนำของผู้ประพันธ์
- บท 1 - ความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม
- บท 2 - การกดขี่ข่มเหงในศตวรรษต้นๆ
- บท 3 - ยุคมืดทางจิตวิญญาณ
- บท 4 - ชาววอลเดนซิส
- บท 5 - ยอห์น ไวคลิฟ
- บท 6 - ฮัสและเจอโรมี
- บท 7 - ลูเธอร์ตีตัวออกห่างจากโรม
- บท 8 - ลูเธอร์รายงานตัวต่อสภา
- บท 9 - นักปฏิรูปศาสนาชาวสวิส
- บท 10 - ความก้าวหน้าของการปฏิรูปในประเทศเยอรมนี
- บท 11 - การประท้วงของเจ้าครองแคว้นต่างๆ
- บท 12 - การปฏิรูปศาสนาในประเทศฝรั่งเศส
- บท 13 - ประเทศเนเธอร์แลนด์และแถบสแกนดิเนเวีย
- บท 14 - นักปฏิรูปศาสนาชาวอังกฤษรุ่นหลัง
- บท 15 - พระคัมภีร์กับการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส
- บท 16 - บรรพบุรุษที่เป็นพิลกริม
- บท 17 - ผู้ประกาศข่าวของรุ่งอรุณ
- บท 18 -นักปฏิรูปชาวอเมริกันท่านหนึ่ง
- บท 19 - ความสว่างส่องเข้าไปในที่มืด
- บท 20 - การตื่นตัวครั้งยิ่งใหญ่ฝ่ายศาสนา
- บท 21 - คำเตือนที่ถูกปฏิเสธ
- บท 22 - เหตุการณ์เกิดขึ้นตามคำพยากรณ์
- บท 23 - สถานนมัสการคืออะไร
- บท 24 - อภิสุทธิสถาน
- บท 25 - พระบัญญัติของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้
- บท 26 - ภารกิจหนึ่งของการปฏิรูป
- บท 27 - การฟื้นฟูยุคใหม่
- บท 28 - เผชิญหน้ากับหนังสือบันทึกแห่งชีวิต
- บท 29 - จุดเริ่มต้นของความชั่ว
- บท 30 - มนุษย์และซาตานเป็นศัตรูกัน
- บท 31 - สื่อวิญญาณชั่ว
- บท 32 - กับดักของซาตาน
- บท 33 - การหลอกลวงยิ่งใหญ่ครั้งแรก
- บท 34 - คนตายติดต่อกับเราได้หรือ
- บท 35 - เสรีภาพของจิตสำนึกถูกคุกคาม
- บท 36 - การขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
- บท 37 - พระคัมภีร์เป็นโล่ป้องกัน
- บท 38 - คำเตือนสุดท้าย
- บท 39 - เวลาแห่งความทุกข์ยาก
- บท 40 - ประชากรของพระเจ้าได้รับการช่วยกู้
- บท 41 - โลกร้างอ้างว้าง
- บท 42 - ความขัดแย้งสิ้นสุดแล้ว
Search Results
- Results
- Related
- Featured
- Weighted Relevancy
- Content Sequence
- Relevancy
- Earliest First
- Latest First
- Exact Match First, Root Words Second
- Exact word match
- Root word match
- EGW Collections
- All collections
- Lifetime Works (1845-1917)
- Compilations (1918-present)
- Adventist Pioneer Library
- My Bible
- Dictionary
- Reference
- Short
- Long
- Paragraph
No results.
EGW Extras
Directory
บท 5 - ยอห์น ไวคลิฟ
ก่อนการปฏิรูปศาสนา พระคัมภีร์มีอยู่ในที่ต่างๆ จำนวนน้อย แต่พระเจ้าไม่ทรงปล่อยให้พระวจนะของพระองค์ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง ความจริงที่อยู่ในพระคัมภีร์จะไม่ถูกปกปิดไว้ตลอดกาล พระองค์ทรงถอดโซ่ที่ล่ามพระวจนะแห่งชีวิตออกได้อย่างง่ายดายเฉกเช่นที่พระองค์ทรงเปิดประตูเรือนจำและถอดกลอนของประตูเหล็กเพื่อปล่อยผู้รับใช้ของพระองค์ให้เป็นอิสระ พระวิญญาณของพระเจ้าดลใจคนในประเทศต่างๆ ของยุโรปให้ค้นหาความจริงดั่งขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้ พระเจ้าทรงนำพวกเขาไปยังพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ดลใจให้พวกเขาศึกษาแต่ละหน้าของหนังสือศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง คนเหล่านี้เต็มใจยอมรับแสงสว่างแม้ต้องจ่ายด้วยราคาสูงสักเพียงไรก็ตาม ถึงแม้พวกเขาไม่อาจมองเห็นทุกสิ่งได้อย่างชัดเจน แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังเข้าถึงความจริงที่ฝังไว้มานาน พวกเขาก้าวออกไปราวกับผู้สื่อข่าวที่สวรรค์ส่งมา เพื่อหักโซ่ตรวนแห่งความผิดพลาดและความงมงายพร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ที่ถูกจองจำมานานลุกขึ้นและประกาศเสรีภาพของตน {GC 79.1}GCth17 66.1
พระวจนะของพระเจ้าถูกกักเก็บไว้อยู่เป็นเวลานานด้วยภาษาที่ผู้คงแก่เรียนเท่านั้นเข้าใจ ยกเว้นอยู่ในท่ามกลางชาววอลเดนซิส แต่เวลาแห่งการแปลและแจกจ่ายพระคัมภีร์ให้ผู้คนในดินแดนต่างๆ ตามภาษาพื้นเมืองของพวกเขาเองมาถึงแล้ว โลกผ่านช่วงเวลาเที่ยงคืนอันมืดสนิทไปแล้ว ชั่วโมงแห่งความมืดมนกำลังจะผ่านพ้นไปและมีหมายสำคัญตามที่ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าฟ้าวันใหม่กำลังจะมาถึง {GC 79.2}GCth17 66.2
ในช่วงศตวรรษที่สิบสี่ ยอห์น ไวคลิฟ [John Wycliffe] “ ดาวรุ่งของการปฏิรูปศาสนา” ปรากฏตัวที่ประเทศอังกฤษ เขาไม่ใช่ผู้ประกาศข่าวการปฏิรูปสำหรับประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่สำหรับทั่วทั้งคริสต์ศาสนจักรด้วย คำประท้วงยิ่งใหญ่ที่โรมเคยอนุญาตให้เขากล่าวจะไม่มีวันเงียบหายไป การประท้วงนั้นเปิดฉากการต่อสู้ที่จะนำไปสู่การปลดปล่อยบุคคล คริสตจักรและประชาชาติ {GC 80.1}GCth17 66.3
ไวคลิฟเรียนมาทางด้านศิลปศาสตร์ และสำหรับเขาแล้วความยำเกรงพระเจ้าเป็นบ่อเกิดของปัญญา เขาเป็นที่รู้จักดีในวิทยาลัยว่าเป็นคนเคร่งศาสนา ทั้งยังเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษมากมายและเป็นผู้คงแก่เรียน ด้วยความกระหายความรู้ เขาลงแรงศึกษาหาความรู้ในทุกสาขาวิชา เขาศึกษาหาความรู้ทางด้านปรัชญา หลักศาสนาของคริสตจักรและกฎหมายของบ้านเมือง โดยเฉพาะกฎหมายของประเทศของเขาเอง คุณค่าของการฝึกอบรมในช่วงต้นของชีวิตให้คุณประโยชน์ต่อการทำงานของเขาในช่วงต่อมาอย่างเห็นได้ชัด ความรอบรู้ในรายละเอียดของปรัชญาแห่งการคาดคะเนในยุคของเขาทำให้เขาเปิดโปงข้อผิดพลาดต่างๆ ได้ และโดยการเรียนกฎหมายของประเทศและของฝ่ายศาสนา เขาจึงพร้อมที่จะเข้าร่วมในการต่อสู้ยิ่งใหญ่เพื่อเสรีภาพของการปกครองและศาสนา ในขณะที่เขาใช้อาวุธพระวจนะของพระเจ้าได้นั้น เขาเรียนรู้วิชาการทางปัญญาของโรงเรียนและเข้าใจถึงกลเม็ดของผู้มีความรู้ ความสามารถทางอัจฉริยภาพและความรู้ที่ลึกซึ้งและรอบรู้ของเขาทำให้เขาเป็นที่นับถือของทั้งมิตรและศัตรู ผู้ที่ติดตามเขามองดูเขาด้วยความพึงพอใจว่าเขามีความนึกคิดอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ และไม่เปิดโอกาสให้ศัตรูของเขาสร้างความสงสัยให้กับเป้าหมายของการปฏิรูปด้วยการเปิดโปงความไม่รู้หรือจุดอ่อนของผู้สนับสนุนศัตรูของเขา {GC 80.2}GCth17 66.4
