บท 11 - การประท้วงของเจ้าครองแคว้นต่างๆ
สงครามครั้งยิ่งใหญ่
- Contents- อารัมภบท
- บทนำของคณะผู้จัดพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ
- คำนำของผู้ประพันธ์
- บท 1 - ความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม
- บท 2 - การกดขี่ข่มเหงในศตวรรษต้นๆ
- บท 3 - ยุคมืดทางจิตวิญญาณ
- บท 4 - ชาววอลเดนซิส
- บท 5 - ยอห์น ไวคลิฟ
- บท 6 - ฮัสและเจอโรมี
- บท 7 - ลูเธอร์ตีตัวออกห่างจากโรม
- บท 8 - ลูเธอร์รายงานตัวต่อสภา
- บท 9 - นักปฏิรูปศาสนาชาวสวิส
- บท 10 - ความก้าวหน้าของการปฏิรูปในประเทศเยอรมนี
- บท 11 - การประท้วงของเจ้าครองแคว้นต่างๆ
- บท 12 - การปฏิรูปศาสนาในประเทศฝรั่งเศส
- บท 13 - ประเทศเนเธอร์แลนด์และแถบสแกนดิเนเวีย
- บท 14 - นักปฏิรูปศาสนาชาวอังกฤษรุ่นหลัง
- บท 15 - พระคัมภีร์กับการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส
- บท 16 - บรรพบุรุษที่เป็นพิลกริม
- บท 17 - ผู้ประกาศข่าวของรุ่งอรุณ
- บท 18 -นักปฏิรูปชาวอเมริกันท่านหนึ่ง
- บท 19 - ความสว่างส่องเข้าไปในที่มืด
- บท 20 - การตื่นตัวครั้งยิ่งใหญ่ฝ่ายศาสนา
- บท 21 - คำเตือนที่ถูกปฏิเสธ
- บท 22 - เหตุการณ์เกิดขึ้นตามคำพยากรณ์
- บท 23 - สถานนมัสการคืออะไร
- บท 24 - อภิสุทธิสถาน
- บท 25 - พระบัญญัติของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้
- บท 26 - ภารกิจหนึ่งของการปฏิรูป
- บท 27 - การฟื้นฟูยุคใหม่
- บท 28 - เผชิญหน้ากับหนังสือบันทึกแห่งชีวิต
- บท 29 - จุดเริ่มต้นของความชั่ว
- บท 30 - มนุษย์และซาตานเป็นศัตรูกัน
- บท 31 - สื่อวิญญาณชั่ว
- บท 32 - กับดักของซาตาน
- บท 33 - การหลอกลวงยิ่งใหญ่ครั้งแรก
- บท 34 - คนตายติดต่อกับเราได้หรือ
- บท 35 - เสรีภาพของจิตสำนึกถูกคุกคาม
- บท 36 - การขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
- บท 37 - พระคัมภีร์เป็นโล่ป้องกัน
- บท 38 - คำเตือนสุดท้าย
- บท 39 - เวลาแห่งความทุกข์ยาก
- บท 40 - ประชากรของพระเจ้าได้รับการช่วยกู้
- บท 41 - โลกร้างอ้างว้าง
- บท 42 - ความขัดแย้งสิ้นสุดแล้ว
Search Results
- Results
- Related
- Featured
- Weighted Relevancy
- Content Sequence
- Relevancy
- Earliest First
- Latest First
- Exact Match First, Root Words Second
- Exact word match
- Root word match
- EGW Collections
- All collections
- Lifetime Works (1845-1917)
- Compilations (1918-present)
- Adventist Pioneer Library
- My Bible
- Dictionary
- Reference
- Short
- Long
- Paragraph
No results.
EGW Extras
Directory
บท 11 - การประท้วงของเจ้าครองแคว้นต่างๆ
คำพยานอันสง่างามสูงสุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยกล่าวมาซึ่งแสดงความเห็นชอบต่อการปฏิรูปศาสนาคือคำประท้วงของเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ที่เป็นคริสเตียนของประเทศเยอรมนีซึ่งเสนอในที่ประชุมรัฐสภาแห่งเมืองสปายส์ในปี ค.ศ. 1529 ความกล้าหาญ ความเชื่อและความแน่วแน่ของคนของพระเจ้านำอิสรภาพทางความคิดและจิตสำนึกมาให้กับคนในยุคต่อๆ มา คำประท้วงของพวกเขาทำให้คริสตจักรที่ปฏิรูปแล้วได้ชื่อว่าคริสตจักรโปรเตสแตนต์ หลักการของชื่อนี้คือ “สาระที่แท้จริงของผู้คัดค้าน” D’Aubigné เล่มที่ 13 บทที่ 6 {GC 197.1} [โปรเตส มาจากคำภาษาอังกฤษ protest แปลว่าคัดค้าน ประท้วง คำว่าโปรเตสแตนต์หมายถึงผู้คัดค้านหรือผู้ประท้วง]GCth17 162.1
วันมืดมนและมีภัยคุกคามคืบคลานมาถึงการปฏิรูปศาสนาแล้ว แม้ว่าคำสั่งจากเมืองวอร์มส์ที่ประกาศว่าลูเธอร์เป็นคนผิดกฎหมายและห้ามเขาสอนหรือให้ผู้ใดเชื่อคำสอนของเขา แต่จนถึงตอนนี้ การให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ยังมีอยู่ทั่วไปในอาณาจักร พระพรของพระเจ้ายังคงยับยั้งอำนาจของฝ่ายต่อต้านสัจธรรม จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 ทรงมุ่งมั่นที่จะบดขยี้การปฏิรูปศาสนาแต่บ่อยครั้งเมื่อพระองค์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นเพื่อฟาดฟัน จะต้องมีเหตุการณ์มาบังคับพระองค์ให้ทรงหันการโจมตีไปทางอื่น ครั้งแล้วครั้งเล่าดูเหมือนว่า ผู้ที่กล้าเอาตนเองไปคัดค้านโรมคงต้องพบจุดจบในทันทีอย่างหลีกหนีไม่พ้น แต่ในเสี้ยวนาทีวิกฤตเหล่านั้น กองทหารชาวเติร์กปรากฏตัวขึ้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออก หรือกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งองค์พระสันตะปาปาเองที่ทรงอิจฉาจักรพรรดิซึ่งได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้นก็เปิดศึกทำสงครามกับพระองค์ และด้วยเหตุการณ์เหล่านี้ท่ามกลางความขัดแย้งและความวุ่นวายของประเทศ การปฏิรูปศาสนาจึงถูกปล่อยให้แข็งแกร่งและขยายกว้างไกลยิ่งขึ้น {GC 197.2}GCth17 162.2
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดชนชั้นปกครองของระบอบเปปาซีได้ระงับความอาฆาตต่างๆ ของพวกเขา แล้วหาเหตุผลมาร่วมมือกันกำจัดพวกนักปฏิรูปศาสนา ที่ประชุมรัฐสภาแห่งเมืองสปายส์ในปี ค.ศ. 1526 อนุญาตให้แต่ละรัฐมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในเรื่องของศาสนาจนกว่าจะถึงการประชุมสามัญทั่วไปของสภา แต่ภัยอันตรายที่ได้รับการยกเว้นนี้ยังไม่ทันผ่านพ้นไป จักรพรรดิก็ทรงเรียกประชุมสภาเป็นครั้งที่สองที่เมืองสปายส์ในปี ค.ศ. 1529 โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อบดขยี้คนนอกรีต หากเป็นไปได้จะทำการหว่านล้อมเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ด้วยสันติวิธีให้มาอยู่ฝ่ายต่อต้านการปฏิรูปทางศาสนา แต่หากแผนเหล่านี้ล้มเหลว จักรพรรดิชาร์ลส์ทรงเตรียมพร้อมที่จะพึ่งดาบ {GC 197.3}GCth17 162.3
บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีต่างชื่นชมหรรษา พวกเขาจำนวนมากมายปรากฏตัวที่เมืองสปายส์และแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นศัตรูกับนักปฏิรูปศาสนาและทุกคนที่ฝักใฝ่พวกเขา เมลังค์ธอน กล่าวว่า “เราเป็นคนเลวทรามและเป็นขยะของโลกแต่พระคริสต์จะทอดพระเนตรลงมายังคนน่าสงสารเหล่านี้ของพระองค์และจะทรงเก็บรักษาพวกเขาไว้” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายที่เป็นอีแวนเจลิคัล [Evangelical กลุ่มคริสเตียนผู้ฝักใฝ่การประกาศข่าวประเสริฐ] ถูกสั่งห้ามเทศนาแม้กระทั่งในที่พักอาศัยของพวกเขา แต่ชาวเมืองสปายส์ต่างกระหายพระวจนะของพระเจ้า แม้จะมีคำสั่งห้าม คนจำนวนนับพันยังแห่กันเข้าไปประชุมที่โบสถ์ของอิเล็กเตอร์แห่งแซกโซนี {GC 198.1}GCth17 163.1
สภาพเช่นนี้เพียงแต่เร่งวิกฤตให้เกิดเร็วขึ้น ข่าวจากสำนักพระราชวังประกาศต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าเนื่องจากมติที่อนุมัติให้มีเสรีภาพทางความคิดทำให้เกิดความวุ่นวายยิ่งใหญ่ จักรพรรดิจึงทรงกำหนดให้ยกเลิกเสีย การตัดสินด้วยความอำเภอใจนี้ก่อให้เกิดความโกรธเคืองและความวิตกในหมู่คริสเตียนอีแวนเจลิคัล มีคนหนึ่งพูดว่า “พระคริสต์ทรงตกเข้าไปอยู่ในมือของคายาฟาสและปีลาตอีกแล้ว” เหล่าผู้นิยมลัทธิโรมันทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้นิยมระบอบเปปาซีผู้ดันทุรังคนหนึ่งประกาศว่า “ชาวเติรก์ก็ยังดีกว่าชาวลูเธอร์เรน [Lutheran สมาชิกของคริสเตียนโปรเตสแตนต์นิกายลูเธอร์เรน ซึ่งมีความเชื่อตามคำสอนของมาร์ติน ลูเธอร์] เพราะชาวเติรก์ยังถือศีลวันอดแต่ชาวลูเธอร์เรนล่วงละเมิดวันเหล่านั้น หากเราจะต้องเลือกระหว่างพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและความผิดเก่าๆ ของคริสตจักร เราจะปฏิเสธเรื่องแรก” เมลังค์ธอนพูดว่า “ทุกๆ วันในที่ประชุมรวม เฟเบอร์จะขว้างก้อนหินใหม่ๆ ใส่พวกเราผู้เชื่อพระกิตติคุณ” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 {GC 198.2}GCth17 163.2
การยอมผ่อนปรนในเรื่องของศาสนาก่อตั้งขึ้นมาก่อนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและรัฐที่เป็นอีแวนเจลิคัลต่างลงความเห็นว่าต้องต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิ์นี้ของพวกเขาให้ถึงที่สุด ลูเธอร์ยังคงตกอยู่ภายใต้คำสั่งห้ามของเมืองวอร์มส์ ไม่ได้รับอนุญาตให้มาปรากฏตัวที่เมืองสปายส์ แต่ผู้ร่วมอุดมการณ์คนหนึ่งของเขาซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นที่พระเจ้าทรงเรียกให้ขึ้นมาปกป้องอุดมการณ์ของพระองค์ในยามฉุกเฉินครั้งนี้ได้ก้าวเข้ามาแทนที่ของเขา อิเล็กเตอร์เฟรเดอริคแห่งแคว้นแซกโซนีซึ่งเป็นขุนนางชั้นสูงที่เคยปกป้องลูเธอร์ในอดีตเสียชีวิตไปแล้ว แต่ดยุคยอห์น พระอนุชาที่สืบทอดราชสมบัติต้อนรับการปฏิรูปศาสนาด้วยความชื่นชมปรีดาและถึงแม้จะเป็นผู้รักสันติ แต่พระองค์ก็ทรงแสดงพลังและความกล้าหาญอย่างใหญ่หลวงในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของความเชื่อนี้ {GC 198.3}GCth17 163.3
บรรดาบาทหลวงเรียกร้องรัฐทั้งหลายที่ปฏิรูปศาสนาแล้วให้ยอมอยู่ภายใต้อำนาจศาลของโรมโดยปริยาย ในทางกลับกันนักปฏิรูปศาสนาต่างอ้างถึงเสรีภาพที่ได้รับอนุญาตมาก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่อาจเห็นพ้องกับโรมที่ต้องการควบคุมรัฐเหล่านั้นซึ่งได้รับพระวจนะของพระเจ้าด้วยความยินดีเป็นอันมาก {GC 199.1}GCth17 164.1
เพื่อเป็นการประนีประนอม ในที่สุดมีการเสนอแนะว่าที่ใดที่การปฏิรูปศาสนายังไม่ได้ก่อตั้งขึ้น จะต้องกวดขันบังคับให้ใช้กฤษฎีกาแห่งเมืองวอร์มส์ และสำหรับ “ในที่ซึ่งประชาชนหันออกจากความเชื่อและในที่ซึ่งประชาชนไม่ยอมคล้อยตามโดยปราศจากภัยอันตรายของการจลาจลนั้น อย่างน้อยที่สุดห้ามพวกเขาก่อให้เกิดการปฏิรูปใหม่ขึ้นมา ห้ามพวกเขากล่าวพาดพิงถึงเรื่องที่อาจเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ห้ามพวกเขาต่อต้านพิธีมิสซา ห้ามพวกเขาหว่านล้อมให้ชาวโรมันคาทอลิกรับนิกายลูเธอร์เรน [Lutheranism คริสต์ศาสนานิกายหนึ่งที่มีความเชื่อตามคำสอนของมาร์ติน ลูเธอร์]” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 ระเบียบนี้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา เป็นที่ชื่นชอบอย่างยิ่งต่อบาทหลวงและพระราชาคณะทั้งหลายของระบบสันตะปาปา {GC 199.2}GCth17 164.2
หากมีการเอาพระราชกฤษฎีกานี้มาบังคับใช้แล้ว “การปฏิรูปศาสนาจะแผ่ขยายต่อไปอีกไม่ได้.....ในที่ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักหรือฝังรากลึกอย่างมั่งคง......ในที่ซึ่งก่อร่างแล้ว” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 เสรีภาพในการพูดจะถูกห้าม จะไม่อนุญาตให้มีการกลับใจ และผู้สนับสนุนทั้งหลายของการปฏิรูปศาสนาต้องยอมอยู่ใต้กฎข้อบังคับและข้อห้ามเหล่านี้ทันที ดูประหนึ่งว่าความหวังของโลกกำลังจะดับไป “อำนาจของโรมที่กำลังจะกลับมาก่อตั้งขึ้นใหม่นี้.....จะนำการทารุณกรรมของสมัยอดีตกลับมาอย่างแน่นอน” และจะเปิดโอกาสให้พวกคลั่งศาสนาและความไม่ลงรอยกัน “บรรลุความสำเร็จในการทำลายงานนี้ที่ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงแล้ว” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 {GC 199.3}GCth17 164.3