ในขณะที่ไวคลิฟยังอยู่ในวิทยาลัย เขาเข้าร่วมศึกษาพระคัมภีร์ ในยุคแรกๆ นั้น พระคัมภีร์มีเฉพาะภาษาโบราณเท่านั้น ผู้คงแก่เรียนจึงมีโอกาสเข้าถึงบ่อน้ำพุแห่งความจริง แต่กลุ่มคนที่ไม่มีการศึกษาจะเข้าไม่ถึง ด้วยประการฉะนี้จึงเป็นการปูทางให้กับงานในอนาคตของไวคลิฟในฐานะนักปฏิรูปศาสนา คนมีความรู้ศึกษาพระวจนะของพระเจ้าและพบความจริงยิ่งใหญ่ที่เปิดเผยให้เห็นพระคุณที่ประทานให้โดยไม่คิดราคา ในคำสอนของคนเหล่านี้ พวกเขาเผยแพร่ความรอบรู้ที่อยู่ในความจริงนี้และนำผู้อื่นให้หันไปหาพระวจนะที่มีชีวิต {GC 80.3}GCth17 67.1
เมื่อไวคลิฟหันมาสนใจพระคัมภีร์ เขาลงแรงศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างละเอียดเช่นเดียวกับที่เขาศึกษาวิชาอื่นๆ ในโรงเรียน ก่อนหน้านี้ เขารู้สึกว่าตัวเองยังขาดตกบกพร่องอยู่มาก วิชาการที่เขาเล่าเรียนมาหรือคำสอนของคริสตจักรไม่อาจทำให้เขาพึงพอใจ ในพระวจนะของพระเจ้า เขาพบสิ่งที่เขาเคยพยายามแสวงหาแต่ไม่ประสบผลมาก่อน เขามองเห็นแผนการแห่งความรอดที่เปิดออกอยู่ในนั้น และกำหนดให้พระคริสต์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยของมนุษย์เพียงพระองค์เดียว เขาจึงมอบถวายตัวเองเพื่อรับใช้พระคริสต์และตั้งใจที่จะประกาศความจริงที่เขาค้นพบนี้ {GC 81.1}GCth17 67.2
เหมือนนักปฏิรูปศาสนาในยุคต่อมา เมื่อเริ่มต้นการทำงาน ไวคลิฟมองไม่เห็นว่างานของเขาจะนำเขาไปทิศทางใด เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะนำตัวเองเข้าไปต่อต้านโรม แต่ความศรัทธาต่อความจริงไม่อาจนำเขาให้หลีกเลี่ยงการขัดแย้งกับความเท็จได้ ยิ่งเขารู้ความผิดของระบอบเปปาซีชัดเจนมากขึ้นเท่าไร เขาก็ยิ่งตั้งใจสอนพระคัมภีร์อย่างแรงกล้ามากขึ้นเท่านั้น เขามองเห็นว่าโรมละทิ้งพระวจนะของพระเจ้าเพื่อเปิดทางให้ประเพณีของมนุษย์ เขาติเตียนเหล่านักบวชที่ละทิ้งพระคัมภีร์อย่างไม่กลัวเกรง และเรียกร้องให้นำพระคัมภีร์กลับคืนมาให้กับประชาชน และให้นำอำนาจของพระคัมภีร์กลับคืนมาสู่คริสตจักร เขาเป็นครูที่มีความสามารถและจริงใจและเป็นนักเทศน์ที่มีโวหารดี และชีวิตประจำวันของเขาแสดงออกถึงความจริงที่เขาเทศน์ ความรู้ของเขาในพระคัมภีร์ พลังในการใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ในชีวิตของเขา ความกล้าหาญที่ไม่โอนเอียง และความซื่อตรงของเขาทำให้เขาได้รับความนับถือและความมั่นใจอย่างกว้างขวางจากคนทั่วไป หลายคนไม่พอใจกับความเชื่อในอดีตและเมื่อเห็นความชั่วที่ดาษดื่นในคริสตจักรโรมัน พวกเขาจึงขานรับความจริงที่ไวคลิฟเปิดเผยให้พวกเขาเห็นด้วยความชื่นชมยินดีอย่างไม่ปกปิด แต่ผู้นำในระบอบเปปาซีกลับเต็มไปด้วยความเดือดดาลเมื่อเห็นว่านักปฏิรูปศาสนาคนนี้ได้รับความนิยมมากกว่าพวกเขา {GC 81.2}GCth17 67.3
ไวคลิฟเป็นนักจับผิดที่เก่งกาจ และเขาโจมตีอย่างไม่เกรงกลัวต่อการละเมิดหลายประการที่ผู้มีอำนาจแห่งโรมอนุมัติให้ทำ ในขณะที่เป็นอนุศาสนาจารย์รับใช้พระมหากษัตริย์นั้น เขายืนหยัดอย่างกล้าหาญต่อต้านการจ่ายค่าบรรณาการที่พระสันตะปาปาเรียกเก็บจากพระมหากษัตริย์แห่งประเทศอังกฤษและชี้ให้เห็นว่าการที่ระบอบเปปาซีถือสิทธิมีอำนาจเหนือฝ่ายปกครองของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับเหตุผลและความจริงที่พระคัมภีร์เปิดเผยไว้ ข้อเรียกร้องต่างๆ ของพระสันตะปาปาก่อให้เกิดความไม่พอใจ และคำสอนของไวคลิฟยังมีอิทธิพลต่อความคิดของเหล่าผู้นำระดับแนวหน้าของประเทศ กษัตริย์และขุนนางทั้งหลายร่วมมือกันไม่ยอมรับข้ออ้างว่าพระสันตะปาปามีอำนาจทางฝ่ายโลกและปฏิเสธไม่ส่งเครื่องบรรณาการ การทำเช่นนี้จึงเป็นการตบหน้าอย่างได้ผลต่ออำนาจยิ่งใหญ่ของระบอบเปปาซีในประเทศอังกฤษ {GC 82.1}GCth17 68.1
มีความชั่วอีกเรื่องหนึ่งที่นักปฏิรูปศาสนาคนนี้ต่อสู้ด้วยความแน่วแน่และยาวนานคือสถาบันของคณะนักบวชภราดร [Friar ไฟรเออร์ คณะนักบวชที่พเนจรไปทั่วเพื่อขอรับทานบริจาค] นักบวชภราดรเหล่านี้มีอยู่ดารดาษทั่วประเทศอังกฤษ ทำตัวเป็นบ่อนทำลายความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของประเทศ วงการอุตสาหกรรม การศึกษาและศีลธรรมต่างรู้สึกถึงอิทธิพลอันน่าเศร้าใจนี้ ชีวิตนักบวชที่เกียจคร้านและทำตัวเป็นขอทานไม่เพียงเป็นเหตุให้แหล่งทรัพยากรของประชาชนรั่วไหลอย่างหนัก แต่ยังนำให้เกิดการดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ทำงานที่เกิดประโยชน์ ศีลธรรมของเยาวชนตกต่ำและเสื่อมโทรม ด้วยอิทธิพลจากนักบวชภราดรเหล่านี้ คนมากมายได้รับการชักนำให้หันหน้าเข้าวัดและอุทิศตนเองเพื่อใช้ชีวิตเป็นนักบวช การกระทำนี้ไม่ใช่เพียงปราศจากการยินยอมของพ่อแม่เท่านั้น แต่ทำไปโดยไม่ให้พ่อแม่รับรู้ และแม้กระทั่งขัดขืนคำสั่งของพ่อแม่ บาทหลวงรุ่นแรกท่านหนึ่งของคริสตจักรโรมันอ้างสิทธิของการเป็นนักบวชอยู่เหนือความรักและหน้าที่ซึ่งมีต่อบุพการี ประกาศว่า “แม้ว่าบิดาของท่านนอนร้องไห้คร่ำครวญอยู่หน้าบ้านและมารดาของท่านอ้างบุญคุณของร่างกายที่ให้กำเนิดท่านและเต้านมที่เลี้ยงท่านมา ท่านจะต้องเหยียบคนทั้งสองลงใต้ฝ่าเท้าและมุ่งหน้าตรงไปหาพระคริสต์” ซึ่งภายหลังต่อมา ลูเธอร์เรียก “การกระทำที่โหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม” นี้ว่า “บ่งบอกถึงลักษณะของสุนัขป่าและทรราชมากกว่าคริสเตียนหรือมนุษย์” นั่นคือจิตใจของลูกๆ ที่ถูกหล่อหลอมให้แข็งกระด้างต่อพ่อแม่ Barnas Sears, The Life of Luther หน้า 70, 69 เรื่องเช่นนี้ ผู้นำระบอบเปปาซีจึงทำตัวเหมือนพวกฟาริสีในสมัยโบราณที่ใช้ขนบธรรมเนียมของตนทำให้พระบัญญัติของพระเจ้าไม่มีความหมาย ดังนั้น มีบ้านจำนวนมากถูกทิ้งร้าง และพ่อแม่ต้องสูญเสียการสมาคมกับบุตรธิดาของตนไป {GC 82.2}GCth17 68.2
แม้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยยังถูกหลอกโดยการนำเสนอตัวแบบจอมปลอมของนักบวชแล้วชักจูงให้เข้าร่วมเป็นนักบวชกับพวกเขา หลายคนกลับใจภายหลัง เพราะเห็นว่าพวกเขากำลังทำลายชีวิตของตนเองและนำความทุกข์โศกเศร้ามาสู่พ่อแม่ แต่หากพวกเขาติดแน่นอยู่ในกับดักการจะได้เสรีภาพกลับคืนมานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มีพ่อแม่มากมายกลัวอิทธิพลของนักบวช พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมส่งลูกๆ เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัย ในศูนย์กลางการศึกษาขนาดใหญ่ จำนวนนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด สถาบันการศึกษาต้องถดถอยลงและความโง่เขลามีให้เห็นอย่างแพร่หลาย {GC 83.1}GCth17 69.1
พระสันตะปาปาทรงมอบอำนาจให้นักบวชเหล่านี้ฟังคำสารภาพและให้อภัยบาปได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความชั่วมหันต์ขึ้น มุ่งหวังเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง นักบวชเหล่านี้พร้อมให้อภัยบาปทั้งหมดอย่างง่ายดาย จนกระทั่งอาชญากรทุกรูปแบบมาหาพวกเขาเพื่อลบล้างความผิด และผลที่ตามมาคือความชั่วที่เลวร้ายที่สุดก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนเจ็บป่วยและคนยากจนถูกทอดทิ้งไว้ให้อยู่อย่างระกำลำบาก ในขณะที่สิ่งของที่ควรจะนำไปช่วยแก้ไขความขัดสนกลับถูกนำไปให้กับนักบวชที่คอยข่มขู่บังคับให้ผู้คนต้องทำทาน และประณามผู้ที่กักเก็บไม่นำของมาให้ตามที่พวกเขาสั่งนั้นว่าเป็นคนที่ไม่ศรัทธาในศาสนา แม้ว่านักบวชเหล่านี้จะแสดงตนเป็นคนยากจนก็ตามที แต่ทรัพย์สมบัติของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตัวโบสถ์ที่ยิ่งใหญ่และความฟุ่มเฟือยบนโต๊ะอาหารคือสิ่งที่ทำให้ประเทศชาติยากจนยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ใช้ชีวิตด้วยความหรูหราและสุขสบาย พวกเขากลับส่งตัวแทนที่ไม่มีความรู้ออกไปทำหน้าที่แทน ตัวแทนเหล่านี้ช่ำชองในการเล่านิยายพิสดารและตำนานหรือเรื่องสนุกเพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับประชาชน และยิ่งทำให้ชาวบ้านกลายเป็นเหยื่อโง่ของบรรดานักบวชต่อไปอย่างสมบูรณ์ ด้วยวิธีนี้เหล่านักบวชภราดรจึงยังคงกำฝูงชนที่งมงายไว้ในอุ้งมือและนำให้พวกเขาเชื่อว่าหน้าที่ทางศาสนาทั้งหมดประกอบด้วยการยอมรับว่าพระสันตะปาปายิ่งใหญ่ที่สุด การบูชาเหล่านักบุญทั้งหลายและการถวายสิ่งของให้นักบวช และสิ่งทั้งหมดนี้ก็เพียงพอที่จะจับจองที่ในสวรรค์สำหรับตนเอง {GC 83.2}GCth17 69.2
ผู้มีการศึกษาและฝักใฝ่ในทางศาสนาต่างต้องพบกับความล้มเหลวในการพยายามปฏิรูปกฎระเบียบของนักบวชเหล่านี้ แต่ไวคลิฟมีมุมมองที่ชัดเจนกว่า เขามุ่งโจมตีไปยังรากเง้าของความชั่วนี้ เขาประกาศว่า ความผิดอยู่ที่ตัวระบบเองและจะต้องกำจัดให้หมดสิ้น การถกเถียงและความสงสัยเกิดตื่นตัวขึ้น ในขณะที่นักบวชเดินทางไปทั่วประเทศ ขายใบลบมลทินบาปของพระสันตะปาปา คนมากมายเริ่มสงสัยถึงความเป็นไปได้ของการใช้เงินซื้อการอภัยบาป พร้อมกับตั้งคำถามว่า เขาควรจะต้องขอการอภัยบาปจากพระเจ้าหรือจากพระสันตะปาปาแห่งโรมกันแน่ (โปรดดูภาคผนวกหน้า 59) มีคนไม่น้อยที่ตื่นตระหนกกับความโลภของนักบวชภราดรทั้งหลาย ซึ่งดูจะไม่รู้จักพอ พวกเขากล่าวกันว่า “พระและนักบวชแห่งโรมกำลังกัดกร่อนพวกเขาเหมือนกับโรคมะเร็ง พระเจ้าจำเป็นต้องมาช่วยเราให้หลุดพ้น มิฉะนั้นแล้วเราจะพินาศ” D’Aubigné เล่มที่ 17 บทที่ 7 นักบวชที่เที่ยวขอทานเหล่านี้พยายามปกปิดความโลภด้วยการอ้างว่าพวกเขาทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาอ้างว่าพระเยซูและสาวกของพระองค์ต่างได้รับการสนับสนุนด้วยการทำทานของประชาชน คำกล่าวอ้างนี้สร้างผลเสียให้กับการกระทำของพวกเขาเอง เพราะทำให้คนจำนวนมากกลับไปค้นหาศึกษาพระคัมภีร์เพื่อเรียนรู้ความจริงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่โรมไม่ต้องการมากที่สุด ความคิดของคนทั้งหลายถูกนำไปสู่แหล่งความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่โรมต้องการปกปิด {GC 84.1}GCth17 70.1
ไวคลิฟเริ่มเขียนและตีพิมพ์ใบปลิวต่อต้านนักบวชภราดร เขาไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับนักบวชเหล่านี้มากไปกว่าการเรียกร้องให้ประชาชนหันเข้าหาคำสอนในพระคัมภีร์และพระผู้ทรงประพันธ์พระคัมภีร์ เขาประกาศว่าพระสันตะปาปาไม่มีอำนาจอภัยบาปหรือขับผู้คนออกจากศาสนามากไปกว่านักบวชธรรมดา และจะไม่มีผู้ใดถูกขับออกจากศาสนาอย่างแท้จริงนอกเสียจากว่าผู้นั้นจะได้รับคำพิพากษาจากพระเจ้าเสียก่อน ไม่มีทางอื่นใดซึ่งให้ผลดีกว่าในการล้มล้างโครงสร้างอันใหญ่โตของฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลกซึ่งพระสันตะปาปาทรงก่อขึ้น และกักกันจิตวิญญาณและร่างกายของคนนับล้านไว้ {GC 84.2}GCth17 70.2
อีกครั้งหนึ่งไวคลิฟถูกเรียกให้เข้ามาปกป้องสิทธิของกษัตริย์แห่งประเทศอังกฤษเพื่อต่อต้านการรุกล้ำของโรมและโดยการได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูต เขาอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นเวลาสองปีเพื่อติดต่อหารือกับตัวแทนของพระสันตะปาปา ที่นั่นเองเขาติดต่อกับคณะสงฆ์จากประเทศฝรั่งเศส ประเทศอิตาลีและประเทศสเปน และมีโอกาสเห็นเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ และรับรู้เรื่องราวมากมายที่เขาไม่มีทางรับรู้หากเขาอยู่ในประเทศอังกฤษ เขาเรียนรู้เรื่องที่เป็นประโยชน์มากมายต่อการทำงานของเขาในเวลาต่อมา เขามองเห็นลักษณะและเป้าหมายที่แท้จริงของสภาการปกครองของสงฆ์จากตัวแทนที่มาจากราชสำนักของระบอบเปปาซี เมื่อเขากลับไปประเทศอังกฤษ เขาย้ำสอนในเรื่องที่เขาเคยสอนอย่างเปิดเผยมากยิ่งขึ้น และด้วยความกระตือรือร้นที่มากกว่าเดิม เขาประกาศว่าความโลภ ความหยิ่งยโสและการหลอกลวงเป็นพระเจ้าของโรม {GC 84.3}GCth17 70.3
ในใบปลิวฉบับหนึ่ง เขากล่าวถึงพระสันตะปาปาและคนเก็บเงินทั้งหลายว่า “พวกเขาดูดเงินจากความเป็นอยู่ของคนยากจนในแผ่นดินของเรา และในแต่ละปี พวกเขาเอาเงินจำนวนหลายพันจากคลังของกษัตริย์ไปใช้ในพิธีทางศาสนาและฝ่ายจิตวิญญาณ นั่นเป็นคำแช่งสาปที่เป็นบาปทางศาสนาของพวกนอกรีต และทำให้คริสต์ศาสนจักรยอมรับและคงคำสอนที่ผิดนี้ต่อไป และแน่นอนทีเดียว แม้อาณาบริเวณของเราจะมีเนินเขาทองคำอันใหญ่โตก็จะไม่มีผู้ใดได้แตะต้องนอกจากนักบวชเก็บเงินหยิ่งยโสที่ฝักใฝ่ทางโลกคนนี้ เวลาผ่านไป เนินเขานี้จะถูกใช้จนหมด เพราะเขาจะนำเงินทั้งหมดออกไปจากดินแดนของเรา และจะไม่ส่งอะไรกลับมาให้เรานอกจากคำสาปของพระเจ้าต่อบาปทางศาสนาที่เขาทำไว้” John Lewis, History of the Life and Sufferings of J. Wiclif หน้า 37 {GC 85.1}GCth17 71.1