ในขณะที่ฝ่ายอีแวนเจลิคัลประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือนั้น พวกเขาต่างมองหน้ากันด้วยความตกใจที่หาทางออกให้กับปัญหานี้ไม่ได้ ต่างถามซึ่งกันและกันว่า “จะต้องทำประการใดต่อไป” ประเด็นสำคัญยิ่งสำหรับโลกกำลังตกเป็นเดิมพัน “หัวหน้าการปฏิรูปศาสนาจะต้องยอมมอบตัวและทำตามคำสั่งไหม เป็นการง่ายเพียงไรซึ่งในยามวิกฤตรุนแรงเช่นนี้ที่นักปฏิรูปศาสนาจะถกเถียงจนเข้าไปอยู่ฝ่ายผิด มีข้ออ้างที่พอฟังได้สักกี่ข้อและเหตุผลอย่างดีสักกี่ประการที่จะหามาอ้างเพื่อยอมจำนน เจ้าผู้ครองแคว้นที่ฝักใฝ่ลูเธอร์ได้รับการค้ำประกันให้ถือศาสนาของตนได้อย่างเสรี ประโยชน์เดียวกันนี้ก็ยื่นให้กับผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของเขาที่รับแนวคิดการปฏิรูปไว้แล้วก่อนหน้าที่กฤษฎีกานี้ประกาศบังคับใช้ สิ่งเหล่านี้ควรทำให้พวกเขาพอใจแล้วมิใช่หรือ หากยอมจำนนแล้วจะหลีกเลี่ยงภัยอันตรายได้มากเพียงไร มีภัยอันตรายและข้ออ้างแปลกใหม่อะไรบ้างที่พวกต่อต้านจะนำมารุกต้อนพวกเขาอีก มีใครรู้ไหมว่าอนาคตนั้นจะนำโอกาสอะไรมาให้ ให้เรายึดสันติภาพไว้ ให้เราคว้ากิ่งมะกอกเทศที่โรมยื่นมาให้และปิดแผลของประเทศเยอรมนี ด้วยคำโต้แย้งทั้งหลายเช่นนี้ ด้วยเหตุผลลักษณะเหล่านี้ นักปฏิรูปศาสนาอาจนำมาอ้างความชอบธรรมในการรับแนวทางนี้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า แนวทางนี้จะต้องนำการล่มสลายมาสู่อุดมการณ์ของพวกเขาในไม่ช้า {GC 199.4}GCth17 164.4
“ด้วยความชื่นชมยินดีพวกเขาศึกษาหลักการที่ใช้เพื่อวางแผนในเรื่องนี้และดำเนินต่อไปด้วยความเชื่อ หลักการนี้คืออะไร มันคือสิทธิของโรมที่จะบังคับควบคุมจิตสำนึกและห้ามการไต่ถามอย่างเสรี แต่พวกเขาเองและผู้ที่ฝักใฝ่โปรเตสแตนต์มีเสรีภาพทางศาสนาด้วยไม่ใช่หรือ ใช่แล้ว ที่ระบุเป็นพิเศษในข้อเสนอนี้เป็นความกรุณาแต่ไม่ได้เป็นเรื่องของสิทธิ สำหรับคนทั้งหมดที่อยู่นอกเหนือที่ระบุไว้ จะต้องปกครองด้วยหลักการยิ่งใหญ่ของอำนาจ จิตสำนึกนั้นอยู่นอกห้องว่าความ โรมเป็นผู้พิพากษาที่ไม่รู้พลั้งและจะต้องเชื่อฟังเธอ การยอมรับข้อเสนอนี้จะเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าเสรีภาพทางศาสนาจะจำกัดอยู่กับชาวแซกโซนที่ปฏิรูปแล้ว แต่สำหรับโลกคริสเตียนที่เหลือ การไต่ถามอย่างเสรีและมีความเชื่อที่ปฏิรูปแล้วถือเป็นอาชญากรรมและจะต้องนำไปเข้าคุกมืดและตะแลงแกงเผาทั้งเป็น พวกเขาจะยอมต่อเสรีภาพทางศาสนาเฉพาะที่หรือ ยอมที่จะประกาศว่าการปฏิรูปศาสนาได้คนกลับใจคนสุดท้ายแล้วหรือ ได้ปราบปรามที่ดินตารางสุดท้ายแล้วหรือ และสถานที่ใดที่โรมเข้าครองอำนาจในเวลานี้ที่นั่นเธอจะครองความเป็นใหญ่ตลอดไปเชียวหรือ นักปฏิรูปศาสนาจะยืนกรานแก้ต่างว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเลือดของคนนับร้อยนับพันซึ่งต้องพลีชีพของตนในดินแดนของระบบสันตะปาปาอันเป็นผลจากการดำเนินตามข้อเสนอนี้ได้ไหม เรื่องนี้จะเป็นการทรยศอุดมการณ์ของข่าวประเสริฐและเสรีภาพของโลกคริสเตียนในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งนี้” Wylie เล่มที่ 9 บทที่ 15 แต่พวกเขาต้องการที่จะ “สละทิ้งทุกสิ่งแม้บ้านเมืองของเขา มงกุฎของพวกเขาและชีวิตของพวกเขาด้วย” มากกว่า D’Aubigné เล่มที่ 13 บทที่ 5 {GC 200.1}GCth17 165.1
เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายพูดกันว่า “ให้เราปฏิเสธพระราชกฤษฎีกานี้ เพราะในเรื่องของจิตสำนึกแล้ว เสียงข้างมากไม่มีอำนาจ” ผู้ช่วยทั้งหลายประกาศว่า “เราเป็นหนี้บุญคุณพระราชกฤษฎีกาของปี ค.ศ. 1526 สำหรับสันติสุขที่อาณาจักรของเราอยู่กันอย่างมีความสุข หากลบล้างไปจะทำให้ประเทศเยอรมนีเต็มไปด้วยความทุกข์และการแตกแยก ที่ประชุมรัฐสภาขาดความสามารถที่จะทำได้มากไปกว่าการรักษาเสรีภาพทางศาสนาจนกว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะปกป้องเสรีภาพของจิตสำนึกและนี่เป็นขอบเขตอำนาจของรัฐในเรื่องศาสนา ทุกรัฐบาลทางโลกที่พยายามใช้สิทธิอำนาจของพลเรือนมาควบคุมและบังคับการถือปฏิบัติศาสนากำลังสังเวยหลักการพื้นฐานที่แท้จริงซึ่งคริสเตียนอีแวนเจลิคัลได้ดิ้นรนต่อสู้มาอย่างสง่าผ่าเผย {GC 201.1}GCth17 165.2
บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซียึดมั่นที่จะล้มล้างสิ่งที่พวกเขาเรียกกันว่า “ความดื้อรั้นที่กล้าหาญ” พวกเขาเริ่มด้วยการลงแรงทำให้เกิดการแตกแยกในหมู่คนที่สนับสนุนงานปฏิรูปศาสนาและขู่ทุกคนที่ไม่ประกาศอย่างเปิดเผยว่าอยู่ฝ่ายตน ในที่สุดมีคำสั่งเรียกผู้แทนของเมืองที่เสรีให้มารายงานตัวต่อที่ประชุมรัฐสภาและกำหนดให้ประกาศว่าจะยอมตามข้อเสนอหรือไม่ พวกเขาอ้อนวอนขอยืดเวลาออกไปแต่ไม่ได้ผล เมื่อถูกนำมายังที่ทดสอบ มีคนจำนวนเกือบครึ่งเข้าข้างนักปฏิรูปศาสนา ผู้ที่ปฏิเสธที่จะสละทิ้งเสรีภาพของจิตสำนึกและสิทธิของการตัดสินใจส่วนบุคคลทราบดีว่าจุดยืนของเขาทำให้อนาคตของพวกเขาจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประณามและกดขี่ข่มเหง มีผู้แทนคนหนึ่งพูดว่า “เราจะปฏิเสธพระวจนะของพระเจ้าหรือถูกเผาทั้งเป็น” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 {GC 201.2}GCth17 165.3