หลังจากที่ไวคลิฟกลับไปประเทศอังกฤษไม่นาน กษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นอธิการบดีแห่งเมืองลัตเตอร์เวิร์ธ นี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยพระราชาทรงพอพระทัยกับการพูดอย่างตรงไปตรงมาของเขา อิทธิพลของไวคลิฟเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพระราชสำนักและในการหล่อหลอมความเชื่อของประเทศชาติอีกด้วย {GC 85.2}GCth17 71.2
ในไม่ช้า เสียงขู่คำรามจากผู้นำของระบอบเปปาซีก็ดังโหมกระหน่ำมาใส่เขา สาส์นตราตั้งของพระสันตะปาปา 3 ฉบับส่งตรงมายังประเทศอังกฤษ มาถึงมหาวิทยาลัย พระมหากษัตริย์และพระราชาคณะ คำสั่งทุกฉบับสั่งให้ปิดปากครูสอนนอกรีตให้เงียบทันทีและอย่างเด็ดขาด (Augustus Neander, General History of the Christian Religion and Church ประโยคที่ 6 ส่วนที่ 2 ตอนที่ 1 ย่อหน้าที่ 8 โปรดดูภาคผนวกด้วย) แต่ก่อนที่สาส์นตราตั้งจะมาถึง บิชอปทั้งหลายที่ร้อนรนออกหมายเรียกให้ไวคลิฟมาขึ้นศาลต่อหน้าพวกเขา แต่ไวคลิฟมาที่ศาลพร้อมกับเจ้าชายที่มีอำนาจมากที่สุดในอาณาจักรถึงสองพระองค์ และประชาชนก็ห้อมล้อมอยู่รอบตึกและวิ่งกรูเข้าไป ข่มขวัญผู้พิพากษาจนต้องยกเลิกการพิจารณาไปชั่วคราว และไวคลิฟก็ได้รับอนุญาตให้กลับออกไปอย่างสันติ ไม่นานจากนั้น กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 3 ผู้ชราภาพ ซึ่งเป็นผู้ที่พวกพระราชาคณะคอยหาทางที่จะใช้อิทธิพลของพระองค์เพื่อต่อต้านนักปฏิรูปคนนี้เสด็จสวรรคต และผู้ที่เคยปกป้องไวคลิฟกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทน {GC 85.3}GCth17 71.3
คำสั่งของระบอบเปปาซีกำหนดให้ประชาชนทั่วประเทศอังกฤษจับกุมและคุมขังคนนอกรีต มาตรการนี้หมายถึงเสาประหารเผาทั้งเป็น ดูเหมือนค่อนข้างแน่ว่าไวคลิฟคงต้องตกเป็นเหยื่อความอาฆาตของโรม แต่พระเจ้าผู้ทรงเคยประกาศในอดีตกาลว่า “อย่ากลัวเลย เราเป็นโล่ของเจ้า” ปฐมกาล 15:1 พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์ ความตายไม่ได้มาเยือนนักปฏิรูปศาสนาคนนี้ แต่กลับมาถึงพระสันตะปาปาที่ออกคำสั่งให้ทำลายเขา พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 สิ้นพระชนม์ และคณะสงฆ์ที่ชุมนุมกันเพื่อพิพากษาไวคลิฟก็สลายตัวไปด้วย {GC 86.1}GCth17 71.4
การคุ้มครองของพระเจ้ายังคงควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้การปฏิรูปศาสนาเติบใหญ่ขึ้น ภายหลังจากที่พระสันตะปาปาเกรกอรีสิ้นพระชนม์ มีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาสององค์ที่เป็นคู่แข่งกันขึ้น อำนาจของทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน แต่ละฝ่ายอ้างว่าตนไม่รู้พลั้งและเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อฟัง (โปรดดูภาคผนวกสำหรับหน้า 50 และ 86) ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องให้ผู้เชื่อร่วมมือกับตนเพื่อทำสงครามต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการยืนยันข้อเรียกร้องของตนโดยการสาปแช่งที่ร้ายแรงต่อคู่ต่อสู้ และสัญญาที่จะให้รางวัลในสวรรค์แก่ผู้ที่สนับสนุนตน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อำนาจของระบอบเปปาซีอ่อนกำลังลง ต่างฝ่ายต่างทุ่มเทอย่างสุดกำลังที่ทำได้เพื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ส่งผลให้ไวคลิฟมีเวลาพักระยะหนึ่ง มีการประณามกันอย่างรุนแรงและโต้ตอบกันระหว่างพระสันตะปาปาทั้งสององค์ และมีการหลั่งเลือดเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ขัดแย้งกัน อาชญากรรมและเรื่องน่าละอายไหลบ่าจนท่วมคริสตจักร ในเวลาเดียวกัน นักปฏิรูปท่านนี้อยู่ที่โบสถ์แห่งเมืองลัตเตอร์เวิร์ธด้วยความสงบสุข เขาทำงานด้วยความขยันขันแข็งเพื่อชี้ให้มนุษย์หันจากพระสันตะปาปาที่ชิงดีชิงเด่นไปหาพระเยซู พระผู้ทรงเป็นเจ้าชายแห่งสันติภาพ {GC 86.2}GCth17 72.1
ความขัดแย้งที่เป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงและความต่ำทรามทั้งหมดเตรียมทางให้กับการปฏิรูปศาสนาโดยชี้ให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ของอำนาจของระบอบเปปาซี ในใบปลิวฉบับหนึ่งที่ไวคลิฟพิมพ์ออกมาเรื่องความขัดแย้งของพระสันตะปาปาคู่นี้ [On the Schism of the Popes] เขาเรียกร้องให้ประชาชนพิจารณาว่า บาทหลวงทั้งสองนั้นพูดความจริงหรือไม่ในการกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นพระคริสต์เทียมเท็จ เขากล่าวว่า “พระเจ้าจะไม่ทรงยอมปล่อยให้ปีศาจแบบบาทหลวงเช่นนี้เพียงคนเดียวมีอำนาจปกครองอีกต่อไป.....แต่ทำให้ทั้งสองฝ่ายแตกแยก เพื่อว่าโดยพระนามของพระคริสต์ มนุษย์จะมีชัยชนะเหนือบาทหลวงทั้งสองง่ายขึ้น” R. Vaughan, Life and Opinions of John de Wycliffe เล่มที่ 2 หน้าที่ 6 {GC 86.3}GCth17 72.2
ไวคลิฟทำตัวเหมือนพระอาจารย์ด้วยการประกาศพระกิตติคุณให้แก่คนยากจน เขาไม่พอใจกับการแบ่งปันแสงสว่างไปตามบ้านที่อ่อนน้อมในละแวกโบสถ์แห่งเมืองลัตเตอร์เวิร์ธของเขาเท่านั้น เขายังมุ่งมั่นที่จะนำแสงสว่างนี้ประกาศไปทั่วประเทศอังกฤษ เพื่อทำการนี้ให้สำเร็จ เขาจัดตั้งกลุ่มนักเทศน์ซึ่งเป็นคนที่เรียบง่ายและเคร่งศาสนา คนที่รักความจริงและไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใดนอกจากต้องการประกาศความจริง ชายเหล่านี้ไปทั่วทุกหนแห่ง สอนตามตลาด ตามท้องถนนในเมืองใหญ่ และตามตรอกซอยของชนบท พวกเขาเข้าถึงคนชรา คนเจ็บป่วยและคนยากจน และนำข่าวแห่งความชื่นชมยินดีของพระคุณพระเจ้าไปสู่คนเหล่านั้น {GC 87.1}GCth17 72.3
ในฐานะที่ไวคลิฟเป็นศาสตราจารย์ทางศาสนศาตร์ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เขาเทศนาพระวจนะของพระเจ้าในหอประชุมของมหาวิทยาลัย เขาสอนความจริงให้แก่นักศึกษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขาด้วยความซื่อสัตย์ถึงกับได้รับตำแหน่ง “ดุษฎีบัณฑิตแห่งพระกิตติคุณ” แต่ผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาคือการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาอังกฤษ ในผลงานเขียนเรื่อง “ความจริงและความหมายของพระคัมภีร์” [On the Truth and Meaning of Scripture] เขากล่าวถึงความตั้งใจที่จะแปลพระคัมภีร์ เพื่อให้ทุกคนในประเทศอังกฤษอ่านพระราชกิจที่ประเสริฐยิ่งของพระเจ้าในภาษาที่เขาเกิดมา {GC 87.2}GCth17 73.1
แต่งานของเขาต้องหยุดชะงักในทันที แม้ว่าเขาอายุยังไม่ถึงหกสิบปี แต่การทำงานอย่างไม่มีวันหยุด การศึกษาค้นคว้าและการโจมตีจากศัตรูทั้งหลาย บั่นทอนพละกำลังของเขาและทำให้เขาแก่ก่อนวัย โรคร้ายอันตรายจู่โจมเขา ข่าวนี้นำความชื่นชมที่ยิ่งใหญ่มาให้นักบวชภราดรทั้งหลาย พวกเขาคิดว่า บัดนี้ไวคลิฟคงจะสำนึกผิดด้วยความขมขื่นต่อความชั่วร้ายที่เขาทำกับคริสตจักร และต่างรีบเร่งไปยังบ้านพักของเขาเพื่อฟังคำสารภาพจากไวคลิฟ ผู้แทนจากนิกายทั้งสี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสี่นายมายืนห้อมล้อมรอบชายที่พวกเขาคิดว่ากำลังจะตาย พร้อมกับพูดว่า “ความตายอยู่ที่ริมฝีปากของเจ้า จงสำนึกผิดและถอนคำพูดที่เจ้าทำให้พวกเราเสียหายต่อหน้าพวกเรา” นักปฏิรูปศาสนารับฟังด้วยความสงบ แล้วเขาขอร้องให้ผู้ที่ดูแลเขาช่วยพยุงเขาขึ้นนั่งบนเตียงและจ้องหน้าพวกที่กำลังรอฟังการถอนคำพูดของตน เขาพูดด้วยเสียงหนักแน่นซึ่งเป็นเสียงที่ทำให้พวกเขากลัวจนตัวสั่นอยู่บ่อยๆ “ข้าพเจ้ายังไม่ตาย แต่จะมีชีวิตต่อไป และยังจะเปิดเผยความชั่วร้ายของนักบวชภราดรอีก” D’Aubigné เล่มที่ 17 บทที่ 7 นักบวชเหล่านั้นต้องรีบออกจากห้องนั้นไปด้วยความตกใจและเสียหน้า {GC 87.3}GCth17 73.2
คำพูดของไวคลิฟเป็นจริงตามที่เขากล่าวไว้ เขามีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อนำอาวุธที่มีพลังยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อต่อสู้กับโรม นั่นคือการมอบพระคัมภีร์ไว้ในมือของเพื่อนร่วมชาติของเขา เป็นเครื่องมือที่สวรรค์ประทานมาเพื่อปลดปล่อย ให้ความกระจ่าง และนำประชาชนมายังพระเจ้า เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จ เขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคยิ่งใหญ่มากมาย ไวคลิฟถูกความเจ็บป่วยถ่วงไว้ เขารู้ดีว่ามีเวลาเหลือให้เขาทำงานเพียงอีกไม่กี่ปี เขามองเห็นแรงคัดค้านที่เขาต้องเผชิญ แต่พระสัญญาจากพระวจนะของพระเจ้าทำให้เขามีกำลังใจขึ้น เขาก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ครั่นคร้าม ด้วยพลังสติปัญญาที่เต็มไปด้วยความกระปรี้กระเปร่า ด้วยประสบการณ์มากมาย พระเจ้าทรงนำเขาเป็นพิเศษ ทรงปกป้องและเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับภารกิจนี้ ซึ่งเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา ในขณะที่โลกคริสเตียนปั่นป่วนไปทั่ว นักปฏิรูปศาสนาท่านนี้เก็บตัวเงียบอยู่ในห้องทำงานที่เมืองลัตเตอร์เวิร์ธ ไม่หวาดหวั่นต่อพายุที่โหมกระหน่ำอยู่ภายนอก ตั้งหน้าตั้งตาทำงานที่เขาเลือกทำ {GC 88.1}GCth17 73.3
ในที่สุด งานที่เขาทำก็สำเร็จ เป็นพระคัมภีร์ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเล่มแรกที่ไม่มีผู้ใดทำมาก่อน พระวจนะของพระเจ้าเปิดออกให้แก่ประเทศอังกฤษแล้ว บัดนี้ นักปฏิรูปศาสนาท่านนี้ไม่เกรงกลัวต่อห้องขังหรือหลักประหารเผาทั้งเป็นอีกแล้ว เขามอบแสงสว่างที่ไม่มีวันดับไว้ในมือของชาวอังกฤษแล้ว ด้วยการมอบพระคัมภีร์ให้แก่เพื่อนร่วมชาติ เขาตัดเครื่องพันธนาการแห่งความโง่เขลาและความชั่ว ปลดปล่อยและยกระดับประเทศของเขา ซึ่งบรรลุผลได้มากกว่าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจากสนามรบใดๆ {GC 88.2}GCth17 74.1
ในสมัยศาสตร์การพิมพ์ยังไม่เป็นที่รู้จัก จำนวนพระคัมภีร์จะเพิ่มขึ้นด้วยการคัดลอกที่เชื่องช้าและน่าเบื่อหน่ายเท่านั้น ความสนใจอยากได้พระคัมภีร์มีมหาศาล จนมีคนมากมายยินดีลงมือทำงานการคัดลอก แต่การคัดลอกนี้ทำไปอย่างยากลำบาก ไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการ ผู้ซื้อที่ร่ำรวยกว่าต้องการพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ส่วนคนอื่นๆ ก็ซื้อเพียงบางตอน มีหลายครอบครัวร่วมกันซื้อทั้งฉบับ ด้วยวิธีนี้ ไม่ช้า พระคัมภีร์ของไวคลิฟก็กระจายไปสู่บ้านเรือนของประชาชน {GC 88.3}GCth17 74.2
คำวิงวอนเรียกร้องที่เข้าถึงความมีเหตุมีผลของมนุษย์ปลุกพวกเขาให้ตื่นขึ้นจากการยอมจำนนอย่างหลับหูหลับตาให้กับคำสอนของระบอบเปปาซี บัดนี้ไวคลิฟสอนหลักธรรมโดดเด่นของชาวโปรเตสแตนต์คือ ความรอดโดยความเชื่อในพระคริสต์ และพระคัมภีร์เท่านั้นที่ไม่มีวันผิดพลาด นักเทศน์ที่เขาส่งออกไปนั้นนำพระคัมภีร์ไปแจกจ่าย พร้อมกับนำบทความที่นักปฏิรูปศาสนาท่านนี้เขียนขึ้นติดตัวไปด้วยและประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่โดยที่ชาวอังกฤษเกือบครึ่งประเทศยอมรับความเชื่อใหม่นี้ {GC 89.1}GCth17 74.3
การปรากฏของพระคัมภีร์นำความวิตกมาสู่ผู้มีอำนาจในคริสตจักร บัดนี้พวกเขาต้องเผชิญกับสิ่งที่มีพลังอำนาจมากกว่าไวคลิฟ เป็นเครื่องมือที่อาวุธของพวกเขาใช้ประโยชน์ได้แต่น้อย ในเวลานั้น ประเทศอังกฤษยังไม่มีกฎหมายห้ามมีพระคัมภีร์ เพราะยังไม่เคยมีการพิมพ์พระคัมภีร์ออกมาเป็นภาษาของประชาชน กฎหมายดังกล่าวถูกตราขึ้นในภายหลังและบังคับใช้อย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกัน ถึงแม้พวกบาทหลวงจะพยายามอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ช่วงเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันเหมาะสมสำหรับการกระจายพระวจนะของพระเจ้า {GC 89.2}GCth17 74.4
อีกครั้งหนึ่งที่ผู้นำของระบอบเปปาซีวางแผนเพื่อปิดปากนักปฏิรูปท่านนี้ เขาถูกเรียกให้ไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลถึงสามแห่งติดต่อกัน แต่ก็ไม่ได้ผล แรกสุด สภาสงฆ์ประกาศว่างานเขียนของเขานอกรีต และพวกเขาหว่านล้อมกษัตริย์ริชาร์ดที่ 2 ผู้มีอายุเยาว์วัยมาเป็นฝ่ายตน พวกเขารับพระราชกฤษฎีกาให้มีอำนาจส่งทุกคนที่ถือคำสอนต้องห้ามนี้เข้าคุก {GC 89.3}GCth17 74.5