กษัตริย์เฟอร์ดินันด์ [King Ferdinand] ผู้แทนของจักรพรรดิในที่ประชุมรัฐสภาทรงเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาเช่นนี้จะก่อให้เกิดความแตกแยกขั้นรุนแรงนอกเสียจากว่าจะต้องโน้มน้าวเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายให้ยอมรับและสนับสนุน ดังนั้นพระองค์จึงพยายามใช้ศิลปะในการชักจูง โดยทราบดีว่าการใช้กำลังกับบุคคลเหล่านี้มีแต่จะทำให้พวกเขาตั้งใจแน่วแน่ยิ่งขึ้น พระองค์ทรง “ขอร้องให้เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายยอมรับพระราชกฤษฎีกาโดยให้ความมั่นใจแก่พวกเขาว่าจักรพรรดิจะทรงยินดีปรีดากับพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง” แต่บุคคลเหล่านี้ยอมรับเพียงอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจปกครองใดๆ ของโลกและตอบด้วยความสงบว่า “เราจะเชื่อปฏิบัติตามจักรพรรดิในทุกสิ่งที่จะสนับสนุนให้รักษาความสงบสุขและถวายเกียรติแด่พระเจ้า” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 {GC 201.3}GCth17 165.4
ในที่สุด กษัตริย์ทรงประกาศต่อหน้าที่ประชุมรัฐสภาให้อิเล็กเตอร์และสหายทั้งหลายทราบว่าพระราชกฤษฎีกานี้ “จะตราขึ้นในรูปแบบของพระบรมราชโองการ” และ “ทางออกที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวคือการยอมจำนนต่อเสียงข้างมาก” เมื่อตรัสเสร็จสิ้น พระองค์ก็เสด็จออกจากที่ประชุม ไม่เปิดโอกาสให้นักปฏิรูปศาสนาปรึกษาหารือหรือโต้ตอบ “พวกเขาส่งคณะผู้แทนไปทูลวิงวอนกษัตริย์ให้เสด็จกลับมาแต่ไม่เกิดผล” พระองค์ทรงตอบคำทัดทานว่า “เรื่องนี้ตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือการยอมจำนนเท่านั้น” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 5 {GC 202.1}GCth17 166.1
คณะราชสำนักเชื่อมั่นว่าเจ้าผู้ครองแคว้นคริสเตียนทั้งหลายจะยึดพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ไว้เหนือกว่าหลักคำสอนและข้อกำหนดของมนุษย์และพวกเขารู้ดีว่าที่ใดที่มีการยอมรับหลักการนี้ผลสุดท้ายจะล้มล้างระบอบเปปาซีลงได้ แต่ดั่งเช่นคนนับพันตั้งแต่สมัยของพวกเขาที่มองหาแต่ “สิ่งที่ตามองเห็นได้” เท่านั้น พวกเขายกยอปลอบใจตนเองว่าอุดมการณ์ของจักรพรรดิและของพระสันตะปาปานั้นแข็งแกร่งและของพวกนักปฏิรูปศาสนานั้นอ่อนแรง หากนักปฏิรูปพึ่งความช่วยเหลือของมนุษย์แต่ลำพังแล้ว พวกเขาก็คงจะไร้พลังจริงตามที่เหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีคาดคะเนไว้ แต่แม้พวกเขาจะด้อยกว่าในเรื่องของจำนวนและในความไม่ลงรอยกับโรมนั้น พวกเขาก็มีพละกำลังของตนเอง พวกเขาได้ร้องขอ “จากรายงานของที่ประชุมรัฐสภาไปจนถึงพระวจนะของพระเจ้าและจากจักรพรรดิชาร์ลส์ไปจนถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นจอมราชันและจอมเจ้านาย” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 6 {GC 202.2}GCth17 166.2
เมื่อจักรพรรดิเฟอร์ดินันด์ปฏิเสธที่จะเคารพความเชื่อมั่นจากจิตสำนึกของพวกเขา เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายตกลงร่วมกันที่จะไม่สนใจกับการที่พระองค์ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่จะนำคำประท้วงเสนอต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติโดยไม่รอช้า ดังนั้นจึงมีการร่างคำประกาศอันน่าเคร่งขรึมขึ้นและนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา {GC 202.3}GCth17 166.3
“พวกเราที่อยู่กัน ณ ที่นี้ขอประท้วงต่อหน้าพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระผู้ทรงสร้าง พระผู้ทรงถนอมรักษา พระผู้ทรงไถ่และพระผู้ช่วยพระองค์เดียวของเราและในวันหนึ่งข้างหน้าพระองค์จะทรงเป็นพระผู้พิพากษาของเรา และต่อหน้าคนทั้งปวงและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายว่า พวกเรา เพื่อนของพวกเรา ประชาชนของเรา ไม่ยินยอมและไม่ยึดถือในลักษณะใดๆ ที่เกี่ยวกับข้อเสนอของพระราชกฤษฎีกานี้ซึ่งตรงกันข้ามกับพระเจ้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระวจนะของพระองค์ กับจิตสำนึกที่ถูกต้องของเราและกับความรอดของจิตวิญญาณ” {GC 202.4}GCth17 166.4
“อะไรกันน่ะ จะให้พวกเรารับรองพระบรมราชโองการนี้เชียวหรือ พวกเราขอยืนยันว่า เมื่อพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทรงเรียกคนหนึ่งให้มามีความรอบรู้ในเรื่องของพระเจ้า แต่กระนั้นคนนี้รับความรู้เรื่องของพระเจ้าไม่ได้” “ไม่มีหลักคำสอนใดที่แน่นอนนอกไปเสียจากที่สอดคล้องกับพระวจนะของพระเจ้า......พระเจ้าไม่อนุญาตให้มีหลักคำสอนอื่นใด.......เราต้องอธิบายพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยข้อพระคัมภีร์ข้ออื่นๆ ที่ชัดเจนกว่า.....ในบรรดาสิ่งจำเป็นทั้งหมดสำหรับคริสเตียน หนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ง่ายต่อความเข้าใจและถูกกำหนดไว้ให้ขับไล่ความมืด พวกเราตกลงใจกันแล้วด้วยพระคุณของพระเจ้าที่จะถนอมรักษาการเทศนาให้คงความบริสุทธิ์และเน้นเทศนาเฉพาะแต่พระวจนะของพระองค์เท่านั้น ตามที่บันทึกไว้ในพระธรรมของพระคัมภีร์ทั้งภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่ โดยไม่เพิ่มเติมสิ่งใดที่จะขัดแย้งเข้าไปเลย พระวจนะนี้เป็นสัจธรรมเดียวเท่านั้น เป็นกฎเที่ยงแท้ของหลักคำสอนทั้งปวงและของชีวิตทั้งมวลและจะไม่ทรยศหรือหลอกลวงเรา ผู้ใดที่สร้างขึ้นบนรากฐานนี้จะยืนหยัดอดทนต่อต้านอำนาจทั้งปวงของขุมนรก ในขณะที่ความไร้สาระของมนุษย์ที่ปักหลักต่อต้านเรื่องนี้จะล้มลงต่อเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้า” {GC 203.1}GCth17 167.1