ไวคลิฟยื่นอุทธรณ์จากสภาสงฆ์ไปยังรัฐสภา เขากล่าวหาสภาปกครองสงฆ์ต่อหน้าสมาชิกสภาแห่งชาติอย่างไม่เกรงกลัว และเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนวิธีการผิดๆ จำนวนมากที่คริสตจักรจัดตั้งขึ้น ด้วยความสามารถในการโน้มน้าวผู้อื่นให้คล้อยตาม เขาบรรยายถึงการแย่งชิงอำนาจและความเหลวแหลกของราชสำนักของระบอบเปปาซี ทำให้ศัตรูของเขาสับสน มิตรสหายและผู้สนับสนุนของไวคลิฟถูกบังคับให้ยอมจำนนไปก่อนหน้าเขาแล้ว และศัตรูของเขาคาดหวังอย่างมั่นใจว่านักปฏิรูปผู้นี้จะต้องยอมจำนนในครั้งนี้แน่ ความชราภาพ ความโดดเดี่ยวและความไร้มิตรน่าจะทำให้เขาก้มหัวให้กับผู้มีอำนาจของทั้งราชสำนักและของศาสนา แต่แทนที่จะเห็นเช่นนี้ บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีกลับต้องพบกับความพ่ายแพ้ คำอุทธรณ์ของไวคลิฟกระตุ้นรัฐสภาให้ต้องกลับคำพิพากษาของคณะศาลและนักปฏิรูปศาสนาผู้นี้ก็ได้รับอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง {GC 89.4}GCth17 75.1
เขาถูกนำขึ้นศาลเป็นครั้งที่สาม และในครั้งนี้ เขาต้องปรากฏตัวต่อหน้าศาลสูงสุดทางฝ่ายศาสนาของราชอาณาจักร ศาลนี้ไม่เคยปรานีต่อพวกคนนอกรีต ในศาลนี้ โรมน่าจะได้รับชัยชนะ และภารกิจของนักปฏิรูปผู้นี้คงต้องยุติลง เหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีต่างคาดคะเนไว้อย่างนั้น หากพวกเขาสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ ไวคลิฟจะถูกบีบบังคับให้เพิกถอนหลักคำสอนของเขาหรือไม่ก็ออกจากศาลไปสู่เปลวเพลิงเท่านั้น {GC 90.1}GCth17 75.2
แต่ไวคลิฟไม่ถอย เขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเขา เขายังคงรักษาคำสอนของเขาอย่างปราศจากความกลัวและปฏิเสธข้อกล่าวหาของผู้ที่ต้องการลงโทษเขา เขาไม่คิดถึงตนเอง ไม่คิดถึงตำแหน่ง ไม่คิดถึงเหตุการณ์ เขาเรียกร้องคณะผู้พิจารณาเขาที่อยู่หน้าบัลลังก์สูงสุดฝ่ายศาสนานั้น นำความเจ้าเล่ห์และการหลอกลวงทั้งหลายของพวกเขามาชั่งน้ำหนักเทียบกับความจริงนิรันดร์ ผู้ที่อยู่ในห้องประชุมสภาต่างสัมผัสถึงอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ อำนาจของพระเจ้าสถิตอยู่เหนือคณะผู้พิจารณา ดูประหนึ่งว่าพวกเขาหมดเรี่ยวแรงที่จะเดินออกจากสถานที่แห่งนั้น คำพูดของนักปฏิรูปศาสนาท่านนี้เป็นเหมือนดั่งลูกธนูที่ยิงจากพระเจ้า เจาะทะลุเข้าไปในหัวใจของพวกเขา ข้อหานอกรีตที่พวกเขานำมาเพื่อปรักปรำเขา กลับถูกอำนาจแห่งการโน้มน้าวของเขาโยนกลับไปสู่พวกเขาเอง ไวคลิฟร้องถามว่าทำไมพวกเขาถึงกล้าเผยแพร่สิ่งที่ผิดๆ ทำไมพวกเขาจึงกล้าเอาพระคุณของพระเจ้ามาหาผลประโยชน์ มาเป็นสินค้าได้อย่างไร {GC 90.2}GCth17 75.3
ในที่สุดเขาก็กล่าวว่า “ลองคิดดูว่า ท่านกำลังต่อสู้กับใคร ต่อสู้กับชายแก่คนหนึ่งที่กำลังใกล้จะลงหลุมฝังศพหรือ ไม่ใช่ แต่ท่านกำลังต่อสู้กับความจริง ความจริงที่มีพละกำลังมากกว่าท่านและความจริงนั้นจะชนะท่าน” Wylie เล่มที่ 2 บทที่ 13 เมื่อเขากล่าวจบแล้ว ไวคลิฟก็เดินออกไปจากที่ประชุมและไม่มีศัตรูคนใดกล้าที่จะขัดขวางเขา {GC 90.3}GCth17 75.4
ภารกิจของไวคลิฟเกือบสำเร็จแล้ว ในไม่ช้า ธงแห่งความจริงที่เขายกชูมานานกำลังจะพ้นไปจากมือของเขา แต่เขายังต้องถูกเรียกไปเป็นพยานให้กับพระกิตติคุณอีกครั้งหนึ่ง ความจริงจะต้องถูกประกาศออกมาจากป้อมปราการของอาณาจักรแห่งความผิดพลาด ไวคลิฟถูกหมายเรียกให้มาสอบสวนที่ศาลของระบอบเปปาซีในกรุงโรม สถานที่ซึ่งเลือดของเหล่าธรรมิกชนมักต้องเอามาหลั่งไว้ที่นี่ เขาไม่ใช่มองไม่เห็นภัยอันตรายที่กำลังคุกคามเขาอยู่ เขาน่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง หากไม่ใช่เพราะเขาเกิดเป็นอัมพาตอย่างฉับพลันซึ่งทำให้เขาออกเดินทางไม่ได้ ถึงแม้ว่า เสียงของเขาจะไม่ดังขึ้นในกรุงโรมก็ตามที แต่เขาก็สามารถพูดผ่านทางจดหมาย นั่นเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำ จากบ้านพักอธิการบดี นักปฏิรูปศาสนาคนนี้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปถึงพระสันตะปาปา ซึ่งด้วยคำพูดที่แสดงความเคารพและด้วยวิญญาณของความเป็นคริสเตียน แต่แฝงไปด้วยคำตำหนิในพิธีการอันโอ่อ่าและภูมิฐานของราชสำนักของระบอบเปปาซี {GC 90.4}GCth17 76.1
เขาเขียนว่า “ ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีด้วยความจริงใจที่จะเปิดเผยและประกาศให้มนุษย์ทุกคนทราบถึงความเชื่อที่ข้าพเจ้ายึดถือ และโดยเฉพาะให้กับท่านบิชอปแห่งกรุงโรมรับทราบ ซึ่งเท่าที่ข้าพเจ้าคาดหวังไว้ว่าท่านยังคงมีสติปัญญาที่ปกติดีและเที่ยงธรรมอยู่ ท่านจะต้องเต็มใจรับรองความเชื่อที่ข้าพเจ้ามีอยู่อย่างแน่นอน หรือหากผิดก็จะรีบช่วยแก้ไข {GC 91.1}GCth17 76.2
“ก่อนอื่น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระกิตติคุณของพระคริสต์เป็นสาระสำคัญทั้งหมดของพระบัญญัติของพระเจ้า......ข้าพเจ้ายอมรับและถือว่าบิชอปแห่งกรุงโรมซึ่งเป็นผู้แทนของพระคริสต์บนโลกนี้ จะต้องยึดติดกับพระบัญญัติแห่งพระกิตติคุณนั้นมากกว่าคนอื่นๆ เพราะความยิ่งใหญ่ในท่ามกลางสาวกของพระคริสต์ไม่ได้ประกอบด้วยความสูงศักดิ์หรือเกียรติยศของโลกนี้ แต่อยู่ที่การติดตามการดำรงชีวิตของพระคริสต์และปฏิบัติตามพระองค์อย่างเคร่งครัด.....ในช่วงชีวิตที่พระคริสต์ทรงปฏิบัติพระราชกิจในโลกนั้น พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ยากจนที่สุด พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลงและละทิ้งอำนาจและเกียรติยศทั้งสิ้นของโลกนี้.... {GC 91.2}GCth17 76.3
“ ผู้ที่ซื่อสัตย์ทุกคนไม่ควรทำตามเยี่ยงอย่างของพระสันตะปาปาหรือผู้บริสุทธิ์ใดๆ แต่เขาควรปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ สำหรับเปโตรและบุตรของเศเบดีที่ปรารถนาเกียรติยศทางโลก สวนทางกับหนทางของพระคริสต์ สร้างความระคายเคืองต่อพระทัยของพระองค์ ดังนั้น จึงไม่ควรทำตามความผิดพลาดของพวกเขาในเรื่องเหล่านี้........{GC 91.3}GCth17 76.4
“พระสันตะปาปาควรละวางอำนาจฝ่ายฆราวาสทั้งในเรื่องกฎหมายและการปกครองทั้งหมดให้อยู่กับอำนาจทางฝ่ายโลก แล้วขับเคลื่อน หนุนชูใจคณะสงฆ์ทั้งหมดให้ทำหน้าที่ของตนอย่างเกิดผล เพราะพระคริสต์ทรงกระทำเช่นนี้และโดยเฉพาะสาวกของพระองค์ก็ทำตามเช่นกัน ด้วยเหตุนี้หากข้าพเจ้าได้กระทำความผิดประการใด ข้าพเจ้าจะยอมเข้ามอบตัวอย่างอ่อนน้อมที่สุดเพื่อรับการแก้ไข ถึงแม้ว่าจะต้องถึงแก่ความตายหากจำเป็นก็ตาม และนี่หากข้าพเจ้าสามารถฝืนสังขารตนเองและทำตามใจปรารถนาของข้าพเจ้าเองได้แล้ว ข้าพเจ้าคงมาเข้าพบท่านบิชอปแห่งกรุงโรมด้วยตนเองแล้วอย่างแน่นอน แต่พระเจ้าทรงกระทำการที่ตรงกันข้ามกับความต้องการของข้าพเจ้า และพระองค์ทรงสอนให้ข้าพเจ้าเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังมนุษย์” {GC 91.4}GCth17 76.5
เขาเขียนปิดท้ายว่า “ให้เราอธิษฐานทูลขอพระเจ้าเพื่อพระองค์จะทรงกระตุ้นพระสันตะปาปาเออเบนที่ 6 ของเรา เพื่อพระองค์กับคณะสงฆ์ของพระองค์จะดำเนินตามอย่างพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าในการใช้ชีวิตและความประพฤติ แล้วพวกเขาจะสอนประชาชนอย่างเกิดผล ในทำนองเดียวกันประชาชนจะทำตามอย่างพวกเขาด้วยความซื่อสัตย์” John Foxe, Acts and Monuments เล่มที่ 3 หน้า 49, 50 {GC 92.1}GCth17 77.1
ไวคลิฟนำเสนอความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระคริสต์ให้ปรากฏแก่พระสันตะปาปาและเหล่าพระคาร์ดินัลในลักษณะนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้พวกเขาเห็นเท่านั้น แต่เพื่อให้ทุกคนในอาณาจักรของคริสเตียนเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพวกเขากับพระอาจารย์ผู้ซึ่งเขาทั้งหลายอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของพระองค์ {GC 92.2}GCth17 77.2
ไวคลิฟคาดไว้อย่างเต็มที่ว่าเขาจะต้องชดใช้ความภักดีของเขาด้วยชีวิต กษัตริย์ พระสันตะปาปาและบิชอปร่วมมือกันเพื่อสร้างความหายนะให้แก่เขา และดูน่าจะแน่ชัดแล้วว่าภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เขาคงจะต้องถูกนำเข้าไปสู่หลักประหาร แต่ความกล้าหาญของเขาไม่สั่นคลอน เขาพูดว่า “ทำไมพวกท่านจึงเฝ้าพูดแต่เรื่องการแสวงหามงกุฎแห่งการสังเวยชีพเพื่อความเชื่อที่ยังอยู่ห่างไกล จงประกาศพระกิตติคุณของพระคริสต์ให้แก่พวกพระราชาคณะที่ถือตัว ท่านก็จะไม่พลาดจากการถูกสังเวยชีพอย่างแน่นอน เป็นอะไรกัน จะให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ต่อไปและปิดปากเงียบหรือ......ไม่มีทาง ขอให้การโจมตีฟาดลงมา ข้าพเจ้ารอให้มันมาอยู่แล้ว” D’Aubigné เล่มที่ 17 บทที่ 8 {GC 92.3}GCth17 77.3
แต่พระเจ้ายังทรงคุ้มครองดูแลปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์อยู่ ชายที่ยืนหยัดอย่างกล้าหาญตลอดทั้งชีวิตเพื่อปกป้องความจริง เผชิญภยันตรายประจำวันในชีวิตของเขา จะไม่ตกเป็นเหยื่อแห่งความเกลียดชังของศัตรูของเขา ไวคลิฟไม่เคยหาทางปกป้องตัวเอง แต่พระเจ้าเองทรงเป็นผู้ปกป้องเขา และบัดนี้เมื่อเหล่าศัตรูมั่นใจว่าจะจับเหยื่อของพวกเขาได้ พระหัตถ์ของพระเจ้าทรงนำเขาให้พ้นจากเงื้อมมือของคนเหล่านั้น ในขณะที่เขากำลังประกอบพิธีศีลมหาสนิทในโบสถ์ของเขาที่เมืองลัตเตอเวิร์ธอยู่นั้น เขาเป็นอัมพาตและล้มลง และไม่นานต่อมาเขาก็เสียชีวิต {GC 92.4}GCth17 77.4
พระเจ้าทรงมอบภารกิจนี้แก่ไวคลิฟ พระองค์ทรงนำพระวจนะแห่งความจริงใส่ไว้ในปากของเขา และทรงปกป้องเขาเพื่อให้พระวจนะนี้เข้าถึงประชาชน ชีวิตของเขาได้รับการพิทักษ์ไว้และภารกิจของเขาถูกขยายให้ยาวนานออกไป จนกระทั่งเขาปูพื้นฐานให้กับงานปฏิรูปทางศาสนาครั้งยิ่งใหญ่ {GC 92.5}GCth17 77.5
ไวคลิฟก้าวออกมาจากความมืดมนของยุคมืด ไม่มีผู้ใดเคยทำหน้าที่นี้มาก่อนเพื่อเป็นต้นแบบให้เขาใช้ในการวางโครงร่างระบบการปฏิรูปของเขา เขารับการเลี้ยงดูอบรมขึ้นมาเหมือนเช่นยอห์นผู้ให้บัพติศมาเพื่อทำหน้าที่พิเศษของพระเจ้า เขาเป็นผู้เริ่มต้นศักราชใหม่ นอกเหนือจากนั้น สัจธรรมที่เขาประกาศนั้น ยังมีเอกภาพและสมบูรณ์แบบซึ่งนักปฏิรูปศาสนาคนอื่นๆ ที่ตามมาภายหลังไม่อาจทำได้ดีกว่าหรือทำได้เท่าเทียมเขา แม้เวลาจะผ่านไปเป็นร้อยปีก็ตาม พื้นฐานที่วางไว้นั้นกว้างและลึก ขอบข่ายงานนั้นมั่นคงและสัจจริง จนผู้ที่ตามมาภายหลังไม่จำเป็นต้องปรับร่างสร้างใหม่อีกเลย {GC 93.1}GCth17 77.6
ขบวนการยิ่งใหญ่ที่ไวคลิฟจุดประกายขึ้นเพื่อปลดปล่อยสามัญสำนึกและสติปัญญาและให้อิสรภาพแก่ประเทศชาติที่ตกอยู่ในขบวนแห่ยิ่งใหญ่อย่างมีชัยของโรมนั้นมีจุดเริ่มต้นจากพระคัมภีร์ นี่คือต้นกำเนิดของลำธารแห่งพระพรซึ่งเป็นเหมือนน้ำพุแห่งชีวิตที่ไหลต่อลงมาตลอดทุกยุคนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา ไวคลิฟยอมรับพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยความเชื่ออย่างไม่สงสัยว่าพระคัมภีร์เป็นพระวจนะที่เปิดเผยน้ำพระทัยของพระเจ้าซึ่งได้รับการดลใจ เป็นกฎที่เพียงพอต่อความเชื่อและการกระทำ เขาถูกอบรมให้นับถือคริสตจักรแห่งโรมว่ามาจากพระเจ้า มีอำนาจไม่รู้พลั้ง และยอมรับคำสอนและธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาเป็นพันปีด้วยความเคารพและไม่มีข้อสงสัย แต่เขาหันหลังให้กับสิ่งเหล่านี้เพื่อฟังพระวจนะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า นี่คือสิทธิอำนาจที่เขาอ้อนวอนให้ประชาชนยอมรับ เขาประกาศว่า พระสุรเสียงของพระเจ้าที่ตรัสผ่านมาทางพระวจนะของพระองค์เท่านั้นที่เป็นสิทธิอำนาจอันแท้จริง แทนที่จะเป็นการพูดของคริสตจักรผ่านมาทางพระสันตะปาปา และเขาไม่เพียงสอนว่าพระคัมภีร์เป็นการเปิดเผยถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าที่สมบูรณ์ที่สุดเท่านั้น แต่ยังสอนว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นผู้ที่จะแปลความหมายได้แต่เพียงผู้เดียว และมนุษย์ทุกคนจะต้องเรียนรู้หน้าที่ของเขาเองโดยการศึกษาคำสอนในพระคัมภีร์ ด้วยวิธีนี้ เขาจึงหันเหความคิดของมนุษย์จากพระสันตะปาปาและคริสตจักรแห่งโรมไปยังพระวจนะของพระเจ้า {GC 93.2}GCth17 78.1
ไวคลิฟเป็นนักปฏิรูปศาสนาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ในเชิงความกว้างไกลของสติปัญญา ความชัดเจนในความคิด การยึดมั่นในความจริง และความห้าวหาญในการปกป้องความจริง มีเพียงไม่กี่คนที่มาในภายหลังสามารถเทียบเคียงกับเขาได้ ชีวิตที่บริสุทธิ์ ความหมั่นเพียรในการศึกษาและการทำงานอย่างไม่ย่อท้อ คุณธรรมที่ไม่เสื่อมถอย ความรักและความซื่อสัตย์ในการรับใช้ที่เหมือนพระคริสต์ เหล่านี้คืออุปนิสัยของนักปฏิรูปคนแรก ทั้ง ๆ ที่เขามีชีวิตอยู่ในยุคมืดมนทางปัญญาและความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม {GC 94.1}GCth17 78.2