“ด้วยเหตุนี้พวกเราปฏิเสธแอกที่บังคับให้พวกเราแบกรับ” “ในเวลาเดียวกัน พวกเราคาดหวังว่าพระราชาผู้ทรงอำนาจสูงสุดจะทรงปฏิบัติต่อเราทั้งหลายดั่งเจ้าชายคริสเตียนคนหนึ่งที่รักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใดและพวกเราเองประกาศว่าเราพร้อมที่จะถวายทั้งความรักและการเชื่อฟังซึ่งเป็นหน้าที่โดยชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมายของเราแด่พระองค์ รวมทั้งตัวท่านด้วยเจ้านายอันสง่างามของเรา” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 6 {GC 203.2}GCth17 167.2
เป็นเรื่องที่สร้างความประทับใจอย่างสุดซึ้งให้กับที่ประชุมรัฐสภา คนส่วนใหญ่ประหลาดใจและตื่นตระหนกกับความกล้าของผู้คัดค้าน สำหรับพวกเขาแล้ว อนาคตมีแต่ความปั่นป่วนและความไม่แน่นอน ความไม่พอใจ การต่อสู้ และการนองเลือดเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่นักปฏิรูปศาสนาทั้งหลายกลับมั่นใจในความยุติธรรมของอุดมการณ์ของพวกเขา พวกเขาพึ่งพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้ทรงสัพพัญญู จนเปี่ยมล้นด้วยความกล้าหาญและความแน่วแน่ {GC 203.3}GCth17 167.3
“หลักการต่างๆ ที่ระบุในคำประท้วงอันน่ายกย่องนี้......เป็นแก่นแท้ของคำสอนของนิกายโปรเตสแตนต์ บัดนี้การคัดค้านนี้ต่อต้านการข่มเหงมนุษย์ในเรื่องของความเชื่อสองประการ ประการแรกคือการแทรกแซงขององค์กรฝ่ายปกครองพลเรือนและประการที่สองคืออำนาจเผด็จการของคริสตจักร แทนการข่มเหงเหล่านี้ นิกายโปรเตสแตนต์กำหนดให้อำนาจของจิตสำนึกอยู่เหนือองค์กรฝ่ายพลเรือนและให้สิทฺธิอำนาจแห่งพระวจนะของพระเจ้าอยู่เหนือคริสตจักรที่มีตัวตน แรกสุด นิกายนี้ปฏิเสธอำนาจฝ่ายพลเรือนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าและพูดในลักษณะเดียวกันกับผู้เผยพระวจนะและอัครทูตว่า ‘เราจำเป็นต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังมนุษย์’ นิกายนี้เทิดทูนมงกุฎของพระเยซูคริสต์ในขณะอยู่เบื้องหน้ามงกุฏของจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แต่ที่ก้าวไปไกลกว่านั้นคือนิกายนี้ได้วางหลักการที่ว่า คำสอนทั้งหมดของมนุษย์ควรต้องอยู่ภายใต้พระดำรัสของพระเจ้า” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 6 นอกเหนือจากนี้ ผู้คัดค้านยังยืนยันสิทธิของตนที่จะพูดอย่างเสรีในเรื่องสัจธรรมที่ตนเชื่อ พวกเขาจะไม่เพียงเชื่อและปฏิบัติตามเท่านั้นแต่จะสอนสิ่งที่พระวจนะของพระเจ้าได้นำเสนอ และพวกเขาปฏิเสธสิทธิของบาทหลวงและองค์กรฝ่ายพลเรือนในการเข้ามาแทรกแซง การประท้วงที่เมืองสปายส์เป็นพยานอันน่าเคร่งขรึมที่คัดค้านการไม่ให้เสรีภาพทางศาสนาและยืนยันถึงสิทธิอันชอบของคนทั้งปวงที่จะนมัสการพระเจ้าตามที่จิตสำนึกของตนกำหนด {GC 203.4}GCth17 167.4
ถ้อยแถลงนี้ทำขึ้นมาแล้ว เขียนไว้ในความทรงจำของคนนับพันนับหมื่นและจดบันทึกไว้ในสมุดของสวรรค์ ที่ซึ่งความพยายามใดๆ ของมนุษย์ไม่อาจลบทิ้งได้ อีแวนเจลิคัลชาวเยอรมันต่างยอมรับคำประท้วงนี้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อ ทุกหนทุกแห่ง ผู้คนทั้งหลายยึดถือคำประกาศนี้เป็นสัญญาของยุคใหม่และยุคที่ดีกว่า เจ้าผู้ครองแคว้นพระองค์หนึ่งตรัสกับชาวโปรเตสแตนต์ที่เมืองสปายส์ว่า “ขอพระเจ้ายิ่งใหญ่ผู้ประทานพระคุณแก่ท่านทั้งหลายให้ท่านประกาศอย่างมีพลัง อย่างเสรีและอย่างปราศจากความกลัว ทรงปกป้องท่านให้อยู่ในความมั่นคงของคริสเตียนจนถึงชั่วนิรันดร” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 6 {GC 204.1}GCth17 168.1
หากหลังจากที่ขบวนการปฏิรูปศาสนาทำงานสำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว พวกเขาตกลงใจที่จะชะลอชั่วคราวเพื่อรับความชื่นชมของชาวโลก พวกเขาก็จะทำตัวเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและต่อตัวพวกเขาเองและจะเป็นการนำความพินาศมาสู่ตนเองอย่างแน่นอน ประสบการณ์ของนักปฏิรูปที่สง่างามเหล่านี้เป็นบทเรียนสำหรับคนทั้งหลายในยุคต่อๆ มา เล่ห์เหลี่ยมของซาตานที่ใช้ในการต่อต้านพระเจ้าและพระวจนะของพระองคฺ์นั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง มันยังคงต่อต้านการใช้พระคัมภีร์เป็นหนังสือนำทางชีวิตเหมือนเช่นที่มันเคยต่อต้านในศตวรรษที่สิบหก ในสมัยนี้ของเรา มีการเดินห่างออกไปจากหลักคำสอนและข้อเชื่ออย่างมาก และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกลับไปยังหลักการยิ่งใหญ่ของขบวนการคัดค้าน-- นั่นคือพระคัมภีร์และพระคัมภีร์เท่านั้นเป็นหลักเกณฑ์แห่งความเชื่อและหน้าที่ ซาตานยังคงทำงานผ่านทุกวิถีทางที่มันควบคุมได้เพื่อทำลายเสรีภาพทางศาสนา อำนาจที่ต่อต้านคริสเตียนซึ่งผู้คัดค้านในเมืองสปายส์ปฏิเสธนั้น ปัจจุบันนี้หลังจากได้เสริมพลังขึ้นใหม่ มันกำลังทวงหาอำนาจที่สูญเสียไปกลับคืนมา การยึดมั่นในพระวจนะของพระเจ้าอย่างไม่หวั่นไหวเช่นเดียวกับที่แสดงออกในวิกฤตการณ์ของการปฏิรูปศาสนาครั้งนั้นเป็นความหวังเดียวของการปฏิรูปในวันนี้ {GC 204.2}GCth17 168.2
มีสัญญาณบอกเหตุปรากฏออกมาให้เห็นถึงอันตรายที่มีต่อชาวโปรเตสแตนต์ แต่มีสัญญาณบอกเหตุเช่นกันว่าพระหัตถ์ของพระเจ้าทรงยื่นออกมาปกป้องผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ช่วงเวลานั้นเองที่ “เมลังค์ธอนนำทางพาซีโมน ไกรเนอูส สหายของเขาให้รีบเร่งเดินผ่านถนนของเมืองสปายส์อย่างรวดเร็วมุ่งหน้าไปยังแม่น้ำไรน์ เร่งเร้าให้เขาข้ามแม่น้ำไปให้ได้ ซีโมนแปลกใจกับการผลักดันอย่างเร่งรีบเช่นนี้ เมลังค์ธอนเล่าให้ฟังในภายหลังว่า ‘มีชายชราคนหนึ่งท่าทางเคร่งขรึมจริงจังและเป็นคนที่ข้าพเจ้าไม่รู้จักมาปรากฏต่อหน้าข้าพเจ้าและพูดว่า ในอีกหนึ่งนาทีกษัตริย์เฟอร์ดินันด์จะส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการมาจับตัวไกรเนอูส’” {GC 205.1}GCth17 169.1
ในช่วงเวลากลางวันนั้น เฟเบอร์ ดุษฎีบัณฑิตท่านหนึ่งของพระสันตะปาปาได้เทศนากล่าวเรื่องน่าอับอายอื้อฉาวใส่ไกรเนอูสและปิดท้ายด้วยการโต้เถียงกันถึงเรื่องที่เขาปกป้อง “ความผิดบางอย่างที่น่ารังเกียจ” “เฟเบอร์ปิดบังความโกรธของตนไว้ แต่ได้เข้าเฝ้าพระราชาและทันทีหลังจากนั้นได้รับคำสั่งให้นำตัวศาสตราจารย์ผู้โผงผางแห่งเมืองไฮเดลสเบิร์กมา เมลังค์ธอนไม่สงสัยเลยว่าพระเจ้าทรงช่วยมิตรคนนี้ของเขาด้วยการทรงบัญชาให้ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาเตือนเขาล่วงหน้าในเรื่องนี้ {GC 205.2}GCth17 169.2
“เขายืนอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำไรน์อย่างแน่นิ่ง คอยจนกระทั่งกระแสน้ำของแม่น้ำได้ช่วยไกรเนอูสให้พ้นจากผู้ที่ข่มเหงเขา เมลังค์ธอนร้องขึ้นขณะที่มองเห็นเพื่อนอยู่บนฝั่งตรงข้ามว่า ‘ในที่สุดเขาก็หลุดพ้นจากเขี้ยวเล็บของผู้กระหายเลือดของคนบริสุทธิ์’ เมื่อเขาเดินทางกลับถึงบ้าน เมลังค์ธอนได้รับข่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้มาตามหาไกรเนอูสและบุกค้นหาเขาทั่วบ้าน” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 6 {GC 205.3}GCth17 169.3
การปฏิรูปศาสนาจะต้องถูกยกชูขึ้นให้โดดเด่นยิ่งกว่าคนยิ่งใหญ่เด่นดังทั้งหลายของโลก เจ้าผู้ครองแคว้นอีแวนเจลิคัลถูกปฏิเสธการรับฟังจากกษัตริย์เฟอร์ดินันด์ แต่พวกเขากลับได้รับโอกาสให้เสนออุดมการณ์ต่อหน้าจักรพรรดิและองค์ประชุมของเจ้าหน้าที่ชั้นสูงทั้งหลายของคริสตจักรและของรัฐ เพื่อเป็นการสงบความขัดแย้งที่รบกวนอาณาจักร จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 จึงทรงบัญชาให้เปิดประชุมรัฐสภาขึ้นที่เมืองออกซ์บูร์กในปีถัดจากการประท้วงที่เมืองสปายส์ จักรพรรดิทรงประกาศว่าจะทำหน้าที่เป็นองค์ประธานเอง จึงส่งหมายเรียกผู้นำโปรเตสแตนต์ทั้งหลายให้มายังสถานที่แห่งนี้ {GC 205.4}GCth17 169.4
ภัยอันตรายใหญ่หลวงคุกคามงานการปฏิรูปศาสนาอยู่ แต่ผู้สนับสนุนยังคงมอบความวางใจของอุดมการณ์ของตนไว้กับพระเจ้าและปฏิญาณตนที่จะยึดมั่นอยู่ในพระกิตติคุณ ที่ปรึกษาของอิเล็กเตอร์แห่งแคว้นแซกโซนีขอร้องไม่ให้พระองค์ไปปรากฏตัวที่ประชุมรัฐสภา พวกเขาบอกว่าจักรพรรดิต้องการให้เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายมาชุมนุมกันเพื่อล่อพวกเขามาติดกับดัก “การเดินทางไปที่นั่นและปิดตัวเองอยู่ภายในกำแพงเมืองพร้อมกับศัตรูที่มีขุมกำลังมากมายไม่เป็นการเสี่ยงไปหน่อยหรือ” แต่คนอื่นๆ ประกาศอย่างสง่าผ่าเผยว่า “ขอให้เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายวางตัวอย่างกล้าหาญและงานของพระเจ้าจะรอด” ลูเธอร์กล่าวว่า “พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งพวกเรา” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 2 อิเล็กเตอร์เสด็จพร้อมด้วยผู้ติดตามมุ่งหน้าไปยังเมืองออกซ์บูร์ก ทุกคนคุ้นเคยกับภัยอันตรายที่กำลังคุกคามพระองค์และหลายคนเดินมุ่งหน้าไปด้วยสีหน้าที่ขุ่นมัวและหัวใจที่เป็นทุกข์ แต่ลูเธอร์เดินทางพร้อมกับพวกเขาจนถึงเมืองโคบูร์ก และได้หนุนความเชื่อที่ตกต่ำของพวกเขาด้วยการร้องเพลงสรรเสริญที่แต่งขึ้นมาในขณะที่เดินทาง “พระเจ้าทรงเป็นป้อมปราการที่แข็งแรง” เสียงเพลงหนุนใจขจัดทิ้งความกังวลใจ ผ่อนคลายความทุกข์แก่หัวใจหลายดวง {GC 206.1}GCth17 170.1
เจ้าผู้ครองแคว้นที่ปฏิรูปแล้วทั้งหลายตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะจัดทำถ้อยแถลงทางทัศนคติออกมาอย่างเป็นระบบ พร้อมหลักฐานจากพระคัมภีร์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา และมอบภาระการเตรียมงานให้กับลูเธอร์ เมลังค์ธอนและเพื่อนๆ ถ้อยแถลงฉบับนี้เป็นที่ยอมรับร่วมกันของชาวโปรเตสแตนต์ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของพวกเขา และได้รวมตัวกันเพื่อลงชื่อในเอกสารสำคัญนี้ มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและทดสอบความเชื่อของพวกเขา นักปฏิรูปศาสนาร้อนใจไม่ต้องการให้อุดมการณ์ของพวกเขาไปพัวพันกับปัญหาทางการเมือง พวกเขารู้สึกว่าการปฏิรูปศาสนาไม่ควรใช้อิทธิพลใดนอกจากที่ออกมาจากพระวจนะของพระเจ้า ในขณะที่เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆที่เป็นคริสเตียนกำลังเดินหน้าเข้าลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้อยู่นั้น เมลังค์ธอนร้องขัดขึ้นมาว่า “นี่เป็นเรื่องของนักศาสนศาสตร์และของอาจารย์ที่จะนำเสนอเรื่องเหล่านี้ ให้เราสงวนผู้มีอำนาจปกครองทั้งหลายของบ้านเมืองเพื่องานอื่นดีกว่า” ดยุคยอห์นแห่งแคว้นแซกโซนีตรัสตอบว่า “ขอให้พระเจ้าทรงห้ามท่านเถิด ที่ท่านจะมาขวางเราไม่ให้มีส่วนร่วม เราตัดสินใจแล้วที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ห่วงตัวเราเองในเรื่องของมงกุฎ เรามีความปรารถนาที่จะยอมรับพระเจ้า สำหรับเราแล้ว หมวกตำแหน่งและเสื้อประจำตำแหน่งของเรามีค่าไม่เท่ากับกางเขนของพระเยซูคริสต์” เมื่อพูดจบแล้ว พระองค์ก็ลงนามในเอกสาร เจ้าผู้ครองแคว้นอีกพระองค์หนึ่งพูดขณะที่จับปากกาขึ้นมาว่า “หากเกียรติของพระเยซูคริสต์จอมเจ้านายของเราต้องการให้เราทำเช่นนี้ เราก็พร้อมแล้ว.....