บุคลิกของไวคลิฟเป็นพยานให้เห็นถึงฤทธานุภาพในการอบรมและเปลี่ยนแปลงของพระคัมภีร์อันบริสุทธิ์ พระคัมภีร์เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น ความพากเพียรที่จะไขว่คว้าความจริงอันยิ่งใหญ่ตามที่เปิดเผย นำความสดชื่นและกำลังวังชามาให้แก่ทุกส่วนของร่างกาย ทำให้สติปัญญาพัฒนาขึ้น ความนึกคิดเฉียบแหลมและตัดสินใจได้เหมาะสม การศึกษาพระคัมภีร์จะทำให้ความคิด ความรู้สึกและความตั้งใจสูงส่งขึ้นชนิดที่ไม่มีการศึกษาอื่นใดทำได้ ให้ความแน่วแน่แก่ความตั้งใจ ความอดทน ความกล้าหาญ และความแข็งแกร่ง ขัดเกลาอุปนิสัยให้งดงามขึ้นและชำระจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ การศึกษาพระคัมภีร์ด้วยความจริงใจและความยำเกรงจะนำความคิดของผู้นั้นเข้าไปสัมผัสกับพระปัญญาอันไร้ขอบเขตของพระเจ้า ส่งผลให้โลกมีคนที่มีปัญญาเข้มแข็งขึ้นและว่องไวขึ้น และเป็นคนที่มีหลักการแห่งคุณธรรมที่สูงส่งขึ้นกว่าการฝึกอบรมที่ดีที่สุดด้วยปรัชญาของมนุษย์ ผู้ประพันธ์สดุดีกล่าวว่า “การอธิบายพระวจนะของพระองค์ให้ความสว่าง ทั้งให้ความเข้าใจแก่คนรู้น้อย” สดุดี 119:130 {GC 94.2}GCth17 78.3
คำสอนที่ไวคลิฟสอนนั้นแพร่กระจายออกไปอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่ง ผู้ติดตามทั้งหลายของเขาซึ่งมักจะเรียกกันว่าพวกไวคลิฟไฟท์ [Wycliffites] และพวกโลลาร์ด [Lollards]ไม่เพียงแต่เดินทางไปทั่วประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังดินแดนอื่นๆ โดยนำความรู้แห่งพระกิตติคุณไปประกาศด้วย บัดนี้ ผู้นำของพวกเขาจากไปแล้ว นักเทศน์เหล่านี้จึงทำงานด้วยความกระตือรือร้นมากกว่าก่อน และฝูงชนก็แห่กันมาฟังคำสอนของพวกเขา คนที่กลับใจมีทั้งขุนนางชั้นสูง และแม้กระทั่งพระมเหสีของพระราชา ในบางแห่งจะเห็นการปฏิรูปเกิดขึ้นจากกิริยาท่าทางของประชาชน และมีการนำรูปเคารพที่เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิโรมันออกไปจากโบสถ์ต่างๆ ด้วย แต่ไม่นานต่อมา คลื่นการกดขี่อย่างไร้ปรานีกระหน่ำใส่ผู้ที่กล้ารับพระคัมภีร์เป็นผู้นำทางของเขา พระราชาแห่งประเทศอังกฤษผู้ร้อนรนที่จะเสริมกำลังของตนด้วยการสนับสนุนจากโรม ไม่รีรอที่จะกำจัดนักปฏิรูปศาสนาทั้งหลาย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษที่หลักประหารถูกตราในกฎหมายให้ใช้เป็นเครื่องสังเวยชีพของสาวกแห่งพระกิตติคุณ การพลีชีพเพื่อศาสนาคนแล้วคนเล่าก็เกิดขึ้น ผู้สนับสนุนความจริงถูกเนรเทศและทรมาน สิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้คือการโอดครวญไปสู่พระกรรณขององค์พระผู้เป็นเจ้าจอมโยธา แม้จะถูกตามล่าว่าเป็นศัตรูของคริสตจักรและถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทรยศต่อราชอาณาจักร พวกเขายืนหยัดเทศนาต่อไปในสถานที่ลี้ลับ แสวงหาที่หลบภัยที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในบ้านที่สมถะของคนยากจน และบ่อยครั้งต้องหลบซ่อนอยู่ในถ้ำและอุโมงค์ {GC 94.3}GCth17 79.1
ถึงแม้ว่า การกดขี่ข่มเหงจะดำเนินไปด้วยความรุนแรง คนเหล่านี้ก็ยังคงประท้วงความเลวร้ายทางความเชื่ออย่างต่อเนื่องอีกนานหลายศตวรรษด้วยความสงบ ศรัทธา จริงใจ และอดทน คริสเตียนในยุคแรกๆ นั้นรู้ความจริงแต่เพียงบางส่วน แต่พวกเขาเรียนรู้ที่จะรักและเชื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า และพวกเขายอมทนความทุกข์ยากเพื่อความเชื่อ ดั่งเช่นสาวกในสมัยของอัครทูตทั้งหลาย มีหลายคนสละทิ้งทรัพย์สินฝ่ายโลกเพื่อพระราชกิจของพระคริสต์ ผู้ที่ยังมีโอกาสอยู่ในบ้านของตนเองก็ยินดีให้ที่พักพิงแก่พี่น้องที่ถูกเนรเทศ และเมื่อพวกเขาถูกขับไล่ออกไปเช่นกัน พวกเขาก็ยอมรับชะตากรรมของการเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับ จริงอยู่ มีคนนับพันๆ คนที่หวาดกลัวต่อความรุนแรงของผู้กดขี่ เลือกซื้อเสรีภาพของตนด้วยการสละทิ้งความเชื่อและก้าวออกจากห้องขังโดยสวมใส่เสื้อคลุมแห่งการสำนึกผิดเพื่อเป็นการประกาศถอนความเชื่อของตน แต่มีคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีทั้งคนที่เกิดในตระกูลสูงศักดิ์ และคนที่ต่ำต้อยยากจนที่แบกรับคำพยานแห่งความจริงอย่างไม่เกรงกลัวในคุกมืด ในหอคอยโลลาร์ดและในการทรมานและเปลวเพลิง พวกเขาชื่นชมยินดีที่จะตีคุณค่าตนเองว่าเหมาะสมที่จะ “มีส่วนร่วมในความทุกข์ของพระองค์” ฟิลิปปี 3:10 {GC 95.1}GCth17 79.2
ในขณะที่ไวคลิฟยังมีชีวิตอยู่ บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีคว้าน้ำเหลวในการจัดการกับเขาดังที่ตั้งใจไว้ และตราบที่ร่างกายของเขานอนพักอย่างสงบสุขในหลุมฝังศพ พวกเขาไม่มีทางที่จะลดเลิกความแค้นที่มีต่อเขาได้ 40 ปีหลังจากไวคลิฟตาย มีพระราชกฤษฎีกาจากสภาแห่งคอนสแทนซ์ตราคำสั่งให้ขุดกระดูกของเขาขึ้นมาเผาต่อหน้าสาธารณชนและนำเถ้ากระดูกไปทิ้งในลำธารที่ไม่ไกลออกไป นักเขียนอาวุโสบันทึกไว้ว่า “เถ้ากระดูกของเขาลอยจากลำธารนี้ไปยังแม่น้ำเอวอน จากแม่น้ำเอวอนไปยังแม่น้ำเซอเวริน และจากแม่น้ำเซอเวรินไปยังทะเลน้อยแล้วต่อไปยังมหาสมุทร และคำสอนของไวคลิฟก็จะมีลักษณะที่เหมือนขี้เถ้าของเขา ซึ่งบัดนี้กระจายไปทั่วทั้งโลก” T. Fuller, Church History of Britain เล่มที่ 4 ตอนที่ 2 ย่อหน้าที่ 54 ศัตรูของเขาไม่รู้แม้แต่น้อยถึงความหมายอันสำคัญของการกระทำอันต่ำทรามนี้ {GC 95.2}GCth17 80.1
จากข้อเขียนของไวคลิฟนำพาให้ยอห์น ฮัสแห่งประเทศโบฮีเมียประณามความผิดพลาดมากมายของลัทธิโรมัน และเข้าร่วมในงานปฏิรูป แม้ว่าสองประเทศนี้จะอยู่ห่างไกลกันมาก แต่เมล็ดแห่งความจริงถูกหว่านออกไป งานการปฏิรูปนี้แผ่ขยายจากประเทศโบฮีเมียไปยังดินแดนอื่นๆ นำความคิดของมนุษย์ไปสู่พระวจนะของพระเจ้าที่ถูกละลืมไปยาวนาน พระหัตถ์ของพระเจ้ากำลังปูทางไว้สำหรับการปฏิรูปศาสนาครั้งยิ่งใหญ่ {GC 96.1}GCth17 80.2