ที่จะทิ้งสมบัติและชีวิตไว้เบื้องหลัง” พระองค์ตรัสต่อว่า “เรายอมประกาศสละพลเมืองและรัฐการปกครองของเรา ยอมสละดินแดนที่มีธงของบรรพบุรุษของเราอยู่ในมือมากกว่าที่จะยอมรับหลักคำสอนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากคำสอนที่บรรจุในเอกสารแถลงการณ์ฉบับนี้” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 2 คนของพระเจ้ามีความเชื่อและความกล้าหาญเช่นนี้แหละ {GC 206.2}GCth17 170.2
เวลาที่กำหนดไว้เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิมาถึงแล้ว จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 ทรงขึ้นประทับบนบัลลังก์ มีอีเล็กเตอร์และเจ้าผู้ครองแคว้นมากมายล้อมโดยรอบและทรงให้เรียกนักปฏิรูปศาสนาชาวโปรเตสแตนต์ทั้งหลายเข้าเฝ้า มีการอ่านถ้อยแถลงความเชื่อ ในที่ชุมนุมอันงามสง่านั้น ความจริงของพระกิตติคุณเปล่งออกมาอย่างชัดเจนและเปิดโปงความผิดของคริสตจักรเปปาซีออกมาอย่างชัดเจน จะกล่าวได้ว่า “เป็นวันยิ่งใหญ่ที่สุดของงานปฏิรูปศาสนาและเป็นวันที่มีเกียรติที่สุดวันหนึ่งของประวัติศาสตร์ของคริสเตียนและของมนุษยชาติ” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 7 {GC 207.1}GCth17 171.1
เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปีนับตั้งแต่บาทหลวงแห่งเมืองวิตเทนเบิร์กยืนขึ้นอย่างโดดเดี่ยวที่เมืองวอร์มส์ต่อหน้าที่ประชุมสภาแห่งชาติ บัดนี้เจ้าผู้ครองแคว้นผู้ทรงเกียรติที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดของอาณาจักรหลายพระองค์ได้เข้ามาแทนที่ของเขา ลูเธอร์ได้รับคำสั่งห้ามปรากฏตัวที่เมืองออกซ์บูร์ก แต่เขาอยู่ที่นั่นโดยทางคำพูดและคำอธิษฐาน เขาเขียนบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าดีใจอย่างล้นพ้นที่มีชีวิตอยู่จนถึงชั่วโมงนี้เมื่อพระนามของพระคริสต์ได้รับการเชิดชูในสถานที่สาธารณะและในที่ชุมนุมอันทรงเกียรติโดยคณะผู้เชื่ออันสง่างามนี้” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 7 ข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “ข้าพระองค์จะกล่าวถึงพระโอวาทของพระองค์เฉพาะพระพักตร์บรรดาพระราชา” สดุดี 119:46 จึงสำเร็จด้วยประการฉะนี้” {GC 207.2}GCth17 171.2
ในสมัยของเปาโล พระกิตติคุณที่เป็นเหตุให้ท่านถูกคุมขังนั้นก็ถูกนำขึ้นสู่สายตาของเจ้าชายและขุนนางทั้งหลายของเมืองจักรพรรดิในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ในโอกาสนี้ สิ่งที่จักรพรรดิทรงประกาศห้ามเทศนาบนธรรมาสน์กลับถูกนำมาประกาศในพระราชวัง ถ้อยคำที่หลายคนถือว่าแม้แต่คนรับใช้ก็ไม่สมควรฟังนั้นได้ดังขึ้นเพื่อให้ขุนนางและเจ้านายของอาณาจักรได้ยินด้วยความประหลาดใจ พระราชาและบุคคลยิ่งใหญ่กลายเป็นเป็นผู้ฟังเสียเอง เจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมารหลายพระองค์กลายเป็นนักเทศน์และเรื่องที่เทศน์คือสัจธรรมของพระเจ้า มีนักเขียนคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า “ตั้งแต่สมัยของอัครทูต ยังไม่เคยมีงานที่ยิ่งใหญ่กว่าหรือการเป็นพยานความเชื่อที่ดีเลิศกว่าครั้งนี้” D’Aubigné เล่มที่ 14 บทที่ 7 {GC 208.1}GCth17 172.1
บิชอปองค์หนึ่งของพระสันตะปาปาเปิดเผยว่า “ ทุกสิ่งที่ชาวลูเธอร์เรนกล่าวมานั้นเป็นความจริง เราปฏิเสธไม่ได้” บิชอปอีกองค์ถามดร. เอค ว่า “ท่านจะใช้เหตุผลที่ดีกว่ามาลบล้างคำพยานความเชื่อของอิเล็กเตอร์และคณะของเขาทำไว้หรือไม่” คำตอบคือ “หากจะใช้งานเขียนของอัครทูตและของผู้เผยพระวจนะมาลบล้างแล้ว ไม่ได้เลย แต่เมื่อใช้ของพวกบาทหลวงและของสภาก็จะทำได้” ผู้ถามได้ตอบว่า “เราเข้าใจแล้วตามที่ท่านบอกมา นั่นคือว่าชาวลูเธอร์เรนอยู่ในพระคัมภีร์และพวกเราอยู่นอกพระคัมภีร์” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 8 {GC 208.2}GCth17 172.2
เจ้าผู้ครองแคว้นของประเทศเยอรมนีบางพระองค์ทรงหันกลับมาอยู่ฝ่ายการปฏิรูปความเชื่อ จักรพรรดิเองทรงเปิดเผยว่าเอกสารของชาวโปรเตสแตนต์ไม่เป็นอย่างอื่นนอกจากความจริง ถ้อยแถลงสารภาพความเชื่อนี้ถูกแปลเป็นหลายภาษาและกระจายไปทั่วยุโรปและเป็นที่ยอมรับของคนจำนวนนับล้านในยุคต่อๆ มาว่าเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของพวกเขา {GC 208.3}GCth17 172.3
ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว ในขณะที่เทพผู้ครอง ศักดิเทพ และวิญญาณชั่วในสถานฟ้าอากาศรวมกันต่อต้านพวกเขา พระเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งประชากรของพระองค์ หากตาของพวกเขาจะเปิดออก พวกเขาจะเห็นหลักฐานการทรงร่วมสถิตของพระเจ้าและการทรงช่วยอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกับที่ประทานให้ผู้เผยพระวจนะในโบราณกาล เมื่อคนรับใช้ของเอลีชาชี้ให้เขาดูกองทัพของศัตรูที่ล้อมพวกเขาและตัดโอกาสหนีทุกเส้นทาง ผู้เผยพระวจนะอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยาห์เวห์ ขอทรงเปิดตาของเขาเพื่อเขาจะได้เห็น” 2 พงศ์กษัตริย์ 6:17 และดูเถิด มีรถและม้าเพลิงอยู่เต็มทั่วภูเขา กองทัพของชาวสวรรค์ตั้งป้อมอยู่เพื่อปกป้องคนของพระเจ้า ในลักษณะเดียวกัน ทูตสวรรค์ยืนปกป้องล้อมรอบผู้รับใช้ทั้งหลายในขบวนการของการปฏิรูปศาสนา {GC 208.4}GCth17 172.4
มีหลักการหนึ่งที่ลูเธอร์ถือรักษาอย่างเหนียวแน่นที่สุดคือการไม่เข้าไปพึ่งอำนาจฝ่ายโลกให้มาสนับสนุนงานการปฏิรูปและไม่ขออาวุธเพื่อการปกป้อง เขาชื่นชมปรีดาที่เจ้าผู้ครองแคว้นของอาณาจักรหลายพระองค์ได้ทรงสารภาพตอบยอมรับพระกิตติคุณ แต่เมื่อพวกเขาเสนอที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการปกป้อง ลูเธอร์จะประกาศว่า “พระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่ควรเป็นผู้ปกป้องหลักคำสอนของพระกิตติคุณ.....หากมนุษย์ยุ่งกับเรื่องนี้ยิ่งน้อยเท่าไร การเข้าแทรกแซงเรื่องนี้ของพระเจ้าก็จะโดดเด่นมากขึ้นเท่านั้น ในทัศนะของเขาแล้ว คำเตือนภัยของฝ่ายการเมืองเกิดจากความกลัวที่ไร้คุณค่าและความไม่วางใจที่เต็มไปด้วยบาป” D’Aubigné, London ed. เล่มที่ 10 บทที่ 14 {GC 209.1}GCth17 173.1
เมื่อศัตรูทรงพลังทั้งหลายรวมตัวกันเพื่อล้มล้างความเชื่อของการปฏิรูปและดูประหนึ่งว่าดาบหลายพันเล่มกำลังจะชักออกจากฝักมาห้ำหั่นกันนั้น ลูเธอร์เขียนไว้ว่า “ซาตานกำลังพ่นความโกรธของมันออกมา พระสันตะปาปาผู้ไร้คุณธรรมทรงกำลังวางอุบายและพวกเรากำลังถูกคุกคามด้วยสงคราม จงชักชวนประชาชนมาต่อสู้อย่างกล้าหาญอยู่เบื้องพระบัลลังก์ของพระเจ้าด้วยความเชื่อและคำอธิษฐาน เพื่อว่าพระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงมีชัยต่อศัตรูของเราและทรงระงับพวกเขาด้วยวิธีสันติ สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด งานที่เราต้องทำมากที่สุดคือการอธิษฐาน จงบอกกับประชาชนว่าบัดนี้พวกเขากำลังเป็นเป้าของคมดาบและความโกรธแค้นของซาตานและจงบอกให้พวกเขาอธิษฐาน” D’Aubigné, London ed. เล่มที่ 10 บทที่ 14 {GC 209.2}GCth17 173.2
อีกครั้งหนึ่งในเวลาต่อมาเมื่อพูดถึงเรื่องการรวมตัวเป็นพันธมิตรที่ผู้ครองแคว้นผู้ฝักใฝ่การปฏิรูปศาสนาวางแผนที่จะตั้งขึ้น ลูเธอร์เปิดเผยว่าอาวุธเดียวที่จะใช้ในการต่อสู้นี้คือ “ดาบของพระวิญญาณ” เขาเขียนจดหมายถึงอิเล็กเตอร์แห่งแคว้นแซกโซนีว่า “ด้วยจิตสำนึกของเรา เราไม่อาจเห็นชอบกับการตั้งกลุ่มพันธมิตรที่เสนอขึ้นมา เรายอมตายสิบครั้งแทนที่จะเห็นพระกิตติคุณเป็นเหตุทำให้ต้องหลั่งเลือดเพียงหยดเดียว หน้าที่ส่วนของพวกเราต้องเป็นเหมือนลูกแกะที่กำลังถูกนำไปฆ่า เราต้องแบกกางเขนของพระคริสต์ ขอให้ท่านผู้สูงศักดิ์อย่าตกใจกลัว คำอธิษฐานของเราทำงานได้ผลมากกว่าคำคุยโอ้อวดของศัตรูของเรา เพียงแต่อย่าให้พระหัตถ์ของพระองค์เปื้อนเลือดของพี่น้องของพระองค์ หากจักรพรรดิทรงกำหนดมอบเราให้กับศาลตัดสินความ เราก็พร้อมที่จะไปปรากฏตัว พระองค์ไม่อาจทรงปกป้องความเชื่อของเราได้ แต่ละคนควรเชื่อด้วยความเสี่ยงภัยของเขาเอง” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 1 {GC 209.3}GCth17 173.3
จากสถานที่ลี้ลับของการอธิษฐาน พลังที่เขย่าโลกของขบวนการปฏิรูปศาสนาอันยิ่งใหญ่ก็ปรากฏขึ้น ณ ที่นั่น ผู้รับใช้ของพระเจ้าวางเท้าของพวกเขาลงบนศิลาแห่งคำมั่นสัญญาด้วยความสงบศักดิ์สิทธิ์ ในระหว่างการต่อสู้ที่ออกซ์บูร์ก ลูเธอร์ “ไม่ยอมให้สักวันหนึ่งผ่านไปโดยไม่อุทิศเวลาอย่างน้อยสามชั่วโมงให้กับการอธิษฐานและนั่นก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อการศึกษา” ในห้องส่วนตัวของเขา จะได้ยินเสียงของเขาที่พรั่งพรูทูลขอต่อพระเจ้าด้วยถ้อยคำ “ที่เปี่ยมด้วยการเทิดทูน ความยำเกรงและความหวัง เหมือนคนหนึ่งที่พูดกับมิตรสหาย” “ข้าพเจ้าทราบดีว่า พระองค์ทรงเป็นพระบิดาและพระเจ้าของเรา” เขาพูด “และพระองค์จะทรงขับไล่ผู้ที่กดขี่ข่มเหงเหล่าบุตรของพระองค์ไป เพราะพระองค์เองทรงได้รับภัยอันตรายร่วมกับพวกเรา เรื่องทั้งหมดนี้เป็นของพระองค์และเพราะการทรงควบคุมของพระองค์เท่านั้นที่เราทั้งหลายยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอพระองค์ทรงปกป้องพวกเราด้วยเถิด โอ พระบิดาเจ้าข้า” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 6 {GC 210.1}GCth17 174.1
เขาเขียนจดหมายถึงเมลังค์ธอนผู้กำลังถูกความเครียดและความกลัวทับถมว่า “พระคุณและสันติสุขในพระคริสต์ ข้าพเจ้าพูดว่าในพระคริสต์ไม่ใช่ในโลก อาเมน ข้าพเจ้าเกลียดและเกลียดอย่างถึงที่สุดเกลียดความกังวลสุดโต่งที่กำลังกัดกินท่านอยู่ หากอุดมการณ์นั้นไม่ยุติธรรม สลัดทิ้งไปเลย หากเป็นงานที่ชอบธรรม แล้วทำไมเราจึงต้องไม่ซื่อตรงกับคำสัญญาของพระองค์ที่ทรงบัญชาให้เรานอนหลับโดยปราศจากความกลัวเล่า....เราจะไม่ขาดพระคริสต์ในงานที่เกี่ยวกับความยุติธรรมและสัจธรรมเลย พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงครองราชย์อยู่ แล้วเรายังจะกลัวอะไรกันอีกเล่า” Ibid. เล่มที่ 14 บทที่ 6 {GC 210.2}GCth17 174.2
พระเจ้าทรงสดับคำทูลขอของผู้รับใช้ของพระองค์อย่างแน่นอน พระองค์ประทานพระคุณและความกล้าหาญให้แก่เจ้าผู้ครองแคว้นและผู้รับใช้ทั้งหลาย เพื่อเก็บรักษาสัจธรรมไว้ต่อสู้กับผู้กุมอำนาจแห่งความมืดของโลกนี้ พระเจ้าตรัสว่า “นี่แน่ะ เราวางศิลาก้อนหนึ่งลงในศิโยน เป็นศิลาหัวมุมที่เลือกสรรอันล้ำค่าและใครที่เชื่อในพระองค์ก็จะไม่ผิดหวัง” 1 เปโตร 2:6 นักปฏิรูปชาวโปรเตสแตนต์ได้ก่อขึ้นบนรากฐานของพระคริสต์และประตูแห่งนรกจะไม่มีทางเอาชนะพวกเขา {GC 210.3}GCth17 174.3